5 องค์กรสื่อเล็งหาจุดยืนทางเลือกปฏิรูป-เลือกตั้ง
5 องค์กรสื่อถกวางท่าทีสถานการณ์การเมือง ปฏิรูป-เลือกตั้ง ย้ำสื่อต้องกล้ามีจุดยืนบนความรอบด้าน มองเป็นโอกาสประเทศก้าวข้ามประชาธิปไตยแบบตัวแทนสู่แบบมีส่วนร่วม
วันพุธที่ 18 ธันวาคม 2556 5 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ เรื่อง "สถานการณ์การเมืองและการปฏิรูปประเทศไทย" ณ ห้องอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ ถนนสามเสน โดยมีบรรณาธิการสื่อ 10 สกว่าำนักเข้าร่วมหารือ รับฟังความคิดเห็นจากบรรณาธิการสื่อต่างๆ ว่าองค์กรวิชาชีพควรจะมีจุดยืนหรือท่าทีต่อสถานการณ์ของประเทศอย่างไร
นายเทพชัย หย่อง กรรมการบริหารเครือเนชั่น กล่าวว่า หากมองสถานการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วยสายตาของสื่อ ต้องมองด้วยความเข้าใจสถานการณ์อย่างรอบด้านที่สุด จากเหตุการณ์ 2-3 เดือนที่ผ่านมา สื่อมวลชนมีข้อมูลมากพอสมควร ซึ่งเป็นความท้าทายว่าจะนำความเข้าใจที่รอบด้านไปสื่อสารให้คนในสังคมเข้าใจอย่างไร ทั้งนี้ สื่อกระแสหลักจะต้องพิสูจน์ตัวเองที่จะกลับมามีบทบาทและมีความหมายต่อสังคม
"เรื่องปฏิรูปชัดเจนว่าสื่อต้องเข้าไปมีบทบาท สังคมก็คาดหวังว่าสื่อควรจะมีความเห็นและจุดยืนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ก.พ. นี้อย่างไร ถามตัวเองว่าเลือกตั้งถ้ามีจริงควรเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าตอบตัวเองได้จะเป็นประโยชน์ก็ทำต่อไป แต่หากไม่ดีควรจะมีแนวทางอื่นที่จะส่งผลดีต่อประเทศชาติกว่านี้หรือไม่ จุดยืนของสื่อควรยึดหลักนี้"
ด้านนายสุนทร ทาซ้าย บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กล่าวว่า สื่อมวลชนต้องยืนหยัดปฏิบัติหน้าที่ รักษาความจริง ยึดมั่นในการเสนอความจริง บนพื้นฐานความจริง ไม่ต้องกลัวที่จะทำหน้าที่เปิดเผยความจริงให้ปรากฏ หรือรักใคร่ใครเกินไปจนเป็นขี้ข้า หรือที่เรียกว่าสื่อทาส
"สำหรับเรื่องการปฏิรูป ที่ขณะนี้ใครๆ ก็พูดถึง มองว่าไม่ได้ทำได้ง่ายๆ การปฏิรูปประชาธิปไตยทำมายาวนานกว่า 10 ปี ก็ได้เท่านี้ เป็นประชาธิปไตยแบบไทย ดังนั้น การปฏิรูปที่ใครๆ บอกว่าจะทำให้ได้ภายใน 1 ปีนั้นคงไม่สามารถทำได้ เพราะแค่ภายในพรรคการเมืองยังไม่สามารถปฏิรูปได้เลย"
ขณะที่นายภัทระ คำพิทักษ์ บรรณาธิการบริหาร นสพ.โพสต์ทูเดย์ กล่าวว่า ในฐานะองค์กรสื่อ ความคาดหวังของสังคม ท่ามกลางที่ข่าวสารที่มีมากขณะนี้ สังคมต้องการฟังว่าองค์กรสื่อทั้งหมดจะมีความเห็นและจุดยืนอย่างไร เพื่อให้สังคมจะเข้าใจสถานการณ์ ความเป็นจริงมากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพราะก่อนหน้านี้องค์กรโดยปัจเจกได้ออกแถลงการณ์ไปแล้ว
"นิยามคำว่าปฏิรูปจะเป็นอะไรก็ตาม แต่ที่ชัดเจนคือปัญหาสังคมตอนนี้มีมากจนการเลือกตั้งไม่น่าจะตอบปัญหา เห็นว่าควรจะปฏิรูปทันที แต่เรื่องอะไรบ้างก็เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป รวมถึงขอสนับสนุนการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และไม่ได้ปฏิเสธการเลือกตั้ง หากมีความจริงใจที่จะเลือกตั้งจริงก็มีช่องทางทางกฎหมายที่สามารถเลื่อนได้ เพราะสังคมมีความจำเป็นต้องปฏิรูป"
ด้านนายสำราญ ฉัตรโท รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กล่าวว่า วิชาชีพสื่อมวลชน ควรจะใช้พื้นฐานความเป็นกลาง วางบทบาทความเป็นวิชาชีพในสถานการณ์วิกฤตินี้ หน้าที่คนเสนอข่าว ควรจะวางบทบาทความเป็นกลางที่จะนำพาประเทศพ้นวิกฤตินี้ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่สาขาวิชาชีพต่างๆ ออกมาแสดงความเห็นมุ่งทางเดียวกัน คือ การปฏิรูป ไม่ว่าจะก่อน-พร้อมหรือหลังการเลือกตั้ง
"ส่วนตัวมองว่าปฏิรูปเป็นแค่คำตอบในระยะต้น เพื่อหาทางออก แต่วิกฤตินี้มองแง่ดีเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่กำลังก้าวข้ามความเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนไปสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่จะเชิดหน้าชูตาให้เท่าอารยะประเทศได้ ดังนั้น ถ้าพูดถึงการพัฒนาประชาธิปไตย คือจะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่มากกว่าการปฏิรูปเพียงอย่างเดียว ไม่อย่างนั้นจะไม่หลุดพ้นความต้องการของนักการเมือง"