เบิกฟ้าศักราชใหม่ 2557 แท้จริง ‘ความสุข’ มนุษย์อยู่ที่ไหน ???
ก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ ปี 2557 เชื่อแน่ว่ากิจกรรมของคนไทยส่วนใหญ่คงพากันทำบุญตักบาตรและขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เพื่อหวังให้ชีวิตพบแต่ความสุข ความเจริญ เงินทองไหลมาเทมา แต่ผลบุญนั้นย่อมขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติตนของแต่ละคนที่จะนำไปสู่การแสวงหาความสุขด้วย
โดยพระมหานิพล ธีรภัทฺโท วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม ได้ชี้แนะแนวทางการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขหลังปีใหม่ ภายใต้การเสวนาหัวข้อ ‘ความสุขอยู่ที่นี่ จะมัวไปหากันที่ไหน’ ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพฯ)
พระมหานิพลฯ เริ่มต้นว่า เคยศึกษาและตั้งคำถามกับตนเองเหมือนกันว่า ชีวิตนี้เกิดมาเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ซึ่งเมื่อศึกษาคำสอนตามพระพุทธศาสนาแล้วจึงพบ “ชีวิตนี้เป็นทุกข์ การเกิดมานั้นเป็นทุกข์” ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า การเกิดมาบ่อย ๆ นั้นเป็นทุกข์ สรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดมาเป็นความทุกข์ เพราะฉะนั้นมนุษย์เกิดมามิได้มีความสุข แต่มีความทุกข์เลย ดังนั้นพุทธศาสนาจึงพยายามที่จะหาวิธีการดับทุกข์ เพื่อหวังพบกับความสุขที่เที่ยงแท้และยั่งยืน
“ตามประวัติศาสตร์สมัยก่อนพุทธกาลมีมนุษย์เฝ้าแสวงหาความสุขมาก่อนแล้ว ซึ่งการตามหาความสุขในยุคนั้นมาในรูปแบบของวัตถุนิยม (ไล่ล่าวัตถุ) เพื่อเสพบำเรอตนเอง หากแต่การแสวงหาความสุขอีกด้านหนึ่งก็คือ จิตใจ ทั้งในมิตินามธรรมและรูปธรรม โดยมักถูกนำมาตั้งเป็นข้อศึกษาในสำนักปรัชญาต่าง ๆ และยึดปฏิบัติตามกันมาว่าจะพบกับความสุข” พระมหานิพลฯ กล่าว และว่าครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นได้มีวิธีปฏิบัติที่ยึดโยงให้ชีวิตเป็นสุขได้ ด้วยการแสวงหาหนทางแห่งการดับทุกข์ ภายใต้ความเข้าใจตรงกันว่ามนุษย์เกิดมาย่อมเป็นทุกข์
พระมหานิพลฯ อธิบายต่อว่า ความสุขกับความทุกข์เป็นของคู่กัน เพราะได้ถูกเรียงร้อยอยู่บรรทัดเดียวกัน นั่นคือ ‘ถ้าทุกข์ลด สุขก็จะเพิ่ม’ และ ‘ถ้าทุกข์เพิ่ม สุขก็จะลด’ โดยชีวิตของมนุษย์เกิดมาย่อมมีความทุกข์อยู่แล้ว ซึ่งในมุมมองทางพุทธศาสนาจะทำให้ความสุขเกิดขึ้นได้ จะต้องขจัดทุกข์ออกไปทีละน้อย
ทั้งนี้ ความสุขที่จะเกิดขึ้นมี 2 อย่าง คือ ‘สุก’ หมายถึง สุขแบบชั่วครู่ชั่วคราว ไม่ยั่งยืน แล้วมีผลเผ็ดร้อน เพราะการใช้คำว่า ‘สุก’ เสมือนเกิดจากการเผา นึ่ง อบด้วยความร้อน ดังนั้นผลที่จะตามมาจึงร้อน
ส่วน ‘สุข’ หมายถึง สุขแบบเย็น เสมือนความสุขกายสุขใจ อันเกิดจากการปฏิบัติตนอย่างถูกทางนำไปสู่ความสุขเย็นได้ ดังเช่น บทกลอนของท่านพุทธทาสภิกขุที่ว่า...
