โอกาสจับผิดคนโกง 'กิตติศักดิ์'หนุนเลือกตั้ง เดินคู่การปฏิรูป
'สุเทพ' ให้แพทย์ชนบท ประสานตั้ง กปปส.ระดับจว. แก้ปัญหาประเทศโดยเร็ว 'บรรเจิด' ย้ำต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ชี้เลื่อนกำหนดได้ ไม่ขัดรธน. ด้าน 'กิตติศักดิ์' เห็นต่างไม่ควรกลัวเลือกตั้ง ใช้เป็นโอกาสจับผิดคนโกง เหมือนแมวไล่จับหนู
วันที่ 14 ธันวาคม 2556 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะกรรมการประชาชนเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จัดงานสมัชชามวลมหาประชาชน เพื่อเสวนาเรื่องสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. กล่าวบนเวที "สมัชชามวลมหาประชาชน" ตอนหนึ่งถึงความจำเป็นในการมีสภาประชาชนว่า เพื่อให้รัฐบาลเดินไปตามเสียงของประชาชน โดยไม่มีพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือชักใย ก่อนจะยืนยันคณะกรรมการ กปปส. ทุกคน ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และส่วนตัวย้ำอีกครั้งว่า จะไม่เป็นนักการเมืองตลอดชีวิต
นายสุเทพ กล่าวถึงการมอบหมายให้กลุ่มแพทย์ชนบท รับหน้าที่แกนหลักในการประสานงานในต่างจังหวัด รวบรวมทั้งอาสาสมัครด้านสาธารณสุข พ่อค้า ชาวนา เพื่อรวมตัวตั้งเป็น กปปส.ระดับจังหวัด เพื่อให้องค์กรประชาชนมีความเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้อย่างรวดเร็ว
จากนั้นมีการเสวนา โดยนักวิชาการ เช่น ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และแกนนำกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ นายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท โดยมีนายอภิชาติ ดำดี เป็นผู้ดำเนินรายการบนเวที
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า แท้จริงแล้วสภาประชาชนมีอยู่แล้ว จากการที่ประชาชนตื่นตัวขึ้น และลุกขึ้นเรียกร้อง แม้ว่าจะจัดตั้งด้วยการมีกฎหมายรองรับหรือไมก็ตาม แต่จะเป็นสภาที่มีอำนาจมากกว่าสภาตามกฎหมายใดๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรกลัวการเลือกตั้ง เพราะจะโอกาสให้ช่วยกันทำหน้าที่จับผิดคนโกง เหมือนแมวไล่จับหนู และให้มีการปฏิรูปประเทศควบคู่ไปด้วย
"การปฏิรูปประเทศครั้งนี้ควรเกิดขึ้นจากประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือองค์กรอิสระอย่างที่ผ่านๆ มา อย่างไรก็ตามการขจัดปัญหาที่หมักหมมในการเมืองไทยต้องใช้ระยะเวลา แต่สามารถทำได้โดยไม่ต้องรอกฎหมายใดๆ แต่เป็นกลไกที่ต้องใช้ใช้สติปัญหา ความรู้ ไม่ใช่กำลัง"
ขณะที่ดร.บรรเจิด กล่าวแสดงความเห็นว่า จะต้องมีการปฏิรูปก่อนที่จะเลือกตั้ง เนื่องจากประการแรก รัฐบาลหมดความชอบธรรม ไม่มีอำนาจให้มีการจัดการเลือกตั้ง จึงควรเปลี่ยนกติกา ให้มีการปฏิรูปเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นธรรม โดยทำให้ประชาธิปไตยมีต้นทุนต่ำ เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะปัจจุบันการทุจริตคอร์รัปชั่นมีความซับซ้อน ทั้งซื้อเสียงโดยตรง และผ่านการออกนโยบายประชานิยม
"การเลือกตั้งเปรียบเสมือนการเลือกสีมาทาบ้าน แต่สิ่งที่ประชาชนทุกคนต้องการขณะนี้คือการรื้อโครงสร้างบ้านใหม่ทั้งหมด เพราะปัจจุบันบ้านทรุดโทรมมาก ดังนั้น การเลือกตั้งจึงไม่สามารถตอบโจทย์ได้ในขณะนี้ จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเสียก่อน" ดร.บรรเจิด กล่าว และว่า ส่วนที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาออกมาบอกว่า การเลื่อนการเลือกตั้งทำไม่ได้นั้น แท้จริงแล้วในทางกฎหมายกำหนดวันเลือกตั้งก็สามารถเลื่อนได้ เช่น หากมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ก็ต้องเลื่อนออกไปเพื่อให้พร้อมกันทั่วประเทศ ดังนั้น จึงสามารถเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งได้ มีเหตุให้เลื่อนได้โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
สำหรับแนวทางปฏิรูปประเทศ ดร.บรรเจิด กล่าวถึงโมเดลการปฏิรูปจากประเทศฝรั่งเศส ที่ประชาชนร่วมกับทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ฯลฯ ในการปฏิรูปประเทศ ก่อนการเลือกตั้ง โดยไม่รอให้ไทยเดินตามรอยโมเดลของประเทศเยอรมนี ที่ต้องรอให้ประเทศพังเสียก่อน จึงจะมีการปฏิรูปได้
"หากการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากการเห็นพ้องต้องกัน อาจเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 ที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 18,000,000 คน แต่มีคนออกเสียงแบบไม่ลงคะแนนถึง 9,000,000 คน และมีบัตรเสียอีก 1,000,000 ใบ แสดงว่ามีคนไม่ประสงค์ลงคะแนนเกิดกึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิ์ จึงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ" คณบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า กล่าว และว่า หากการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้มาจากฉันทามติที่ประชาชนเห็นพ้องร่วมกันทั้งหมด ก็อาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้เช่นกัน