ถล่ม 2 ปี กสทช.ปัญหาเพียบ “ล็อคสเปก-ปิดข้อมูล-ทำผิด กม.”
เวทีเสวนาสื่อไทย “นักวิชาการ-ภาคประชาชน” ถล่ม กสทช.ทำงาน 2 ปี ปัญหาเพียบ ส่อล็อคสเปกทีวีดิจิตอลให้รัฐ บริหารเงินกองทุนไร้เกณฑ์ ปิดข้อมูลที่ต้องเปิดเผย แถมทำผิด กม.กรณีออกประกาศคุมเนื้อหารายการ ม.37
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2556 ที่โรงแรมสุโกศล มีการจัดงานเสวนาเวทีสื่อไทย (Thai Media Forum) ในหัวข้อ “2 ปี กสทช. กับการติดตามและประเมินผลโดยเครือข่ายภาคประชาสังคม” โดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ทและมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานเสวนาครั้งนี้ เพื่อที่ภาคประชาชนจะได้ทบทวนการทำงานติดตามและประเมินผลการทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งครบรอบ 2 ปีการดำรงตำแหน่งไปเมื่อเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา
ทีดีอาร์ไอชี้ 2 ปี กสทช.ยังต้องปรับปรุง
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวนำในหัวข้อ “กสทช.กับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคลื่นความ” ใจความว่าแม้ช่องทางสื่อสารจะเพิ่มขึ้นรวดเร็ว แต่ผู้ที่ต้องการใช้มีมากกว่า เห็นได้จากการประมูลทีวีดิจิตอล หรือการประมูลคลื่นมือถือ 3 จี หรือ 4 จีในอนาคต ทั้งนี้ แม้เทคโนโลยีจะพัฒนาแล้ว แต่ความจำกัดของคลื่นก็ยังมีอยู่ ดังนั้นจึงต้องจัดสรรคลื่นอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้คนที่ใช้คลื่นได้ประโยชน์สูงสุดได้คลื่นไป ซึ่งการจัดสรรคลื่นเกี่ยวกับความเป็นธรรมด้วย
“แต่การจัดสรรคลื่นในอดีตจองไทยไม่มีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคม เพราะมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องมาก” นายสมเกียรติกล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ การจัดสรรคลื่นเชิงพาณิชย์ หลักคิดง่ายนิดเดียว คือต้องมีการประมูล แต่วิธีจัดสรรก็ต้องออกแบบให้รอบคอบ เพราะบางวิธีเหมือนจะเป็นธรรม แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ในสหรัฐอเมริกา เคยใช้วิธีจับล็อตเตอรี่ ซึ่งท้ายสุดก็มีการนำคลื่นไปขายต่อ ส่วนการจัดสรรคลื่นในเชิงสาธารณะหรือเชิงชุมชน ไม่สามารถทำได้ง่ายเหมือนเชิงพาณิชย์ จำเป็นต้องใช้วิธีบิวตี้คอนเทสต์ โดยจะต้องมีการออกเกณฑ์การคัดเลือกที่รัดกุมทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ พ.ศ.2553 มาตรา 51 ระบุว่า กสทช.ควรส่งเสริมให้ชุมชนมีความพร้อมเป็นผู้รับใบอนุญาต แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีชุมชนใดได้รับการส่งเสริมด้านเงินทุนจากกองทุนของ กสทช.เลย
“ผมพบว่าหลายเรื่อง กสทช.น่าจะทำได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ เช่นคลื่น 1 ปณ.ที่ กสทช.ได้รับโอนจากกรมไปรษณีย์โทรเลข ที่ยังไม่ถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสม” นายสมเกียรติกล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ในกิจการโทรคมนาคม หลายเรื่องก็ยังมีปัญหา เช่นคลื่น 1800 MHz ที่ใช้ทำ 4จีได้ แต่ กสทช.กลับยังไม่นำมาจัดสรรใหม่ แต่ขยายเวลาการคืนคลื่น โดยอ้างผู้บริโภค ทั้งที่รู้ล่วงหน้าว่าจะสิ้นสุดสัมปทานเมื่อเดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา หรือกรณีดาวเทียม ที่กิจการแบ่งเป็น 2 ส่วน คือสถานีภาคพื้นดินและสถานีภาคอวกาศ ซึ่งปัจจุบันเรามีดาวเทียมไทยคมดวงเดียว ทั้งนี้ ดาวเทียมเป็นกิจการที่ใช้คลื่น จึงต้องมีการประมูลตามกฎหมาย แต่กลับมีกรรมการ กสทช.บางรายไปตีความว่า ดาวเทียมอยู่เหนือผิวดินเกิน 100 กิโลเมตร ถือว่าอยู่นอกเหนืออธิปไตย จึงไม่จำเป็นต้องประมูล แต่ให้สถานีภาคพื้นดินประมูลแทน ซึ่งเป็นแนวคิดที่แปลกประหลาดมาก
“การมี กสทช.เป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่งในการกำกับดูแลคลื่น เพื่อสกัดไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยว ทว่าถึงจะสกัดฝ่ายการเมืองได้ก็ยังมีเรื่องผลประโยชน์อยู่ดี ดังนั้นภาคประชาชนต้องช่วยกันตรวจสอบการทำงานของ กสทช.เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด” ประธานทีดีอาร์ไอกล่าว
ส่อล็อคทีวีดิจิตอลบางช่องให้รัฐ
จากนั้นเป็นการเสวนาหัวข้อ “2 ปี กสทช.กับการติดตามและประเมินผลโดยเครือข่ายภาคประชาสังคม”
น.ส.จิรนุช เปรมชัยพร จากมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน (เว็บไซต์ประชาไท) กล่าวว่า การปฏิรูปสื่อมีการขับเคลื่อนมากว่า 20 ปี ทว่า กสทช.ตั้งมา 2 ปี อยากบอกว่าเหนื่อยกว่า 20 ปีที่ผ่านมาเสียอีก สิ่งที่เคยเป็นความหวังมาตลอด ต้องจับตาว่าจะล่มลงในเวทีปีกว่านี้หรือไม่ เช่นการประมูลทีวีดิจิตอลที่จะแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างความเป็นเจ้าของ เพราะในอดีตมีการผูกขาดให้คลื่นทีวีไม่ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งแม้ กสทช.จะฉลาดในการหยิบคลื่นใหม่มากระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างแต่ก็ยังมีหลายประเด็นที่เป็นห่วง
“เช่น ช่องธุรกิจ 24 ช่อง ดูเหมือนมีการแข่งขัน แต่ถ้าดูรายละเอียดดีๆ ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมประมูลราว 24 เจ้าเช่นกัน จึงสงสัยว่าจะมีการตกลงจัดสรรให้ทุกฝ่ายวิน-วินหรือไม่ขณะที่ช่องสาธารณะ 12 ช่อง เวลานี้ก็ให้กับทีวีเดิมไป 4 ช่อง อีก 2 ช่อง ก็ออกเกณฑ์ว่าเพื่อความปลอดภัยสาธารณกับเพื่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งแทบจะล็อคสเปกให้กับหน่วยงานรัฐเลย ช่องหนึ่งอาจจะให้ตำรวจ อีกช่องอาจจะให้กองทัพหรือ กอ.รมน. แบบนี้ไม่น่าจะเรียกว่าจัดสรร แทบจะเรียกว่าถวายประเคนให้เลย” น.ส.จิรนุชกล่าว
น.ส.จิรนุช กล่าวว่า หลัง กสทช.เดินหน้าเรื่องทีวีดิจิตอล ก็มีการเข้าไปคุยกับ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กสทช.ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เพื่อดูแนวคิด ซึ่งจากการแลกเปลี่ยน พบว่าแม้แต่พูดถึงทีวีดิจิตอล ช่องสาธารณะ ประธาน กสท.ก็ยังไม่เห็นสาธารณชน มองเห็นแต่รัฐ เวลาคาดการณ์คนที่จะมาทำช่องสาธารณะ จึงมองไม่เห็นหน่วยงานอื่นๆ นอกจากรัฐ ทั้งที่กฎหมายก็กำหนดให้มูลนิธิ สถาบัน หรือสมาคมยื่นขอได้ เรื่องเกณฑ์ 20% ที่กฎหมายระหว่างให้จัดสรรให้ภาคประชาชน เราก็ถามว่าหมายถึงช่องสาธารณะ 2 ช่องใช่หรือไม่ แต่ประธาน กสท.กลับระบุว่า หมายถึงช่องชุมชน ที่จะมีการจัดสรรอีก 12 ช่อง นี่คือแนวคิดที่แตกต่างกัน
“ประธาน กสท.บอกว่า การทีวีดิจิตอล ช่องสาธารณะ เกิดศักยภาพประชาชน ไม่ต้องเป็นเจ้าของตึกหรอก แค่ไปเช่าห้องๆ หนึ่งอยู่ก็พอแล้ว แต่เรามองต่างว่าศักยภาพประชาชนควรจะได้รับการส่งเสริม เพื่อให้การปฏิรูปสื่อมีหลายภาคส่วนไปร่วมอย่างแท้จริง” น.ส.จิรนุชกล่าว
จัดสรรเงินกองทุนเกณฑ์ยังไม่ชัด