ความสุข
ความเอ๋ย ความสุข ใคร ๆ ทุกคนชอบเจ้าเผ้าวิ่งหา
แกก็สุข ฉันก็สุข ทุกเวลา แต่ดูหน้า ตาแห้ง ยังแคลงใจ
ถ้าเราเผา ตัวตัณหา ก็น่าจะสุข ถ้ามันเผา เราก็สุก หรือเกรียมได้
เขาว่าสุข สุขเน้อ อย่างเห่อไป มันสุกเย็น หรือสุกไหม้ ให้แน่เอยฯ
สำหรับข้อสงสัยที่ว่ามนุษย์เกิดมามีความทุกข์นั้น พระมหานิพลฯ ชี้ให้เห็นว่า ตราบใดที่มนุษย์เกิดมาแล้ว จึงย่อมมีความทุกข์ แต่จำเป็นต้องรู้สาเหตุของการเกิดทุกข์ นั่นก็คือ ‘ตัณหา’ หรือความทะยานอยาก ในการหาสิ่งมาปรนเปรอหู จมูก ลิ้น กาย และใจ เพื่อหวังเกิดความดื่มด่ำอรรถรสด้านการเสพ
“พระพุทธเจ้าเคยเทศนาโปรดว่าสุดท้ายแล้วการปรนเปรอตัณหาเพื่อสนองความอยากนั้นไม่ใช่ความเที่ยงแท้สมบูรณ์ที่จะทำให้จิตใจได้ดื่มด่ำความสุขอย่างแท้จริง เพราะว่าความทุกข์ยังมีอยู่ แต่เรากลับปรนเปรอความทุกข์ให้มีมากขึ้น”
พระมหานิพลฯ กล่าวต่อว่า การจะเรียนรู้สิ่งใดนั้นจะต้องฟัง อ่าน และศึกษาก่อนลงมือปฏิบัติตามที่ได้พินิจพิเคราะห์แล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงต้องแยกความอยากให้ได้ว่า สิ่งไหนคือความอยากแท้หรืออยากเทียม ซึ่งสมัยที่อาตมายังเด็กนั้นก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าอะไรคือความอยากแท้อยากเทียม ถ้าไม่ได้อ่านหนังสือก็จะไม่รู้ จนสามารถจำแนกแยกแยะได้ว่าสิ่งใดเป็นความต้องการของตัณหาและสิ่งใดเป็นความต้องการของธรรมชาติมนุษย์
“ต้องมีการศึกษาและใช้การพิจารณาอย่างรอบคอบตามหลักพุทธธรรม เช่น จะซื้อเสื้อผ้า จำเป็นต้องพิจารณา ‘คุณค่าแท้’ และ ‘คุณค่าเทียม’ โดยคุณค่าเทียม คือ ความโก้เก๋ตามแฟชั่นสมัยนิยม ส่วนคุณค่าแท้นั้น คือ การปกป้องร่างกายจากความหนาว ความร้อน และความละอาย ถ้านอกเหนือจากนี้ก็จะเป็นลักษณะกลายและออกไปในทางเทียม” พระมหานิพลฯ เเนะ และว่าบางครั้งก็สงสัยว่าสิ่งที่กระทำกันมานั้นเพื่ออะไร เช่น เสื้อทำไมต้องมีลวดลายหรือวัสดุอื่น ๆ เข้ามาเสริม ซึ่งหากคำตอบสนองโจทย์ป้องกันความหนาว ความร้อน และความละอาย แสดงว่าการพิจารณาอย่างรอบคอบได้ทำงานแล้ว แต่มิใช่จะปฏิเสธสังคมโดยเหวี่ยงไปอีกด้านหนึ่ง โดยขาดการใช้สติปัญญาแบบใคร่ครวญ เรียกอีกอย่างว่า โมหะ
พระมหานิพลฯ ยังชี้อีกว่า ชีวิตจะพัฒนาไปหาความสุขได้นั้นจะต้องหันกลับมาแก้ไขสิ่งที่เป็นต้นเหตุของปัญหาที่ทำให้ชีวิตเป็นทุกข์ ต้องแก้ไขไปเรื่อย ๆ ชีวิตก็จะเริ่มมีความสุขไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน หมายความว่าเราสามารถหลุดพ้นจากพันธนาการของกิเลสได้มากขึ้นเท่าไหร่ ความสุขเพียงเล็กน้อยก็จะเปรียบได้กับความสุขที่มากในชีวิตขึ้นมาได้
มนุษย์มีความสุขน้อยลงเพราะเต็มไปด้วยความไม่เป็นอิสระทางกาย ใจ และปัญญา จึงต้องหาวิธีการทำอย่างไรให้ปัญญาได้ทำหน้าที่ของมันอย่างแท้จริง จิตใจได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยไม่ถูกเจือปนด้วยการควบคุมของอะไรบางอย่าง เพื่อก้าวไปสู่ชีวิตที่มีความสุขขึ้นได้
สำหรับปีใหม่นี้ขอแค่ทุกคนได้ตั้งเป้าจะพัฒนาชีวิตให้มีความสุขยิ่งขึ้น เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่เราจะมีความสุข
"ด้วยสุขในแบบฉบับของพระพุทธเจ้า คือ นั่งอยู่เฉย ๆ ก็มีความสุข ทำก็มีความสุข ไม่ทำก็มีความสุข เพราะจิตใจของเราได้เป็นอิสระอย่างเเท้จริง ซึ่งหากเป็นอิสระแล้ว ความสุขก็จะเข้ามาได้ง่าย แต่เมื่อจิตใจของคนเรามักไม่อิสระ มีพื้นที่เต็มไปหมด จึงไม่มีอย่างอื่นให้เข้าไปใส่ได้"
ดังนั้น จึงสุขยาก แต่ทุกข์ง่าย .