จากน้องวันใหม่ ซูไฮมี ถึง...มูซา วอนหยุดก่อเหตุรุนแรงที่มีเด็กเป็นเหยื่อ
เหตุร้ายที่เกิดกับ ด.ช.มูซา สะมะแอ วัยแค่ 2 ขวบ ซึ่งตกเป็นเหยื่อกระสุนที่คนร้ายยิงบิดาจนเสียชีวิตในพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และหนูน้อยโดนลูกหลงจนได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น เป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในแง่ของหน่วยงานภาครัฐว่าไม่มีความจริงจังในการดูแลเด็กที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ขณะที่อีกด้านก็มีการต่อว่าต่อขานผู้กระทำ ทั้งที่เชื่อและไม่เชื่อว่าเป็นน้ำมือของกลุ่มก่อความไม่สงบ
จากการสอบถามความเห็นของกลุ่มผู้หญิงในชุมชน ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กนั้น มีทั้งเรื่องส่วนตัว ยาเสพติด คือตั้งใจก่อเหตุกับคนที่เด็กอยู่ด้วย แต่เด็กถูกลูกหลง และแน่นอนย่อมหนีไม่พ้นการสร้างสถานกาณ์ของกลุ่มก่อความไม่สงบเองในบางเหตุการณ์ ถือเป็นการกระทำที่น่าอนาถใจ เพราะเด็กต้องเข้ามารับผลจากความรุนแรงทั้งๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเลย
"ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของขบวนการ หรือมือที่สาม มือที่สี่ที่พยายามสร้างสถานการณ์ แต่เมื่อเด็กเป็นฝ่ายโดนลูกหลงก็รู้สึกเสียใจ เศร้าใจ จริงๆ แล้วไม่อยากให้เกิดการฆ่ากัน ไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ หรือคนแก่ก็ตาม" กลุ่มผู้หญิงในชุมชนชายแดนใต้ ระบุ
คนใกล้ชิดขบวนการเชื่อไม่ใช่น้ำมือ "จูแว"
ขณะที่ นางฮาบีบะ (สงวนนามสกุล) ซึ่งมีสมาชิกในครอบครัวร่วมอยู่ในขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน กล่าวว่ารู้สึกตกใจทุกครั้งที่เด็กถูกยิงหรือถูกสะเก็ดระเบิด เพราะนางเองก็มีลูก
"บางครั้งเด็กที่โดนก็อยู่ในวัยเดียวกันกับลูกของก๊ะ แต่ก็เชื่ออย่างสนิทใจว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของกลุ่มที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ หรือที่เรียกกันว่ากลุ่มจูแว เพียงแต่บางครั้งเป็นเหตุการณ์ที่เลี่ยงไม่ได้ ทำให้เด็กโดนไปด้วย เช่น เด็กถูกสะเก็ดระเบิด เหตุพวกนี้ไม่ได้ต้องการให้โดนเด็กหรือครู แต่บังเอิญว่าครูและเด็กไปอยู่แถวนั้นขณะเกิดเหตุ ก็อยากขอให้ทุกคนอยู่ห่างเจ้าหน้าที่ให้มากๆ"
"อีกอย่างที่อาจทำให้เด็กมีโอกาสตกเป็นเหยื่อ คือเจ้าหน้าที่ไปอยู่ใกล้ๆ เด็ก จะทำให้เด็กเป็นอันตราย เพราะแนวทางของจูแว คู่ต่อสู้ของเขาคือเจ้าหน้าที่ เมื่อใครอยู่ใกล้ก็มีโอกาสโดนหมด แต่ถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดจากเรื่องอื่น เช่น ยาเสพติด หรือล้างแค้นส่วนตัว แล้วไปโดนเด็ก อย่างนี้เกินไป รับไม่ได้ อยากให้คนที่จะทำร้ายใครหรือมีเรื่องกับใคร จะทำอะไรก็ขอให้ละเว้นเด็กด้วย"
อ้างเป็นเรื่องสงคราม...ต้องทำใจ
นายอัสฟาน (สงวนนามสกุล) เยาวชนจาก จ.ปัตตานี กล่าวว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ช่วง 2-3 ปีหลัง หลายครั้งพลาดไปโดนชาวบ้าน เด็ก คนแก่ ผู้หญิง และผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องต้องได้รับผลกระทบทางร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหตุระเบิดและเหตุยิง อาจเป็นเพราะเด็กคนนั้นอยู่ด้วยกันกับเป้าหมายที่คนก่อเหตุต้องการทำให้เจ็บหรือตาย แต่มั่นใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากกลุ่มขบวนการ เพราะพวกนี้มีอุดมการณ์มากพอ
"เรื่องแบบนี้เกิดจากเรื่องส่วนตัวก็เยอะ เกิดจากเรื่องอิทธิพล การเมือง หลายเรื่องมั่วหมด ส่วนเหตุที่ก่อโดยกลุ่มขบวนการแล้วมีเด็ก ผู้หญิง หรือผู้ไม่เกี่ยวข้องโดนไปด้วยนั้น เชื่อว่าคนที่ก่อเหตุไม่ได้ตั้งใจ แต่เด็กอาจไปอยู่ในจุดที่เหตุกำลังเกิดพอดี คนที่จะก่อเหตุยับยั้งไม่ทัน ถือว่าเคราะห์ร้ายที่ไปอยู่ใกล้เป้าหมายที่เขาล็อคเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ"
