ลุยพิสูจน์บัญชีธนาคาร "สุเทพ" หลังถูก "ดีเอสไอ" ออกคำสั่งอายัด
"อิศรา" ลุยพิสูจน์คำสั่ง"ดีเอสไอ" หลัง "ธาริต" ร่อนหนังสือด่วนถึงธนาคารกว่า 30 แห่ง สั่งอายัดบัญชีเงินฝากแกนนำ กปปส.18 ราย พบบัญชีธนาคาร "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ตามที่แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินป.ป.ช. ยังสามารถโอนเงินได้ตามปกติ
กรณีนายธาริต เพ็งดิษฐ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่าได้ลงนามในหนังสือส่งไปถึงธนาคารที่แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จำนวน 18 ราย ดำเนินธุรกรรมทางการเงิน เพื่อแจ้งอายัดบัญชี เพื่อไม่ให้บัญชีเคลื่อนไหว โดยมีทั้งหมด 30 ธนาคาร ในช่วงเช้าวันที่ 19 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมานั้น
(อ่านประกอบ: “ธาริต” เผยเซ็นคำสั่ง 30 ธนาคาร อายัดบัญชี 18 แกนนำกปปส.แล้ว)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ล่าสุดในช่วงเวลาประมาณ 14.30 น. วันที่ 19 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา ได้ทดลองโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ตามข้อมูลที่แจ้งไว้ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2554 พบว่ายังสามารถโอนเงินเข้าได้ตามปกติ ยังไม่ถูกสั่งอายัดบัญชีแต่อย่างใด แต่มีบางบัญชีระบุว่าโมฆะไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบพบว่า ขั้นตอนการสั่งอายัดบัญชีโดยปกติ ภายหลังจากที่ธนาคารได้รับหนังสือสั่งอายัดบัญชีแล้ว เจ้าของบัญชีจะทำการเบิกถอนเงินไม่ได้ แต่ยังสามารถโอนเงินเข้าได้ตามปกติ
(ดูรูปภาพประกอบ)
(รายละเอียดบัญชีเงินฝากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ที่แจ้งไว้กับ ป.ป.ช.)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ ในช่วงเช้าวันที่ 19 ธันวาคม 2556 นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนในคดีพิเศษ กรณีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และพวกถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอันเกี่ยวเนื่องจากการชุมนุมฯ ได้มีหนังสือแจ้งธนาคารพาณิชย์ให้ทำการตรวจสอบบัญชีของแกนนำทั้ง 18 คน ว่ามีบัญชีประเภทใดบ้าง อยู่ที่สาขาใดบ้าง จำนวนเท่าใด แล้วจัดส่งสำเนาการเดินบัญชี หรือ Statement ย้อนหลังเป็นเวลา 6 เดือน ส่งให้ดีเอสไอ โดยด่วน พร้อมกันนี้ให้อายัดบัญชีเหล่านั้น ทุกบัญชี ซึ่งรวมถึงบัญชีครัวราชดำเนิน จำนวน 2 บัญชี ของธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาราชดำเนินด้วย ธนาคารทั้ง 30 แห่ง ประกอบด้วย
1.ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
2.ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน)
3.ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
4.ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
5.ธนาคาร เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)
6.ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
7.ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน)
8.ธนาคาร ทิสโก้ จำกัด (มหาชน)
9.ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
10.ธนาคาร ธนชาต จำกัด (มหาชน)
11.ธนาคาร ยูโอบี จำกัด (มหาชน)
12.ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)
13.ธนาคาร สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน)
14.ธนาคาร ไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน)
15.ธนาคาร ไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)
16.ธนาคาร เมกะ สากลพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
17.ธนาคาร เจพีมอร์แกน เชส
18.ธนาคาร ซิตี้แบงก์
19.ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
20.ธนาคาร ดอยซ์แบงก์
21.ธนาคาร เดอะรอยัลแบงก์อ๊อฟสกอตแลนด์ เอ็น.วี.
22.ธนาคาร บีเอ็นพี พารีบาส์
23.ธนาคาร มิซูโฮ จำกัด
24.ธนาคาร แห่งโตเกียว – มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ จำกัด
25.ธนาคาร แห่งประเทศจีน จำกัด
26.ธนาคาร แห่งอเมริกาเนชั่นแนลแอสโซซิเอชั่น
27.ธนาคาร อาร์ เอช บี จำกัด
28.ธนาคาร อินเดียนโอเวอร์ซีส์
29.ธนาคาร โอเวอร์ซี-ไชนีสแบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด
30.ธนาคาร ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด
นอกจากนี้ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังได้ลงนามออกหมายเรียกไปยังแกนนำทั้ง 17 คน ให้มารับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่ 26 และ 27 ธันวาคม 2556 โดยเจ้าหน้าที่ของดีเอสไอได้ดำเนินการส่งหมายให้มีผลตามกฎหมายแบบคู่ขนานทั้ง 2 วิธี คือ ให้ตำรวจที่ประจำโรงพักอันเป็นภูมิลำเนาของแกนนำไปส่งหมายเรียก และส่งหมายเรียกทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับอีกทางหนึ่งด้วย และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งกำหนดนัดหมายประชุมคณะพนักงานสอบสวน อันประกอบด้วย พนักงานสอบสวนของ บชน. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พนักงานสอบสวนของดีเอสไอ และพนักงานอัยการของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่มาร่วมเป็นคณะพนักงานสอบสวน ในวันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2556 เวลา 14.00 น. เพื่อร่วมกันพิจารณาการดำเนินคดี ซึ่งคาดว่าจะได้ร่วมกันพิจารณาพยาน หลักฐานแล้วมีมติให้ดำเนินคดีกับแกนนำเพิ่มเติม (แกนนำแถวที่สอง) อีกประมาณ 20 – 30 คน ด้วย โดยเฉพาะแกนนำที่ขึ้นอภิปรายในลักษณะผิดกฎหมาย แกนนำ ที่นำกลุ่มคนไปบุกยึดสถานที่ราชการต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว อดีตส.ส.เป็นต้น