4 องค์กร มองโครงการ 2 ล้านล้านมรดกหนี้แห่งชาติ ไม่เพิ่มจีดีพีประเทศ
นักวิชาการ มอง 2 ล้านล้าน ไม่ช่วยเพิ่มจีดีพีประเทศ ชี้ขาดการศึกษาอย่างรอบคอบ ไม่ชัดเจนในการใช้-คืนเงิน 'ประมนต์' แนะทบทวนโครงการอีกครั้ง ยันองค์กรต้านคอร์รัปชั่นตรวจสอบต่อเนื่องแม้ยุบสภาแล้ว
วันที่ 17 ธันวาคม 2556 คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (แห่งประเทศไทย) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จัดงานเสวนา หัวข้อ "หยุด 2 ล้านล้าน มรดกหนี้แห่งชาติ" โดยมี นายพิสิฐ ลี้อาธรรม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ และนายไกร ตั้งสง่า อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ร่วมเสวนา
นายพิสิฐ กล่าวว่า โครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เป็นแนวคิดที่ดีในการพัฒนาระบบขนส่ง แต่เนื่องจากยังมีปัญหาทางวิธีการและการบริหารจัดการ เพราะเป็นการลงทุนที่ขาดรายละเอียดและการศึกษาวิเคราะห์โครงการ ที่สำคัญอาจขัดรัฐธรรมนูญ เป็นไปได้ว่าโครงการที่ให้จ่ายค่าที่ปรึกษาจำนวนไม่น้อย น่าเป็นห่วงว่าอาจจะมีการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องหรือไม่
"ในด้านกฎหมาย เห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 169 จากการที่โครงการไม่ระบุรายละเอียด แต่กลับกู้วงเงิน การลงทุนครั้งนี้ ตามหลักการควรผ่านการศึกษาของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยกำหนดลงในแผนพัฒนาฯ แทนการออก พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ที่สำคัญการออกกฎหมายกู้วงเงินอาจต้องใช้เวลาชะหนี้ถึง 50 ปี ปีละกว่า 4.4 หมื่นล้านบาท ถ้าคิดดอกเบี้ย 5% จะมีค่าใช้จ่าย 1.1 แสนล้านบาท เป็นภาระงบประมาณปีละ 1.54 แสนล้านบาท ซึ่งจะกระทบภาระงบประมาณสูงขึ้น"
นายพิสิฐ กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังไม่มีรายละเอียดของการใช้เงิน และแนวทางการใช้คืน ว่าจะใช้เงินภาษีอากรหรือภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะการลงทุนใหญ่ๆ ในหลายประเทศมีการเก็บภาษีเพิ่ม ขณะที่ไทยเก็บภาษีเพียง 20% ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นับว่าต่ำกว่ามาตรฐาน ฉะนั้น รัฐบาลควรบอกให้ชัดเจนว่าหนี้จะเพิ่มเท่าไหร่
"การลงทุนระยะยาว อาจทำให้โอกาสการดำเนินงานของโครงการอื่นๆ ที่เกิดจากรัฐชะลอลงได้ และนำไปสู่การขาดทุนในอนาคต ซึ่งท้ายที่สุดอาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอย่างที่คาดการณ์ไว้"
ขณะที่นายประมนต์ กล่าวว่า เห็นด้วยว่าโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 2 ล้านล้านบาทนั้นเป็นโครงการที่มีความจำเป็นต่อประเทศ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลขาดการให้เอกชนและผู้มีความรู้ เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบขั้นตอน และความโปร่งใส แม้จะมีข้อเสนอให้รัฐบาลออกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ประชาชนเข้ามีไปมีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าวแล้วก็ตาม
"องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ จะยังตรวจสอบการประมูล การทำรถไฟฟ้าความเร็วสูงและโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยศึกษาขั้นตอนการตรวจสอบจากต่างประเทศ ที่ต้องให้ผู้แทนจากภาคเอกชน หรือบุคคลกลางที่ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายใดมาร่วมตรวจสอบและแสดงความเห็น ทั้งนี้จะเชิญองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นจากต่างชาติเข้ามาร่วมด้วย" นายประมนต์ กล่าว และว่า จากการประกาศยุบสภาของนายกรัฐมนตรีอาจทำให้การดำเนินการมีอุปสรรค และควรต้องกลับมาทบทวนโครงการอีกครั้งหนึ่ง และทางองค์กรฯ ยังจะเดินหน้าตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง
ด้านน.ส.รสนา กล่าวว่า หากโครงการดังกล่าวผ่าน และสามารถดำเนินการได้ จะส่งผลต่อหนี้สาธารณะของประเทศ ที่ขณะนี้มีอยู่แล้วถึง 5.3 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 46% ของจีดีพี และหากต้องมีการกู้เงิน เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวถึง 2 ล้านล้านบาทนั้น จะส่งผลต่อหนี้สาธารณะของประเทศ รวมถึงฐานะทางการคลังของประเทศในอนาคตอีกด้วย
ขณะที่นายไกร มองว่าโครงการดังกล่าว ยังยังมีความไม่ชัดเจนในหลายด้าน เช่น การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความคุ้มทุน ต้นทุนหรือราคาที่จะสามารถแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำได้ รวมถึงความจำเป็นที่ไทยต้องมีรถไฟความเร็วสูง ทั้งนี้ เห็นว่าระบบรถไฟรางคู่ที่มีอยู่เดิมสามารถพัฒนาต่อยอดได้ โดยพัฒนารถไฟรางเดี่ยวที่มีอยู่แล้ว 4,000 กม.ก่อน เพราะสามารถใช้ขนส่งทั้งขนคนและขนผักได้ และมีราคาถูก ซึ่งความไม่ชัดเจนดังกล่าวนี้ไม่มั่นใจว่าโครงการลงทุนดังกล่าวจะช่วยการขยายตัวของจีดีพีได้จริงหรือไม่
ภาพประกอบจาก thaipbs.or.th