"หลายครั้งก็เคยคุยกับเพื่อนๆ (ที่อ้างว่ามีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน) กับเรื่องที่เกิดขึ้น หลายคนให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องสงคราม ถือเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นได้ ต้องทำใจ ภาวะสงครามแบบนี้ต้องยอมรับให้ได้ พวกเขาให้เหตุผลกัน แต่ในความรู้สึกของผมเห็นว่าไม่น่าเกิดขึ้นเลย โดยเฉพาะกรณีน้องสองขวบที่ถูกยิงกับพ่อของเขา แต่พอสาเหตุไม่ได้เกิดจากฝ่ายที่มีอุดมการณ์ ก็ไม่สามารถไปว่ากล่าวอะไรเขาได้ ก็ขอภาวนาอย่าให้มีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกเลย" อัสฟาน กล่าว
นักจิตอาสาลั่นต้องประณามทุกกรณี
ด้าน นางวดี โชคสมบูรณ์ นักจิตอาสาจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เรื่องที่เด็กได้รับผลกระทบจากความรุนแรงนั้น รู้สึกรับไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุอะไรก็ตาม เพราะถึงอย่างไรเด็กคือเด็ก เด็กไม่เคยรู้เรื่องอะไรกับปัญหาของผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ และเด็กก็ไม่เคยมีศัตรู จึงไม่สมควรตกอยู่ในวังวนของความรุนแรง
"เหตุการณ์ที่เด็กถูกกระทำยิ่งนับวันทุกคนจะมองเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะฝ่ายขบวนการที่มักมองว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องยอมรับ แต่หากเรามองกลับกัน การที่เด็กคนหนึ่งเป็นลูกที่พ่อหรือแม่ทำงานให้กับหน่วยงานของรัฐ หรือเด็กที่มีพ่อแม่ร่วมอยู่ในขบวนการ ถามว่าเด็กเหล่านั้นสมควรจะถูกกระทำหรือไม่ หรือเด็กสมควรถูกยิงไปพร้อมๆ กับพ่อของเขาด้วย ถามว่าเด็กสมควรโดนจริงหรือ ไม่มีทางออกอื่นแล้วใช่ไหมจึงต้องมาลงกับเด็ก"
"ไม่ว่าเหตุการณ์จะเกิดกับเด็กที่มีพ่อแม่อยู่กลุ่มไหน (เจ้าหน้าที่รัฐ หรือฝ่ายขบวนการ) ก็เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ยอมกันไม่ได้ ทุกคนควรออกมาประณาม ไม่ว่าคนที่กระทำจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะกลุ่มขบวนการ ถ้ามีอุดมการณ์จริงๆ ก็สมควรละเว้นเด็ก ทุกครั้งที่มีเหตุเกิดขึ้นกับเด็กควรนึกถึงลูกของเรา เชื่อว่าทุกคนก็รักลูกของตัวเอง ลูกใครใครก็รัก อย่าคิดทำร้ายเด็กอีกเลย ถ้าหากเสียงนี้สามารถส่งไปถึงคนที่เคยทำร้ายเด็ก หรือกำลังคิดวางแผนกระทำการในเหตุการณ์ที่มีเด็กเกี่ยวข้องด้วยก็ขอให้ยุติ หรือขอให้เขาสำนึกผิดด้วยเถิด อยากบอกว่าคนเราทำอะไรไว้ สิ่งนั้นย่อมย้อนกลับมาหาตัวเอง ไม่ช้าก็เร็ว"
"อังคณา"แนะงดพาเด็กเข้าพื้นที่เสี่ยง
นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ซึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและจังหวัดชายแดนภาคใตเ กล่าวว่า หนูน้อยมูซาเป็นเหยื่อความรุนแรงอีกรายหนึ่งที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อมายาวนานกว่า 10 ปี โดยหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ดูแลเด็กในพื้นที่ ได้แก่ 1.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 2.กระทรวงยุติธรรม และ 3.กระทรวงสาธารณสุข
ในส่วนของกระทรวงยุติธรรมจะรับหน้าที่ดูแลเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเข้าร่วมขบวนการก่อความไม่สงบ เพราะเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีมักถูกล่อลวงให้เข้าร่วมขบวนการได้ง่าย ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเด็กที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุรุนแรงโดยตรง แต่การทำงานส่วนใหญ่เลือกเยียวยาทางกายภาพเท่านั้น แต่ทางจิตใจไม่มีหน่วยงานไหนรับผิดชอบ
ด้านกระทรวง พม. ทุกปีจะมีการทำรายงานเสนอคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ปัจจุบัน คือ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ) เรื่องการฟื้นฟูเด็กหลังได้รับผลกระทบจากความรุนแรง โดยได้ส่งรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาด้วย แต่ส่วนใหญ่เน้นเรื่องเงินค่าตอบแทน สวัสดิการที่ควรได้รับ การรักษาทางกายภาพ และมาตรการลดความรุนแรง
