"สุจิต บุญบงการ" กางทฤษฎีกระจายอำนาจ (ดับไฟใต้) ต้องทำควบคู่ "ท้องถิ่นเข้มแข็ง"
พูดกันเยอะ หาเสียงกันแยะ...สำหรับการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ เลือกตั้งผู้นำของคนพื้นที่เพื่อดับไฟใต้ แต่ในทางปฏิบัติจะง่ายเหมือนพูดหรือไม่ ลองไปฟัง ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ นักรัฐศาสตร์ชื่อก้อง และประธานสภาพัฒนาการเมือง อธิบายชัดๆ ถึงแนวทางการกระจายอำนาจเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวาน
วิสัยทัศน์ของ ศ.ดร.สุจิต ในเรื่องนี้ สรุปจากการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การกระจายอำนาจกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ในเวที “ไฟใต้ดับได้ด้วยการกระจายอำนาจ” เมื่อไม่นานมานี้ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งจัดโดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับเครือข่ายประชาชนพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สภาพัฒนาการเมือง และสถาบันอิศรา
“กระจายอำนาจ” คู่ “ท้องถิ่นเข้มแข็ง”
“มีคำถามว่าการกระจายอำนาจจะแก้ไขปัญหาของความขัดแย้ง ความรุนแรง และปัญหาในพื้นที่ตรงนี้ (ชายแดนภาคใต้) ได้มากน้อยเพียงไร ผมก็ได้ตั้งเป็นประเด็นขึ้นมาว่าถ้าเราต้องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคนี้ การกระจายอำนาจจะต้องเป็นไปโดยควบคู่กันกับการสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่น เพื่อที่ว่าการกระจายอำนาจและความเข้มแข็งของท้องถิ่นจะช่วยกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงให้ลุล่วงไปได้
ข้อดีของการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นนั้น จะทำให้การบริหารท้องถิ่นเป็นไปตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานการปกครองที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด นี่คือในทางทฤษฎี แต่ในความเป็นจริงเป็นอย่างไร พี่น้องประชาชนเป็นผู้รู้ดีที่สุดว่า อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) หรือ อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) ที่บ้านของเรา ใกล้ชิดกับเราจริงหรือไม่ ถ้าจริงก็ดีไป แต่ถ้าไม่จริงก็ต้องแก้ไขกัน เพราะในทางทฤษฎีแล้วต้องใกล้ชิด จะได้รู้ถึงความต้องการของพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นดีกว่ารัฐบาลกลาง ดีกว่ากระทรวง ทบวง กรม
นอกจากนั้น ข้อดีอีกประการหนึ่งของการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจก็คือ เป็นหน่วยงานที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ดังนั้นในเรื่องของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตามภูมิภาคและท้องถิ่นต่างๆ หากประชาชนในท้องถิ่นมีความต้องการที่จะดูแลแก้ไขมากขึ้น ในทางทฤษฎีของความขัดแย้งก็มีแนวโน้มลดลง จุดนี้ก็สามารถใช้ได้กับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะว่าพี่น้องประชาชนจะรู้ถึงความขัดแย้งดีว่าอยู่ที่ไหนและควรจะแก้ไขกันตรงไหน อย่างไร ฉะนั้นถ้าเรากระจายอำนาจและให้องค์กรที่ใกล้ชิดกับประชาชนมีอำนาจมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาเพื่อตอบสนองความต้องการให้กับประชาชนอย่างแท้จริง ก็จะเป็นประโยชน์กับท้องถิ่นเอง”
“ส่วนภูมิภาค” ต้องหนุน “ท้องถิ่น”
“โดยภาพรวมของการกระจายอำนาจที่เราทำมาตลอด 30-40 ปีมานี้ ต้องบอกว่ายังกระจายไม่มากเท่าที่ควร และมีปัญหาพอสมควร แต่การมีปัญหาที่ว่านี้ไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิกการกระจายอำนาจ เพียงแต่เราต้องพยายามแก้ปัญหาให้หมดไป โดยเฉพาะปัญหาในตัวองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง
ดังนั้นจึงมีข้อคิดว่า การกระจายอำนาจจะต้องทำควบคู่ไปกับการปรับปรุงการทำงานของหน่วยงานปกครองท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล มีความซื่อสัตย์ ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง การทำงานจะต้องมีความโปร่งใส และในขณะเดียวกันต้องตอบสนองความต้องการของบุคคลในพื้นที่และสามารถแก้ไขข้อขัดแย้งในพื้นที่ได้อย่างจริงจัง สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็โดยให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารมากขึ้น ให้ประชาชนมีส่วนเข้าไปแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นมากกว่าเดิม และมีส่วนในการพัฒนาท้องถิ่นตัวเองได้อย่างแท้จริง อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง
แต่ในขณะเดียวกันระบบการบริหารราชการบ้านเรามันไม่เหมือนคนอื่น เรามีสิ่งที่เรียกว่าการปกครองส่วนกลาง นั่นคือที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมหมดทุกพื้นที่ในประเทศไทย และมีการบริหารส่วนภูมิภาค เรามีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ควบคู่ไปกับการปกครองส่วนท้องถิ่น ก็คือการมีนายก อบจ. นายกเทศมนตรี นายก อบต.
