พบเด็กข้ามชาติมี ‘สถานะบุคคล’ เพียง 1%-จี้รบ.คลอดกม.เอื้ออาศัยในไทยถูกต้อง
เปิดสถานการณ์เด่นวันแรงงานข้ามชาติสากลระบุเด็กผ่านการพิสูจน์สถานะบุคคลเพียง 1% จากทั้งหมด 3 แสนคน หวั่นละเลยอาจตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์หลังพบพม่ามากสุด 159 คน จี้รัฐบาลคลอดกม.ช่วยอาศัยในไทยอย่างถูกต้อง
วันที่ 17 ธันวาคม 2556 เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) จัดแถลงข่าววันแรงงานข้ามชาติสากล ‘สถานการณ์เด่นเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ในพ.ศ.2556’ ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สืบเนื่องจากองค์การสหประชาชาติได้มีการรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและสากล 1991 และได้กำหนดให้วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันแรงงานข้ามชาติสากล เพื่อเป็นการรณรงค์ถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามที่เป็นบุคคลในครอบครัวที่ทำงานและย้ายถิ่นทั่วโลกให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน
น.ส.วรางคณา มุทุมล ผู้ประสานงาน องค์การช่วยเหลือเด็กประจำประเทศไทย (Save the Children) กล่าวถึงสถานการณ์เด็กข้ามชาติในประเทศไทยว่า มีความน่าเป็นห่วงหลายประเด็น โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับ ‘สถานะบุคคล’ นั่นหมายถึง เอกสารรับรองตัวบุคคลที่ขาดความชัดเจน ซึ่งรัฐบาลไทยพยายามหลบเลี่ยงมาตลอดว่าสุดท้ายต้องการเพียงแรงงานข้ามชาติที่เป็นพ่อแม่เท่านั้น มิได้รวมถึงตัวเด็ก
ทั้งนี้ จากสถิติของเด็กที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติพร้อมพ่อแม่และได้เอกสารรับรองตัวบุคคล ล่าสุด เมื่อกรกฎาคม 2556 มีจำนวน 3,353 คน คิดเป็นร้อยละ 1 จากจำนวนเด็กข้ามชาติในไทยทั้งสิ้น 2.5-3 แสนคน
ผู้ประสานงานฯ กล่าวถึงผลเสียที่จะตามมาหากเด็กไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคล คือ จะถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และเด็กข้ามชาติหลายคนที่ถูกจับส่งตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เพื่อผลักดันไปยังชายแดนนั้นอาจทำให้เด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ หรือถูกนายหน้าล่อลวง ที่สำคัญ ในระหว่างที่เด็กอยู่ในสถานกักกันที่รวมกับผู้ใหญ่อาจถูกกระทำไม่เหมาะสมก็ได้
น.ส.วรางคณา จึงเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการและข้อกฎหมายที่จะช่วยให้เด็กมีสิทธิอาศัยอย่างถูกต้องในไทย 4 ข้อ คือ 1.กลุ่มเด็กข้ามชาติที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ในไทย รัฐบาลควรดำเนินการผ่อนผันให้เด็กได้รับการพิสูจน์สถานะบุคคลและสัญชาติกับประเทศต้นทาง โดยผู้ปกครองหรือคนที่ดูแลเด็กในปัจจุบันเป็นผู้ยื่นเอกสารกับตัวแทนประเทศต้นทางในไทย 2.กรณีเด็กข้ามชาติที่นายจ้างไม่ยื่นเอกสารพร้อมพ่อแม่ รัฐบาลและกระทรวงแรงงานควรเปิดให้พ่อแม่ของเด็กสามารถยื่นเอกสารลูกเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อให้เด็กสามารถพัฒนาสถานะตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้
