กูรู กม.การคลัง แนะป้องกันรัฐใช้เงินมือเติบ ต้องย้อนยุคใช้ยาแก้แบบโบราณ
'เฉลิมชัย วสีนนท์' มองการใช้เงินนอกงบฯ ขาดการควบคุม-ตรวจสอบ ลดบทบาทสำนักงบฯ หวั่นรั่วไหล แนะใช้ยาโบราณ 'หลักความครบถ้วนของงบประมาณ' แก้ปัญหาการใช้จ่าย
วันที่ 13 ธันวาคม 2556 ภาวิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง "ปัญหากฎหมายการคลังในปัจจุบัน" ณ ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมี ดร.เฉลิมชัย วสีนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ และกฎหมายการคลัง ขึ้นกล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งที่กล่าวถึงการใช้เงินนอกงบประมาณในปัจจุบันว่า เป็นการใช้แบบที่ขาดการควบคุม ขาดการตรวจสอบมาก ทั้งที่ตามแผนงานและตามงบประมาณต้องผ่านการวิเคราะห์จากองค์กรเฉพาะ นั่นคือ สำนักงบประมาณ
"สำหรับเงินกู้ทั้งหลาย จริงอยู่ว่าในทางปฏิบัติอาจให้สำนักงบประมาณเข้ามาร่วมด้วย แต่ก็เป็นเรื่องทางข้อเท็จจริง ไม่ใช่ในทางกฎหมาย เท่ากับว่า ในทางกฎหมายเป็นการตัดบทบาทความรอบคอบ ซึ่งการใช้จ่ายไม่รอบคอบ ส่งผลให้เกิดข้อสงสัยว่า เงินก้อนใหญ่นี้อาจรั่วไหลได้มาก อันเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเมืองขณะนี้ คือปัญหาคอร์รัปชั่น"
ดร.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า แม้งบประมาณของไทย ส่งผลต่อบทบาททางเศรษฐกิจโดยรวมไม่มากนัก เนื่องจากมีไม่เกิน 20% ของจีดีพีเท่านั้น แต่ก็เป็นจำนวนเงินจำนวนมากพอที่เกิดการคอร์รัปชั่นได้ โดยเฉพาะในทางนโยบาย ซึ่งเป็นปัญหาที่เรียกร้องกันอยู่ในปัจจุบัน
"ผมขอให้พิจารณาทบทวน ทฤษฎี หลักความครบถ้วนของงบประมาณ ที่ทุกรายการ ทุกจำนวนต้องปรากฏในงบประมาณ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไปทางงบประมาณ ไม่ใช่ว่าผมคิดขึ้นมาเอง เป็นหลักหนึ่งในวิชาการคลัง ที่ผมคิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่ต้องหยิบยกทฤษฎีนี้ขึ้นมาใช้
การใช้จ่ายที่เกิดปัญหาในปัจจุบันอาจต้องย้อนยุคไปใช้ยาแก้แบบโบราณบ้าง เพราะหากปล่อยให้ออกข้อยกเว้น ตรากฎหมายใหม่มาอ้าง มารับรอง ผมว่าเราจะไม่มีกรอบ จะกลายเป็นลูกที่พ่อแม่แยกทางกัน ขอเงินพ่อที ขอเงินแม่ที ใช้เงินงบประมาณบ้าง เงินกู้บ้าง ท้ายที่สุดจะเสียผู้เสียคน"
ดร.เฉลิมชัย กล่าวถึงหลักความครบถ้วนของงบประมาณเพิ่มเติมว่า สามารถใช้ได้โดยเฉพาะกับการใช้จ่ายในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ที่มีการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยใช้ทั้งหมด 7 ปีนั้น สามารถทำให้เข้าไปอยู่งบประมาณได้ แบบงบประมาณข้ามปี
"ระบบงบประมาณครบถ้วนทำได้หมด เช่นตั้งงบประมาณในปีนี้ สามารถให้เหลือใช้ได้ข้ามปี ทำได้ทั้งนั้น หากคิดจะทำให้อยู่ในงบประมาณ แต่หากไม่คิดก็คงบอกว่าทำไม่ได้"
ภาพประกอบจาก www.spu.ac.th