ประเด็นก็คือเราจะทำให้งานระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นประสานประโยชน์กันได้อย่างไร ทำอย่างไรให้ท้องถิ่นได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ คือในขณะที่เรายังมีของเหล่านี้อยู่ สามารถใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ได้ไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชการส่วนภูมิภาคต้องมีความตระหนักว่าหน้าที่ของตนอันหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือส่งเสริมให้การกระจายอำนาจในท้องที่ได้ผลอย่างแท้จริง และสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น ผมใช้คำว่าสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น ไม่ใช่สร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน นี่คือสิ่งที่ภูมิภาคต้องทำ หากเราจะยังคงไว้ซึ่งส่วนภูมิภาค ไม่ใช่เป็นเพียงส่วนขยายของส่วนกลางแต่เพียงอย่างเดียว”
ต้องสร้างประชาธิปไตยระดับล่าง
“ดังนั้นถ้าจะให้การกระจายอำนาจสามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงได้ ไม่ว่าจะเป็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือที่อื่นๆ ผมคิดว่าการกระจายอำนาจต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาภาคประชาชนในท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง ผมถือว่าประชาชนในท้องถิ่นจะเป็นผู้ดูแลบริหารจัดการท้องถิ่นได้ดีที่สุด จะเป็นผู้ที่ดูแลว่าการบริหารจัดการท้องถิ่นทุจริตหรือไม่ ซื่อสัตย์หรือไม่ มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาหรือไม่ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้น ผู้บริหารท้องถิ่นสามารถแก้ไขจัดการให้มันเรียบร้อยได้หรือไม่ ประชาชนในท้องถิ่นเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ว่าทำไปแล้วมีประสิทธิภาพขนาดไหน
ผมถือว่าประชาชนมีสิทธิตรวจสอบได้ดีกว่าคนอื่น เพราะว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้ผลดีหรือไม่ดี แก้ปัญหาได้หรือไม่ได้ ความขัดแย้งมีมากขึ้นหรือลดน้อยลง ประชาชนเขารู้ดีเนื่องจากเขาอยู่ตรงนั้น และการปกครองส่วนท้องถิ่นจะดีหรือไม่ดีนั้นผลกระทบจะตกอยู่กับประชาชน และประชาชนจะเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่าการปกครองท้องถิ่นของเขาได้ผลมากน้อยเพียงไร ด้วยเหตุนี้ถ้าจะให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถดูแลตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองท้องถิ่นได้ดี เราก็ต้องพัฒนาให้ประชาชนในท้องถิ่นมีความเข้มแข็งด้วย
การให้ท้องถิ่นจัดการตนเองไม่ได้หมายความแต่เพียงว่าให้กระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองท้องถิ่นเท่านั้น แต่จะต้องรวมไปถึงว่าประชาชนเขาต้องจัดการตัวเขาเองได้ด้วย เขาต้องดูแลตัวเขาเองได้ด้วย และเขาจะต้องสามารถเข้าไปมีส่วนในการพัฒนาชุมชนของเขา มีส่วนที่จะบอกว่าชุมชนของเขาควรจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างไร และเขาควรจะได้รับบทบาทในการทำสิ่งเหล่านั้น
ดังนั้นในขณะที่เรารณรงค์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้นในการแก้ไขปัญหา ในส่วนของประชาชนเองก็ต้องมีความเข้มแข็งมากขึ้นในการเข้าไปช่วยแก้ปัญหา และดูว่าปัญหาที่แก้นั้นมันทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จมากน้อยเพียงไร การเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารท้องถิ่น มีส่วนแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นและวางแผนพัฒนาท้องถิ่น เราเรียกว่า ‘ประชาธิปไตยชุมชน’ หรือ ‘ประชาธิปไตยระดับล่าง’ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง”
ปลุกสำนึกพลเมือง-ลดระบบอุปถัมภ์
“สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือเราต้องสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองให้กับชาวบ้าน เราต้องลดระบบอุปถัมภ์ที่มีผู้มีอิทธิพล มีนักการเมืองเข้ามาตักตวงประโยชน์ และใช้ชาวบ้านเป็นเครื่องมือในทางการเมืองให้ได้ และถ้าพลเมืองมีความสำนึก ชาวบ้านมีความสำนึกในความเป็นพลเมือง เขาก็จะคิดว่าเขาเป็นเจ้าของชุมชน เพราะการช่วยตัวเองนั้นสำคัญที่สุด
ผมไม่อยากให้ อบต. อบจ. เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วทำตัวแบบ ส.ส. คือหายไป ไม่ค่อยได้มาดูแลชาวบ้าน ฉะนั้นชาวบ้านต้องช่วยตัวเอง มีความสำนึกในการเป็นเจ้าของชุมชน มีความสำนึกในความเป็นพลเมือง ถ้าความสำนึกเกิดขึ้นได้ ผมว่าสิ่งนี้จะทำให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นจังหวัด จะต้องลงมาหาชาวบ้าน เพราะว่าสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้ และการกระจายอำนาจจะเกิดผลอย่างแท้จริง
ผมคิดว่าชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่น่าจะสิ้นหวัง ผมได้มีโอกาสลงไปในบางหมู่บ้าน ชาวบ้านเข้มแข็งมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายสตรี ผมชื่นชมเลย เพราะเขาทำทุกอย่างในหมู่บ้าน ทำหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงิน การศึกษา การดูแลพื้นที่ เขาเก่งมากๆ ผมคิดว่าในชุมชนค่อนข้างมีหวังเพราะสตรีมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวของสตรีเอง
สรุปก็คือถ้าเราสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเองได้ เมื่อการกระจายอำนาจเกิดขึ้น เราก็สามารถแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นได้ในที่สุด”