ดร.ผาสุก ชูโมเดลอินโดฯ ปราบโกงสำเร็จ หนุนตั้งศาลดูคดีคอร์รัปชันเป็นการเฉพาะ
ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร วิพากษ์อย่างสร้างสรรค์ แนะแก้ปัญหางานล้นมือ ป.ป.ช. ให้กำหนดระดับของคดีทุจริต ที่เด่นๆ ใหญ่พอทำให้ปชช.ตื่นเต้น เชื่ออำนาจมีมากพอแล้ว เหลือแต่ “ความกล้า” ที่จะฟันคนทุจริต
วันที่ 16 ธันวาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเวทีสาธารณะ สกว.: ความรู้สู่การปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 14 สกว. อาคาร SM Tower สนามเป้า พญาไท กทม. โดยศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวเปิดงาน
ผอ.สกว. กล่าวตอนหนึ่งถึงวิกฤตการณ์ทางการเมือง ปัญหาใหญ่คือการออกแบบประเทศ โครงสร้างประเทศ และรูปแบบของประเทศ ฉะนั้นเราจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องออกแบบประเทศกันใหม่
“ขณะนี้ สกว. โดยมองข้ามความขัดแย้ง กำลังจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีคุณภาพ มีฐานจากงานวิจัยและงานวิชาการ ที่เป็นประโยชน์นำเสนอต่อรัฐบาลใหม่ เพื่อให้การกำหนดนโยบายมีฐานที่เข้มแข็ง สามารถนำไปปฏิบัติได้ และเกิดผลประโยชน์สูงสุด”
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ กล่าวอีกว่า ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะมาร่วมกัน มาร่วมกันจัดทำนโยบายที่ดี และออกแบบประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีระบบทั้งระบบโครงสร้างเชิงอำนาจ โครงสร้างอำนาจ กระจายอำนาจ และสามารถนำแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ผล จนส่งผลให้ไทยแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ คงไม่มีเวลาเหลือแล้ว ต้องช่วยกันปฎิรูปประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
ทีดีอาร์ไอ ชี้คอร์รัปชันขจัดไม่หมด แต่ลดลงได้
จากนั้นมีการนำเสนอ “ทางเลือกใหม่เพื่อการต้านคอร์รัปชั่น” โดยดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันประเทศไทยปีนี้ ที่แย่กว่าประเทศโคลัมเบีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีมาเฟีย มีการค้ายาเสพติด และมีเศรษฐกิจนอกระบบใหญ่มาก จึงเป็นเรื่องซีเรียส อีกทั้งเป็นครั้งแรกที่ดัชนีด้านนี้ของไทยตกต่ำไปไกลมาก อยู่อันดับต่ำกว่า 100
“ไม่มีประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีคะแนนดัชนีคอร์รัปชันต่ำกว่า 4 คะแนน และประเทศไทยก็ไม่เคยมีคะแนนคอร์รัปชันสูงกว่า 4 คะแนน”ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่า การคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาต่อไปไม่ได้ ด้วยหลายสาเหตุ ทั้งทำให้การลงทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น การลงทุนขนาดใหญ่เป็นไปได้ยาก เห็นได้จาก โครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท แม้เราะจะยอมรับว่า จำเป็นต้องลงทุน เช่น รถไฟรางคู่ แต่หากมีข่าวคอร์รัปชัน คนจำนวนหนึ่งไม่สบายใจ เกิดการตรวจสอบ ทำให้การลงทุนเกิดขึ้นไม่ได้ เป็นต้น
ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า คอร์รัปชันคงแก้ให้หมดไปจากประเทศไทยไม่ได้ แต่สามารถทำให้ “ลดลง” ได้ และการลดคอร์รัปชัน จำเป็นต้องคิดเชิงระบบประกอบด้วย มากกว่าเรื่องคุณธรรม จริยธรรม พร้อมมีข้อเสนอ เช่น แก้กฎหมายข้อมูลข่าวสาร ให้เปิดเผยข้อมูลของรัฐมากขึ้น, ให้สังคมเข้าตรวจสอบ เช่น ยอมรับข้อตกลงคุณธรรม ในโครงการใหญ่ๆ, แก้กฎหมายให้คดีคอร์รัปชันไม่มีอายุความ และให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของอนุสัญญาต่อต้านการให้สินบนของ OECD OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) ซึ่งจะมีการตรวจสอบอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ซึ่งดีกว่าการให้สัญญาลอยๆ โดยไม่มีการตรวจสอบ
หนุนตั้งศาลดูคดีคอร์รัปชัน เหมือนอินโดฯ
ขณะที่ศ. ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบ่งการคอร์รัปชันออกเป็น 2 ส่วน คือภาคราชการ ที่เกิดได้ตลอดเวลา เกิดได้ทุกวัน และคอร์รัปชันทางการเมือง โดยเป็นการร่วมมือระหว่าง ราชการ นักธุรกิจ นักการเมือง มีจำนวนวงเงินใหญ่ ไม่ผูกขาดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเสมอไป
สำหรับการคอร์รัปชันทางการเมืองที่มีข้าราชการ นักธุรกิจ และนักการเมือง นั้น ศ. ดร.ผาสุก กล่าวถึงสาเหตุที่ยากจะแก้ไข เพราะเป็นการคอร์รัปชันที่เกี่ยวโยงกับขบวนการสะสมทุนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ บุคคลเหล่านี้เมื่อได้เงินมา จ่ายสินบน ใช้ตำแหน่ง ใช้อิทธิพลเข้าถึงสัมปทาน ใบอนุญาต และเข้าถึงทรัพยากรหายาก เช่น ที่ดินสาธารณะ ที่ดินราชการ ไม่เว้นแม้แต่ทรัพยากรอื่นๆ ที่ต้องได้รับใบอนุญาตจากภาครัฐเข้าไปทำ เช่น เหมืองแร่ นั้น วงเงินที่เกี่ยวข้องมีอัตราที่สูง จึงเป็นแรงจูงใจให้บุคคลที่เกี่ยวข้องแสวงหากำไรที่เกินปกติ หรือค่าเช่าทางเศรษฐกิจ
ศ. ดร.ผาสุก ยกกรณีของอินโดนีเซีย ที่สามารถลดปัญหาคอร์รัปชั่นได้สำเร็จ เมื่อมีองค์กรปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่ใช้ตัวย่อว่า KPK เป็นองค์กรกึ่งอิสระและได้รับการยอมรับนับถืออย่างกว้างขวาง ก่อตั้งเมื่อปี 2545 โดยมีประเทศนอร์เวย์ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลอินโดนีเซีย เพียงระยะเวลาแค่ 10 ปี องค์นี้มีผลงานที่น่าทึ่ง มีกรณีสืบสวนสอบสวน 236 คดี ทุกคดีประสบความสำเร็จ ชนะคดีหมด และจับกุมข้าราชการระดับสูง ส.ส. ซีอีโอบริษัท ญาติประธานนาธิบดี ผู้พิพากษา ตำรวจระดับสูง ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลาง รวมเกือบ 400 คน ครึ่งหนึ่งผู้ที่ถูกจับกุมเป็นนักการเมือง
“องค์กร KPK ของอินโดนีเซีย ได้แบบอย่างมาจากฮ่องกง ซึ่งมีชื่อเสียงมาก แต่ที่อินโดนีเซียทำ เกินเลยกว่า ก็คือมีการก่อตั้งศาลที่จะมาดูคดีคอร์รัปชั่นขึ้นมาเป็นการเฉพาะ อีกทั้งจะเลือกทำคดีที่มีมูลค่า 2.7 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับกรณีเล็กๆ ก็ปล่อยให้หน่วยงานต้นสังกัดดูแล จัดการไป”
กรณีของเมืองไทย ศ. ดร.ผาสุก กล่าวด้วยว่า ต้องคิดให้ลึกกว่านี้จะทำอย่างไร ทำอย่างไรถึงจะมีศาลพิเศษ เช่นเดียวกับศาลที่มาดูคดีนักการเมือง รวมถึงการพัฒนาบุคลากรเชี่ยวชาญด้านการสืบสวนสอบสวนอย่างมีคุณภาพ
“คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ไม่ได้มีการกำหนดระดับของคดีทุจริตระดับไหน รับพิจารณาหมดจนมีปัญหางานกองล้น มีคดีเข้ามาจำนวนมาก อีกทั้งไม่ได้เลือกคดีที่เด่นพอทำให้ประชาชนตื่นเต้น ซึ่งหากเราต้องการแก้คอร์รัปชันภาคการเมืองให้ได้ ป.ป.ช.จำเป็นทบทวนและต้องกำหนดขนาดของคดีที่ต้องเป็นคดีใหญ่”ศ. ดร.ผาสุก กล่าว และทิ้งท้ายด้วยว่า ป.ป.ช.ของไทย มีอำนาจมากพอแล้ว เหลือแต่ “ความกล้า” เท่านั้นที่จะทำ