นายวิชาญ อุ่นอก จากสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวว่า ที่มองว่าวิทยุชุมชนมีราว 7,000-8,000 สถานี จริงๆ เหล่านั้นเป็นวิทยุธุรกิจขนาดเล็ก ไม่ใช่วิทยุชุมชน เพราะวิทยุชุมชนตามกฎหมายจะมีโฆษณาไม่ได้เลย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 700 สถานี ทั้งนี้ตามกฎหมายระบุว่า กสทช.จะต้องสนับสนุนผ่านทางกองทุน ซึ่งมีที่มาของเงินหลายช่องทาง และแยกบัญชีระหว่างกิจการโทรคมนาคม ในบัญชี ก.และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ในบัญชี ข. โดยปัจจุบันกองทุนของ กสทช.มีเงินราว 3,000 ล้านบาท แต่สำหรับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์มีอยู่ราว 400 ล้านบาท โดยต้นปี 2556 ที่ผ่านมา มีการเปิดให้ยื่นโครงการขอทุน ตั้งงบไว้ 150 ล้านบาท มีผู้เสนอไปราว 200 โครงการ ผ่านการอนุมัติแค่ 10 โครงการ วงเงิน 32 ล้านบาท แต่ถึงวันนี้ยังไม่มีการเบิกจ่ายให้ใครเลยแม้แต่บาทเดียว
“วิทยุชุมชนต้องการเงินจากกองทุน กสทช.มาสนับสนุนเพราะมีโฆษณาไม่ได้ ที่ผ่านมาก็อยู่ได้ด้วยการทอดผ้าป่าหรือตั้งกล่องรับบริจาค แต่ปัญหาของกองทุนที่ผ่านมา 1.หลักเกณฑ์ไม่ชัดเจน 2.ดำเนินการล่าช้า 3.ไม่มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัด 4.ควรปรับโครงสร้างการทำงานให้ยึดโยงกับความจริง เช่นอาจตั้งอนุกรรมการขึ้นมาสักชุดพิจารณาให้เงินสนับสนุนเฉพาะสื่อขนาดเล็ก ไม่เช่นนั้นการที่สื่อขนาดเล็กอย่างวิทยุชุมชนจะเข้าถึงกองทุนคงเป็นไปได้ยาก” นายวิชาญกล่าว
นักวิจัยเผย 5 ปมปัญหาการทำงาน
นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยจากโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรมนาคม (NBTC Policy Watch) กล่าวว่า จากที่ติดตามการทำงาน กสทช.ตลอดเวลาที่ผ่านมา พบปัญหา 4 ข้อ 1.การเปิดเผยข้อมูลไม่เป็นไปตามกฎหมาย ที่พบสุดคือล่าช้า ทั้งรายงานการประชุม การจัดซื้อจัดจ้าง แต่ที่เราเรียกร้องที่สุด คืองานวิจัยที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบนโยบายต่างๆ ซึ่งไม่พบว่ามีการเปิดเผยเลย นอกจากนี้ เรายังเรียกร้องให้เปิดเผยรายงานการประชุมของอนุกรรมการชุดต่างๆ ด้วย 2.การคัดเลือกบุคลากรยังเน้นไปที่โควตามากกว่าคุณสมบัติ อาทิ อนุกรรมการกำกับดูแลเนื้อหาหลายคนยังเป็นตำรวจ จึงไม่น่าสงสัยว่าการกำกับดูแลจะเน้นไปที่การเซ็นเซอร์
นายวรพจน์ กล่าวว่า 3.การรับฟังความเห็นร่างกฎหมายหรือประกาศต่างๆ ที่ไม่รอบด้าน เน้นไปที่พิธีกรรมมากกว่า ที่สำคัญหลังรับฟังความเห็น ก็มักไม่มีการปรับแก้เนื้อหา หรือถ้ามีการปรับแก้ก็มักเป็นไปตามแนวคิดของภาคธุรกิจ เช่น การลดเพดานถือครองคลื่นมือถือ 3จี ที่ทำให้การประมูลไม่มีการแข่งขัน 4.กระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียนล่าช้า และยังไม่มีประสิทธิภาพ โดยล่าสุดมีเรื่องค้างกว่า 1 พันเรื่อง ที่สำคัญการจัดการเรื่องร้องเรียนยังไม่เป็นไปตามกฎหมาย หรือภายใน 30 วัน และ 5.การใช้งบประมาณยังไม่โปร่งใส การจัดซื้อจัดจ้างงบเกิน 1 ล้านบาท ยังใช้วิธีพิเศษ
“ผมได้รายงานการตรวจสอบภายใน กสทช. ที่ระบุว่าการใช้วิธีพิเศษจัดซื้อจัดจ้างมีปัญหาอย่างไรบ้าง เช่นการจัดงาน Mobile Expo งบ 16 ล้านบาท ที่เอกชนมายื่นเพียงรายเดียว และเสนอวงเงินที่ใกล้เคียงกับงบที่ตั้งไว้มาก และงบใช้เดินทางไปต่างประเทศก็สูงถึง 206 ล้านบาท และในปี 2557 มีแนวโน้มจะสูงขึ้นกว่านี้ รวมถึงใช้งบพีอาร์ 113 ล้านบาท ที่นำกรรมการ กสทช.บางคนไปขึ้นปก โดยที่เนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกับงานของ กสทช.” นายวรพจน์กล่าว
ออกประกาศคุมเนื้อหารายการผิดกม.
