นักวิชาการหนุนเติมข้อกฎหมาย ให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ
หมอพลเดช หนุนให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ แจงทำได้ตามหลักการ เติมประโยคเพิ่มเติมในมาตราที่เกี่ยวข้อง ใช้ค่าความเสียหายเป็นตัวชี้วัดความสำคัญ ผอ.ต่อต้านคอร์รัปชั่น ชี้ไทยต้องทำตามอนุสัญญาสหประชาชาติฯ UN-CAC
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) และในฐานะผู้ทำงานปฏิรูป เพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ถึงข้อเสนอหนึ่งในข้อเสนอการปฏิรูปประเทศของคณะกรรมการประชาชนเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่เสนอให้คดีทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นคดีที่ไม่มีอายุความ ว่า เห็นด้วย และมองว่าทั้งในทางหลักการ และทางปฏิบัติสามารถทำได้ไม่ยาก ประเทศไทยใช้กฎหมายอาญาที่มีเรื่องอายุความกำหนด ก็เพียงเพิ่มประโยคกำหนดให้ยืด หรือไม่มีอายุความลงไปในมาตราที่เกี่ยวข้อง
"การกำหนดให้คดีทุจริตคอร์รัปชั่นไม่มีอายุความสามารถทำได้ โดยวางหลักการ 1.แก้ไขคดีทุจริตคอร์รัปชั่นให้ไม่มีอายุความ จนกระทั่งสามารถดำเนินคดีได้ 2.กำหนดโดยใช้ความรุนแรง หรือค่าความเสียหาย เป็นตัวชี้วัดว่าคดีใดจะเข้าข่ายบ้าง เพราะหากกำหนดในทุกคดี ครอบคลุมทั้งหมดจะมากเกินไป และไม่สามารถชี้วัดได้ว่า คดีใดมีความสำคัญเร่งด่วน ส่วนว่าจะขีดเส้นค่าความเสียหายเท่าใดนั้น เป็นหน้าที่ของฝ่ายวิชาการต้องไปศึกษา ทั้งจากกรณีตัวอย่างของบางประเทศ หรือตามหลักเศรษฐศาสตร์"
นพ.พลเดช กล่าวถึงการถกเถียงในสังคมช่วงนี้ที่ว่าจะปฏิรูป ทำข้อตกลงก่อนหรือหลังการเลือกตั้งนั้น เป็นความสับสนระหว่างเนื้อหาสาระ กับกลไก กระบวนการ
"สิ่งที่ควรพูดคุยกันขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องเนื้อหา สาระ รายละเอียดมากมาย เพราะช่วงนี้เรามีรัฐบาลรักษาการเพียง 2 เดือน ควรทำแค่เรื่องใหญ่ๆ หากเถียงกันที่เรื่องรายละเอียดที่เห็นต่างกันค่อนข้างมาก จะไม่สามารถเดินหน้าไปไหนได้ ยกเว้นจะยอมให้ยืดอายุรัฐบาลรักษาการไป 6 เดือน หรือ 1 ปี แล้วให้มีคนกลางมารักษาการแทน จึงจะสามารถวางรากฐานการเมืองระยะยาว จัดการเรื่องการเมืองระยะสั้น หรือการปฏิรูปประเทศไทยทั้งระบบได้ แต่ที่เน้นย้ำคือ ขณะนี้รัฐบาลรักษาการไม่มีเวลา หรืออำนาจหน้าที่พอที่จะแบกรับเรื่องใหญ่ๆ หรือรายละเอียดมากขนาดนั้นได้ ต้องรอรัฐบาลจริง รัฐสภาจริงเสียก่อน"
นพ.พลเดช กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สังคมส่วนใหญ่เริ่มเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น และการปฏิรูปประเทศแล้ว ประชาชน "ซื้อ" แนวคิดเหล่านี้แล้ว เช่นเดียวกับพรรคการเมืองก็เริ่มเห็นด้วย ไม่ว่าจะโดยจำใจหรือเต็มใจก็ตาม จากนี้ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากการเปลี่ยนแปลงยึดอำนาจ หรือที่มาจาการเลือกตั้ง วาระเรื่องเหล่านี้จะยังอยู่ และคาดหวังว่าจะมีการขับเคลื่อน เดินหน้าอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรม โดยที่มีเรื่องแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นอันดับต้นๆ
"สมัชชาปฏิรูป เคยมีข้อเสนอในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่หลายเรื่อง เช่น 1.ให้มีกองทุนสนับสนุนพลังพลเมือง ซึ่งจะเป็นกลไกการตรวจสอบที่สำคัญมาก 2.การใช้มาตรการภาษีย้อนหลัง การตรวจสอบบัญชีนักการเมือง ที่ ป.ป.ช. และสรรพากรต้องทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง หากใช้มาตรการนี้ ไม่ต้องแก้กฎหมาย 3.ควรศึกษาให้มีหน่วยงานพิเศษแบบหน่วยงานจัดเก็บภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ IRS (Internal Revenue Service) 4.ถ้ามีคดีค้างอยู่จำนวนมาก ทั้งที่ ป.ป.ท. และที่ ป.ป.ช.เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีศาลคดีคอร์รัปชั่น"
ขณะที่ ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่าควรมีการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชั่น เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายที่มีอยู่ รวมถึงกฎหมายของ ป.ป.ช.มีปัญหาในทางปฏิบัติ ดังนั้น เมื่อไทยเป็นสมาชิกของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 (UN-CAC) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ทุกประเทศสามารถยืดอายุคดีทุจริตคอร์รัปชั่น หรือทำให้คดีเหล่านี้ไม่มีอายุความได้ แต่ภายหลังที่ไทยลงนามในอานุสัญญาดังกล่าวมากว่า 10 ปี มีความพยายามจะร่างกฎหมาย 3 ฉบับ และถูกตั้งเรื่องเข้า ครม.แล้วกลับถูกปัดทิ้งไปทุกครั้ง ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับอายุความในคดี ที่กำหนดให้ยาวนานกว่าคดีทั่วไป
"ส่วนมากคดีทุจริตใหญ่ของนักการเมืองมีอายุความ 10 ปี ทั้งที่ในอนุสัญญาบางคดีอายุความต้องสะดุดหยุดลงด้วย โดยเฉพาะบรรดานักโทษการเมืองที่หนีไปอยู่ต่างประเทศ ให้หยุดไว้ไม่นับ กระทรวงยุติธรรมพยายามเสนอกฎหมายเหล่านี้ ก็ไม่ผ่าน ถูกดองมาตลอด เพราะนักการเมือง ข้าราชการขวางทางไว้" ดร.มานะ กล่าว และว่า ตามอนุสัญญาฯ สามารถทำได้ทั้งแบบยืดอายุคดีความคอร์รัปชั่นไปให้ยาวนานกว่าปกติ และหากคดีใดที่มีเหตุสะดุดหยุดลง ให้หยุดการนับอายุความ ซึ่งเมืองไทยจะใช้ทางใด นักวิชาการด้านกฎหมายจะต้องถกเถียงกันต่อไป