"เจษฎ์" ชี้ใช้ ม.187 เลื่อนวันเลือกตั้งจาก 2 ก.พ.57 ได้
"เจษฎ์" ชี้ใช้ รธน.มาตรา 187 เลื่อนวันเลือกตั้งจากเดิมวันที่ 2 ก.พ.57 ได้ เสนอ "โหวตโน" สั่งสอนนักการเมือง แต่ประชาชนต้องรวมพลังอย่างแท้จริง
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสยามให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว "สำนักข่าวอิศรา" ถึงกรณีที่มีการถกเถียงกันในสังคมว่าควรจะปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 ว่า ตนสนับสนุนการเลือกตั้งแต่ เห็นว่าควรต้องขยายกรอบเวลาโดยใช้มาตรา 187 ตามรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็สนับสนุน ให้ประชาชนแสดงพลังสามัคคี สั่งสอนนักการเมืองด้วยการเข้าคูหากากบาทเลือกช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน หรือโหวตโน ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและเป็นกระบวนการคัดสรร ให้ได้มาซึ่งคนที่ประชาชนเห็นว่าเหมาะสมจริงๆ ทั้งนี้ วิธีดังกล่าวจะเกิดประโยชน์และทำได้จริง ต่อเมื่อประชาชน รวมพลัง รณรงค์อย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้น ก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการพลิกขั้ว เทคะแนนให้พรรคคู่แข่ง ดังนั้น สังคมควรมีการรณรงค์เรื่องอำนาจในคูหา เพื่อให้ประชาชนเห็นประโยชน์ของการแสดงเจตจำนงผ่านการกากบาทช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนอย่างแพร่หลาย จริงจัง
"ทำอย่างไร คนในสังคมที่เห็นตรงกันจะร่วมกันผสานพลัง สามัคคีกัน ไปเข้าคูหากาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน ทำอย่างไรประชาชนจะรณรงค์และสามัคคีกันอย่างจริงจัง เพราะขณะนี้คือชัยชนะหน้าหนึ่งในทางการเมืองของประชาชนแล้วที่มีภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง ต่อต้านรัฐบาล ไม่ว่ากลุ่มเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือ กปปส เหล่านี้คือชัยชนะหน้าหนึ่งของประชาชนที่มีอำนาจเหนือนักการเมืองหรือรัฐบาล แต่ชัยชนะขั้นต่อไปคือ ทำอย่างไร ที่ประชาชน ไม่จำเป็นต้องกรีทาทัพออกไป แต่ทำให้ 1 นาที ในคูหาเลือกตั้ง สามารถแสดงพลังเขี่ยนักการเมืองที่ไม่เหมาะสมออกไปได้เลย ทำให้ช่อง “ไม่ประสงค์จะลงคะแนน” เขี่ยนักการเมืองได้ใน 1 นาที เพื่อบอกให้พรรคการเมืองเหล่านั้น รู้ว่าคนที่ส่งมาไม่มีใครใช้ได้เลย” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว
รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ถ้าพรรคการเมืองเขาเจอแบบนี้ทั้ง 300 เขต 3 หน นี่ เขาต้องคิดหนักแล้ว ว่าจะต้องส่งคนที่ประชาชนต้องการจริงๆ และ 3,000 ล้านบาทที่ใช้ในการเลือกตั้งนี้ ไม่สูญเปล่า เพราะในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง เงินเหล่านั้น เข้ามาหมุนเวียนในระบบ เกิดการจ้างงาน สร้างงาน เขาต้องเอาไปทำป้าย ไปเดินสาย มันก็กลับมาสู่ในด้านการสร้างงาน สินค้า และผลิตภัณฑ์ และที่นักการเมืองเขาเข้ามา เขามาเอามาจากประชาชนไปเป็นหมื่นๆ ล้านแล้ว
"ดังนั้นประชาชนอย่าโดนหลอกว่า การไม่ประสงค์จะลงคะแนน ไม่มีความหมาย เพียงแต่ประชาชนต้อง สามัคคีกันให้มาก ไม่เช่นนั้นคะแนนจะพลิกขั้วไปอีกฝ่าย ดังนั้น ประชาชนแต่ละเขตต้องประชุมหารือกัน หากต้องการคนที่จะทำเพื่อประชาชนจริงๆ” นักวิชาการรายนี้ระบุ