น.ส.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผอ.สถานีวิทยุจุฬา ในฐานะตัวแทนสมาชิกวิชาชีพสื่อ 4 แห่ง กล่าวว่า อีกปัญหาของ กสทช.คือการออกร่างประกาศกำกับดูแลเนื้อหารายการที่ออกตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 37 ซึ่งครบกำหนดเวลารับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยตัวแทน 4 องค์กรวิชาชีพไปได้พูดคุยกับประธาน กสท.เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากร่างประกาศแม้จะมีการปรับปรุงเนื้อหาบางส่วน แต่สาระสำคัญก็ยังคงอยู่
น.ส.สุวรรณา กล่าวว่า ความเห็น 4 องค์กรวิชาชีพสื่อต่อร่างประกาศดังกล่าว คล้ายกับที่อนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายเคยสรุป คือ กสทช.ไม่มีฐานอำนาจในการออกร่างประกาศดังกล่าวเพราะในมาตรา 37 ให้อำนาจ กสทช.ในการกำกับดูแลเนื้อหารายการ ไว้ 4 ประเภทเท่านั้น แต่ กสทช.กลับออกร่างประกาศที่ขยายความมาตรา 37 ไม่ได้ทำให้เกิดความชัดเจน แต่เกิดความคลุมเครือ เปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจมากขึ้น เนื้อหาในร่างประกาศนั้นก็ยังมีกฎหมายอื่นบังคับใช้อยู่แล้ว เช่น ลามกอนาจาร นอกจากนี้ ร่างประกาศดังกล่าวยังขัดกับหลักความจำเป็น ความได้สัดส่วน และความสมเหตุสมผล
“ที่สำคัญจะออกร่างประกาศมาตา 37 มาใช้โดดๆ ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้มาตรา39 และมาตรา 40 ที่กำหนดให้ กสทช.ส่งเสริมให้สื่อกำกับดูแลกันเอง เกิดเด๊ดล็อคทันที เพราะไม่สามารถใช้ได้จริง เนื่องจาก กสทช.จะกำกับดูแลโดยผ่านมาตรา 37 ทั้งหมด” น.ส.สุวรรณากล่าว
น.ส.สุวรรณา กล่าวว่า คาดว่าร่างประกาศดังกล่าวจะถูกนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม กสท.สัปดาห์หน้า จากนั้นถึงมีการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม กสทช.สัปดาห์ถัดไป ก่อนนำไปประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ที่ผ่านมาเวลามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น กสทช.ชุดนี้ชอบท้าทายผู้ที่ไม่เห็นด้วย ด้วยการบอกว่าให้ไปฟ้องร้องต่อศาล ซึ่งหาก กสทช.ยังทำตัวเช่นนี้อยู่ ภาคประชาสังคมหรือภาคสื่ออาจต้องทำตัวเหมือนที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ทำ นั่นคือลงไปใช้ข้างถนนเป็นเวทีในการคัดค้าน อย่างไรก็ตาม อยากบอกทาง กสทช.ว่าไม่จำเป็นต้องท้าย เพราะเตรียมฟ้องร้องอยู่แล้ว หากร่างประกาศดังกล่าวประกาศใช้จริง