3.กรณีเด็กข้ามชาติที่อายุไม่เกิน 15 ปี แต่ไม่อยู่ในกระบวนการจ้างแรงงาน รัฐบาลไทยควรเปิดให้เด็กกลุ่มนี้ยื่นเอกสารในฐานะบุตรของแรงงานข้ามชาติ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาสถานะและสัญชาติกับประเทศต้นทางต่อไป และ4.กรณีเด็กข้ามชาติที่พ่อแม่ได้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติไปก่อนหน้านี้แล้ว รัฐบาลควรมีครม.ผ่อนผันและให้เด็กได้เข้าสู่กระบวนการยื่นเอกสาร เพื่อขอปรับสถานะและสัญชาติกับประเทศต้นทางและอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราวตามระยะเวลาที่พ่อแม่ได้รับอนุญาตต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถิติข้อมูลรายงานสถานการณ์และการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประจำปี 2555 ได้ระบุตัวเลขเด็กต่างชาติอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ พม่า 159 คน (ร้อยละ 26) ลาว 73 คน (ร้อยละ 12) กัมพูชา 63 คน (ร้อยละ 10) ส่วนที่เหลือเป็นไทย 324 คน (ร้อยละ 52) ทั้งนี้ จำนวนผู้เสียหายหากแยกรูปแบบการค้ามนุษย์จะถูกค้าประเวณีมากสุด 324 คน ตามมาด้วยขอทาน 52 คน และแรงงาน 52 คน
ด้านน.ส.เอมาโฉ่ ตัวแทนมูลนิธิสิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนา กล่าวถึงชีวิตในอดีตสมัยตนเองเป็นแรงงานข้ามชาติว่าต้องตื่นทำงานตั้งแต่ตี 4 ของทุกวันเพื่อไปทำงาน ซึ่งระหว่างที่เดินทางนั้นเกิดความหวาดกลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อตนเองตลอดเวลา เช่น ชิงทรัพย์ เรียกไถ่เงิน หรือถูกอุ้มขายที่อื่น และถึงแม้จะเข้ามาเป็นแรงงานในไทยอย่างถูกกฎหมาย แต่ท้ายที่สุด เอกสารต่าง ๆ ก็จะถูกนายจ้างยึดไว้ กระทั่งผันตัวเองมาเป็นล่ามที่โรงงานแถบสมุทรสาคร ได้พบเจอแรงงานพม่าหลายคนถูกเอาเปรียบจากนายจ้างเรื่อยมา ยกตัวอย่าง ได้รับอันตรายจากการทำงาน นายจ้างจะไม่รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล แต่ปล่อยให้เป็นภาระของโรงพยาบาลแทน
น.ส.เอมาโฉ่ จึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งออกนโยบายจัดหาล่ามประจำสำนักงานคุ้มครองแรงงานทั่วประเทศ รวมถึงกำหนดให้แรงงานที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคุ้มครองแรงงาน แม้จะมีสถานะเข้าเมืองที่ไม่ถูกกฎหมายควรได้รับอนุญาตให้อยู่ในไทยได้ชั่วคราว จนกว่ากระบวนการให้ความช่วยเหลือรัฐจะสิ้นสุดลง
“ควรกำหนดแนวทางให้แรงงานเกษตรหรือประมงสามารถเข้าถึงกองทุนเงินประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนเพื่อเป็นหลักประกันขั้นต่ำให้กับแรงงานทุกคนโดยไม่เลือกประเภทของแรงงานที่จะได้รับความคุ้มครอง” ตัวแทนมูลนิธิสิทธิมนุษยชนฯ กล่าว และว่าควรให้สิทธิแรงงานต่างด้าวเปลี่ยนนายจ้างได้อย่างอิสระเฉกเช่นแรงงานไทย โดยไม่ต้องรอจนกว่าจะทำงานครบสัญญาหรือใบอนุญาตการทำงานกับนายจ้างคนเดิมจะหมดอายุ
ขณะที่นายมงคล สุวรรณศิริศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อพัฒนาเยาวชนชนบท กล่าวถึงสถานการณ์การศึกษาของเด็กข้ามชาติว่า ปี พ.ศ.2548 คณะรัฐมนตรีได้อนุญาตให้เด็กทุกคนในประเทศไทยได้เข้าเรียน โดยมีการออกเป็นระเบียบมติคณะรัฐมนตรี แต่จากสถิติปัจจุบันมีลูกหลานแรงงานข้ามชาติเพียง 56,582 คน ที่เข้าถึงการศึกษา โดยแบ่งเป็นระดับก่อนประถมศึกษา15,034 คน ระดับประถมศึกษา 40,689 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 5,366 คน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 859 คน ซึ่งหมายความว่ามีเด็กข้ามชาติที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาของรัฐถึง 238,052 คน คิดเป็นร้อยละ 79
นอกจากการศึกษาสำหรับลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่จัดโดยภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนยังได้ร่วมจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ (Learning center or migrants school) ซึ่งจะเป็นศูนย์ที่สร้างการเรียนรู้เรื่องการศึกษาที่เหมาะสมกับลูกหลานแรงงานข้ามชาติ และมีการจัดการศึกษาที่ทำร่วมกับโรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้ของลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่เรียกว่า school within school อีกด้วย แต่รูปแบบการศึกษายังไม่ได้รับการรับรองและได้รับวุฒิบัตรจากภาครัฐ อีกทั้งยังมีจำนวนน้อยและไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ดังนั้นรัฐควรออกกฎระเบียบที่ชัดเจนเพื่อให้ลูกหลานแรงงานข้ามชาติเข้าถึงระบบการศึกษาในระบบและนอกระบบอย่างแท้จริง ให้การรับรองและออกวุฒิบัตรรับรองให้กับลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่ศึกษาในศูนย์การเรียนรู้ เพื่อให้สามารถเทียบโอนผลการศึกษาได้ เชื่อมโยงผลการเรียนระหว่างประเทศหากลูกหลานแรงงานข้ามชาติเดินทางกลับไปยังประเทศต้นทาง
"รัฐควรจัดทำข้อตกลงร่วมกันในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถร่วมจัดการศึกษาในฐานะภาคีเครือข่ายทั้งในส่วนของบุคลากรผู้สอนและหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาให้กับลูกหลานแรงงานข้ามชาติ อีกทั้งยังสามารถป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็กในอีกทางหนึ่งด้วย" นายมงคล กล่าว
นายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติระบบประกันสุขภาพและประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบ 493,324 คน แต่มีเพียง 253,519 คน หรือประมาณร้อยละ 51 ที่เข้าถึงหลักประกันสุขภาพตามนโยบายของรัฐบาล และมีจำนวน 239,262 ที่เข้าไม่ถึงประกันสุขภาพ อย่างไรก็ตามแม้มติคณะรัฐมนตรีจะระบุถึงการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติไว้แล้ว หากแต่ในการปฏิบัติยังมีประเด็นปัญหาที่ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสุขภาพได้อย่างแท้จริง
อาทิ สถานพยาบาลอีกจำนวนมากที่ไม่ยอมขายประกันสุขภาพให้กับแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากประเมินเรื่องความไม่คุ้มทุน และแรงงานต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงจึงทำให้แรงงานจำนวนมากไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพหรือจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมได้ โดยแรงงานข้ามชาติที่จะเข้าสู่ระบบประกันสังคมนั้นจะต้องเสียค่าใช้จ่าย 1,150 บาทต่อคน ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมจะต้องเสียค่าใช้จ่าย 2,850 บาทต่อปี และเด็กอายุไม่เกิน 7 ปีต้องเสียค่าใช้จ่าย 365 บาท
ดังนั้นวันนี้จึงต้องตั้งคำถามกลับไปยังภาครัฐว่า จุดประสงค์แท้จริงที่รัฐออกนโยบายนี้มาเพียงเพื่อต้องการหากำไรจากนโยบายดังกล่าว หรือต้องการให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเข้าถึงระบบประกันสุขภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ดังนั้นอยากเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลระบบประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติในระดับชาติขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งควรมีการทำงานในเชิงรุก คือรณรงค์ให้ความรู้กับแรงงานข้ามชาติให้รับรู้ถึงสิทธิของตนเอง เพื่อเพิ่มการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติอีกด้วย