รศ.ดร.เจษฎ์กล่าวด้วยว่าในต่างประเทศจะมีการประชุมกลุ่มคะแนนเสียง เมื่อประชาชนต้องการจะเปลี่ยนแปลงนักการเมืองและพรรคการเมือง
“ในหลายประเทศเกิดสิ่งที่เรียกว่าการประชุมของกลุ่มคะแนนเสียงแต่ละเขต เช่น เขตใหญ่ มีเขตย่อย 10 เขต ก็รวมพลังสามัคคีกัน ว่าจะไปกากบาทช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน ในกรณีปรกติ คือถ้าประชาธิปไตยเราเข้มแข็ง เราก็ไปเข้าคูหาปรกติ แต่ถ้าในกรณีที่เราต้องการล้มนักการเมือง ให้นักการเมืองถูกรื้อไปหมด ประชาชนก็ต้องสามัคคีกัน ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่อีก เราก็พร้อมจะเลือกตั้งใหม่ ดังนั้น เราต้องเรียนรู้ที่จะใช้เวลา 1 นาที นี้ให้มีอำนาจ แสดงให้นักการเมืองเห็นว่าอำนาจอยู่ในมือประชาชนอย่างแท้จริง แล้วเราไม่จำเป็นต้องเคลื่อนออกไปไหนเลย เพราะนักการเมืองจะเรียนรู้ว่าจะส่งคนเลอะๆ เทอะๆ มาไม่ได้ นี่คือ 1 นาทีที่มีพลัง เปรียบเหมือนใช้เวลาเพียง 1 นาทีแต่นักการเมืองตายหมดเลย” รศ.ดร.เจษฎ์กล่าว
ทั้งนี้ กรณีวันเลือกตั้งที่ถูกกำหนดว่าเป็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นั้น รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่าในความเห็นตนควรขยายกรอบเวลาโดยใช้มาตรา 187 ตามรัฐธรรมนูญ
“พระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งอ้างมาตรา 108 กับ 187 ที่บัญญัติว่า "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย” ซึ่งขณะนี้ มาตรา 108 เขาทำไปแล้ว คือ ไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน แต่หากเวลาน้อยแล้วยังเกิดปัญหา ยังมีหลายสิ่งที่ต้องแก้ไข ผมว่าเราสามารถใช้มาตรา 187 เพื่อขยายกรอบเวลาออกไปได้ ไม่เช่นนั้น หากเลือกตั้งกลับมาแล้วก็อาจเป็นปัญหา ซึ่งการใช้มาตรา 187 นั้น สามารถขยับกรอบเวลาที่เหมาะสมได้และไม่ขัดกับมาตรา 108” รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุ
สำหรับรายละเอียดของการขยายกรอบเวลาการเลือกตั้ง รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า “รัฐบาลต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งก็เขียนคล้ายๆ กันกับพระราชกฤษฎีกาที่รัฐบาลเขียนไว้ตอนยุบสภา แต่ในรายละเอียดของการเลื่อนระยะเวลาการเลือกตั้งนั้น เมื่อตราออกมาเป็นพระราชกฤษฎีกา รัฐบาลต้องแก้ไขในส่วนที่เป็นอารัมภบท โดยต้องเขียนอธิบายว่าหลายภาคส่วนในสังคม เห็นตรงกันว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 อาจจะก่อให้เกิดปัญหา จึงต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ขึ้น เพื่อเลื่อนวันเลือกตั้ง ส่วนจะเลื่อนเป็นวันไหนก็ตกลงกันว่าเมื่อไหร่คือเวลาที่เหมาะสม เมื่อตราเป็นพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้งแล้ว จากนั้นก็ตั้งเป็นมาตรา 1 มาตรา 2 มาตรา 3 ตามปรกติ”
รศ.ดร. เจษฎ์ กล่าวด้วยว่า ผู้ที่ต้องทำหน้าที่ในการเลื่อนกรอบระยะเวลาและทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาก็คือรัฐบาล “การขยายกรอบเวลาต้องไปแก้ในส่วนอรัมภบท ว่าตามที่ได้มีการทูลเกล้าพระราชกฤษฎีกา ฯ ตามมาตรา 108 และ 187 นั้น การณ์กลายเป็นว่าหลายภาคส่วนในสังคมขณะนี้ แสดงความห่วงใยว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ อาจก่อให้เกิดปัญหา หากเสนอไปตามช่องทางนี้ เป็นส่งที่ทำได้” รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุ