‘พีมูฟ’ หนุนเดินหน้าเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ควบคู่ปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่
‘พีมูฟ’ หนุนเดินหน้าเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ควบคู่การปฏิรูปโครงสร้างประเทศ 5 ด้าน การเมือง-กระจายอำนาจ-ที่ดิน-ทรัพยากร-กระบวนการยุติธรรม ระบุเป็นขั้นตอนสำคัญในระบอบปชต. เชื่อนำพาไทยพ้นวิกฤตได้
วันที่ 16 ธันวาคม 2556 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส. ) หรือพีมูฟ ออกแถลงการณ์ เรื่อง ‘ผ่าวิกฤตประเทศไทย เดินหน้าเลือกตั้งควบคู่การปฏิรูปประเทศไทย’ ใจความว่า ตามที่สถานการณ์ทางการเมืองที่อยู่ในสภาพวิกฤตแล้วในขณะนี้ โดยมีสาเหตุหลักคือความไม่เชื่อมั่นต่อพฤติกรรมของนักการเมือง และระบบการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมได้ออกมาเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่นั้น
พวกเราขปส. ซึ่งเป็นเครือข่ายของเกษตรกรรายย่อยและคนจนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดในอดีต อันเป็นปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อน ปัญหาการไร้สิทธิสถานะและชาติพันธุ์ ปัญหาจากการสร้างเหมืองและโรงไฟฟ้า ปัญหาการทำเกษตรพันธะสัญญา รวมทั้งปัญหาความไม่เป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม ทั้งจากคนจนในชนบทและคนจนในเมือง
ดังนั้น ขปส.ในฐานะหุ้นส่วนทางสังคม จึงมีความเห็นต่อสถานการณ์วิกฤตทางการเมือง ดังนี้ 1.การคอร์รัปชั่นที่เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยเกิดขึ้นจากการกระชับอำนาจไว้ที่นักการเมือง กลุ่มการเมืองไม่กี่กลุ่มที่พากันฉกฉวยโอกาสและแย่งชิงทรัพยากรของส่วนรวมไป กลุ่มคนจน คนรากหญ้า คนชายขอบตกอยู่ในสภาพของผู้ถูกกระทำมาตลอด คนเหล่านี้ถูกบังคับให้จำนนต่อการเอาเปรียบมายาวนานในสังคม
2.มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ ทั้งการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การปฏิรูปเป็นการปรับเปลี่ยนและยกระดับ แนวคิด เนื้อหาและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในอดีตที่ไม่สอดคล้องกับพัฒนาการความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงของสังคม
3.การปฏิรูปประเทศไทยครั้งนี้ คงไม่สามารถที่จะสำเร็จได้ในช่วงเวลา 1 ปี หรือ 2 ปี เพราะการปฏิรูปจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน โดยไม่ขัดแย้งต่อระบอบประชาธิปไตย และกติกาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการปฏิรูปอาจนำไปสู่การปรับปรุงกติกาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีก
แถลงการณ์ยังระบุต่อว่า เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ขปส.จึงขอแสดงจุดยืนให้การสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เพราะเป็นขั้นตอนสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และกติกาที่มีอยู่ในปัจจุบัน พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ด้วย แบ่งเป็น
-การปฏิรูปการเมือง ซึ่งขปส.ไม่เชื่อว่าการปฏิรูปการเมือง เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม หรือแม้แต่การจัดตั้งองค์กรทางการเมืองเพื่อถ่วงดุลอำนาจ จะเป็นหนทางเดียวที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างโดยรวมของสังคมไทย แม้มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิรูปการเมือง แต่หากขาดการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอื่น ๆ ที่สำคัญ ย่อมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสังคมที่เป็นธรรมได้
-การปฏิรูปเพื่อการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน
-การปฏิรูปการจัดการและการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ
-การปฏิรูปที่ดิน
-การปฏิรูปอำนาจตุลาการและกระบวนการยุติธรรม
“ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการดำรงอยู่ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แตกต่างกันเพียงบางแง่มุม ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องจัดการเลือกตั้งขึ้น ควบคู่ไปกับการปฏิรูปครั้งใหญ่ จึงน่าจะเป็นทางออกที่จะนำสังคมไทยออกจากภาวะวิกฤตได้ในขณะนี้” แถลงการณ์ สรุป
ด้านนายกฤษกร ศิลารักษ์ ผู้ประสานงานขปส. กล่าวภายหลังว่า การปฏิรูปประเทศไทยจะต้องเดินหน้าควบคู่กับการเลือกตั้ง แต่การปฏิรูปจะต้องสร้างกลไกด้านองค์ประกอบเบื้องต้นก่อน พร้อมกันนี้ก็จะต้องสร้างความมั่นใจกับสังคมด้วยว่าหลังจากการเลือกตั้งแล้ว อำนาจโดยตรงของประชาชนจะไม่สิ้นสุดเพียงการหย่อนบัตรในคูหาเท่านั้น แต่จะต้องมีหลักประกันให้เห็นว่าทุกพรรคการเมืองจะร่วมกับสังคมในการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่
สำหรับคนกลางที่จะทำหน้าในการประสานงานการปฏิรูปยอมรับว่าเหลือน้อยมาก เนื่องจากทุกภาคส่วนถูกจำกัดให้เลือกข้างแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม คนกลางที่พูดถึงนั้นจะต้องเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายว่าจะสามารถสร้างความร่วมมือกันได้ ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่สำคัญ จะต้องไม่ลืมภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคมด้วย เพราะอย่าลืมว่าไทยมิได้มีเฉพาะรัฐบาลและกปปส.เท่านั้น
ผู้ประสานงานขปส. ยังกล่าวถึงข้อเสนอเชิงรูปธรรมด้วยว่า แม้กระบวนการดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุปโดยละเอียดในระดับเครือข่าย แต่เบื้องต้นมองร่วมกันว่าจะต้องลดอำนาจส่วนกลาง เรื่อง การบริหารจัดการและงบประมาณ เพราะตราบใดที่รัฐบาลยังคุมอำนาจทั้งหมดและจัดสรรงบประมาณลงสู่ท้องถิ่นบางส่วน อำนาจการบริหารจริง ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ การใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยึดโยงกับสังคม จนบางครั้งรู้สึกเหนือกว่าอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ ควรได้รับการปฏิรูปด้วย .
ภาพประกอบ:เว็บไซค์ fangkhawmju.exteen.com