นายอดิศร ยังกล่าวถึงประเด็นอุบัติเหตุจากการเดินทางของแรงงานข้ามชาติอีกด้วยว่า จากการศึกษาข่าวอุบัติเหตุในการเดินทางของแรงงานข้ามชาติทีเกิดขึ้นในช่วง 22 เดือนระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 31 ต.ค. 2556 ในหนังสือพิมพ์ 14 ฉบับ และเว็บไซต์ข่าว 3 เว็บไซด์พบประเด็นที่สำคัญคือ การเกิดอุบัติเหตุในการเดินทางของแรงงานข้ามชาตินั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานจำนวน 910 คน โดยมีสัดส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บ 445 คน และเสียชีวิต 86 คน และเมื่อมีการพิจารณาสัดส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บพบว่ามีผู้หญิงสูงมากว่าผู้ชายถึง 35.71 เปอร์เซ็นต์ และเด็กร้อยละ 10.12 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กลุ่มผู้เสียชีวิตเป็นผู้หญิงมากถึงร้อยละ 50 และเป็นเด็กร้อยละ 2.44
จากสถิตินี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแรงงานที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยนั้นไม่ได้มีเพียงผู้ชาย หากรวมถึงแรงงานหญิงและเด็ก ซึ่งมีโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงกว่าผู้ชายด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารจะประสบอุบัติเหตุจากการเดินทางเป็นจำนวนที่มากกว่าแรงงานที่มีเอกสารครบถ้วน โดยเฉพาะในสัดส่วนของการเกิดอุบัติเหตุจากการหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งได้แก่การฝ่าด่านจนรถคว่ำ การชนจนกลิ้งตกคลอง มีสัดส่วนสูงมากถึงร้อยละ 34.78 ของกรณีที่เกิดขึ้นกับแรงงานนอกระบบทั้งหมด และยังมีกรณีของการเกิดอุบัติเหตุจากสภาพยานพาหนะไม่เหมาะสมอีกด้วย กรณีของการเกิดอุบุติเหตุต่างๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลไทยมุ่งเน้นแต่พัฒนานโยบายการจ้างงานแรงงานข้ามชาติ จนทำให้มองข้ามลักษณะเฉพาะของการย้ายถิ่นในภูมิภาคนี้ที่จะมีการย้ายถิ่นในลักษณะที่เป็นครอบครัว
“สิ่งที่สำคัญจากข้อมูลที่พบจะเห็นได้ว่า รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ใส่ใจหรือเอาจริงเอาจังกับการดูแลและเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุให้เป็นไปตามกฎหมายส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมายาคติต่อผู้ย้ายถิ่นที่ไม่มีเอกสาร ขณะเดียวกันยังพบด้วยว่าการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุของแรงงานข้ามชาตินั้นจะเน้นการนำเสนอข่าวหรือประเด็นที่เป็นปรากฏการณ์เฉพาะแค่เหตุการณ์อุบัติเหตุ ไม่ได้ติดตามไปถึงกระบวนการการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ หรือสะท้อนถึงรากฐานของปัญหาการย้ายถิ่นที่เป็นปัจจัยให้เกิดอุบัติเหตุในแต่ละครั้งอย่างจริงจังมากนัก" นายอดิสร กล่าว เเละว่าสิ่งที่สำคัญในการแก้ไขประเด็นปัญหาเหล่านี้คือแรงงานข้ามชาติไม่ควรจะถูกเพ่งมองแต่แง่มุมที่เป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย จนบดบังความเป็นเหยื่อของสถานการณ์ที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาทางการกฎหมายและมนุษยธรรม ควรติดตามกระบวนการช่วยเหลือภายหลังจากเกิดอุบัติให้กับแรงานข้ามชาติอย่างเป็นรูปธรรมด้วย .