ทั้งนี้ สิ่งที่อยากให้ภาครัฐลงมาช่วยเหลืออย่างจริงจังนอกจากที่กล่าวมา คือ การให้ความสำคัญกับเยาวชนมากขึ้น อย่างเช่นการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น บนโต๊ะพูดคุยที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย กลับไม่มีการหยิบยกหรือพูดถึงประเด็นการคุ้มครองสิทธิเด็กเลย ตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข รวมทั้งอยากให้มีการรณรงค์งดใช้ความรุนแรงต่อเด็กทั้งทางตรงและทางอ้อม ขอความร่วมมือผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ปกครอง งดพาเด็กเข้าพื้นที่เสี่ยง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นจริงๆ เพราะหากเกิดความสูญเสียย่อมไม่มีใครรับผิดชอบไหว
ย้อนอดีตเด็กน้อยเหยื่อความรุนแรง
สำหรับเหตุร้ายที่เกิดกับเด็กหรือเด็กได้รับผลกระทบโดยตรง ที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น เหตุคนร้ายลอบยิง นายศุภชัย ช่วยเสน และ นางศิริขวัญ แสงทอง สองสามีภรรยา ในพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อค่ำวันที่ 8 ต.ค.2555 ทำให้เสียชีวิตทั้งคู่ ส่งผลให้ "น้องวันใหม่" หรือ ด.ญ.ศิรภัสสร ช่วยเสน วัยเพียง 2 เดือนต้องกลายเป็นกำพร้า ช่วงหลังเกิดเหตุถูกส่งไปฝากเลี้ยงที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดปัตตานี เพราะไม่มีใครดูแล
อีกกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้วแต่ผลพวงยังปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน คือ น้องซูไฮมี ดอเลาะ ถูกสะเก็ดระเบิดมอเตอร์ไซค์บอมบ์ ที่บ้านตะบิงตีงี ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2551 จนกลายเป็นอัมพาตตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา พ่อของซูไฮมีต้องทำงานหนักเพื่อหาซื้อเครื่องช่วยหายใจราคาเครื่องละ 5 หมื่นบาทมาต่อชีวิตลูก
ส่วนเหตุลอบวางระเบิดในโรงเรียนก็เกิดขึ้นหลายครั้งในระยะหลัง แม้เป้าหมายของผู้ก่อเหตุต้องการโจมตีเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองครูและโรงเรียน แต่หลายกรณีก็ทำให้เด็กๆ ต้องได้รับบาดเจ็บไปด้วย เช่น เหตุระเบิดในโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง 2 อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2556 ทำให้ทหารเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 1 นาย และยังมี ด.ช.อัษฎาวุฒิ บุญเทียน อายุ 13 ปี นักเรียนชั้น ม.2/2 โดนสะเก็ดระเบิดด้วย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2556 คนร้ายไม่ทราบจำนวนลอบจุดชนวนระเบิดดักสังหารทหารพรานชุดรักษาความปลอดภัยครูและโรงเรียนชุมชนบ้านละหารมิตรภาพที่ 113 ตั้งอยู่หมู่ 3 ต.ละหาร อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ทำให้มีกำลังพลได้รับบาดเจ็บหลายนาย แม้ครั้งนี้ไม่มีเด็กโดนลูกหลง แต่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่คนร้ายก่อเหตุในโรงเรียน
ย้อนหลังกลับไปไม่นาน เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2556 คนร้ายลอบวางระเบิดรถจ่ายตลาดของทหารพราน สังกัดกรมทหารพรานที่ 41 บนถนนสายยะลา-โต๊ะปาแกะ บริเวณเยื้องโรงน้ำแข็ง ทางไปบ้านสวนส้ม หมู่ 7 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา ทำให้มีกำลังพลได้รับบาดเจ็บ และมีชาวบ้านพร้อมเด็กๆ โดนลูกหลง คือ ด.ญ.มูรนี กาซอ อายุ 9 ปี และ ด.ช.มุสลิม กาซอ อายุ 3 ปี
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เด็กๆ ชายแดนใต้ทุกเพศ ทุกวัย อาจตกอยู่ในอันตราย เป็นเหยื่อความรุนแรงได้ทุกนาทีแม้แต่ในโรงเรียน (ภาพโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร)
อ่านประกอบ :
1 "น้องวันใหม่"หลังผ่านวันร้าย...กำพร้าในวัย 2 เดือน
http://bit.ly/1fBeNZh
2 มะตอเฮ ดอเลาะ...หยาดเหงื่อของพ่อต่อลมหายใจของลูก
http://bit.ly/1dJH2mr
3 แง้มหัวใจช้ำ "อังคณา วาเตะ" นับวันรอลูกน้อยเหยื่อระเบิดกลับคืนอ้อมอก
http://wbns.oas.psu.ac.th/shownews.php?news_id=69475