เวทีชาวบ้านพบพรรคการเมืองคึกคัก นักวิชาการชี้อย่าปล่อยลมปากหาเสียงกลบปัญหาปากท้อง
6 พรรคใหญ่ร่วมเวทีลงนามสัญญาประชาคม นักวิชาการระบุนโยบายพรรคแค่หวังคะแนน ไม่มีปัญญาทำจริงหรือก่อหนี้บาน ชาวบ้านเรียกร้องคุ้มครองพื้นที่จากนายทุน-หนุนเกษตรกรรมยั่งยืน กระจายถือครองที่ดิน เผยไม่เชื่อลมปากนักการเมือง แต่ต้องการส่งสารถึงสังคมช่วยขับเคลื่อน
วันที่ 24 มิ.ย. 54 เครือข่ายภาคประชาชนกว่า 40 องค์กร จัดโครงการรณรงค์เลือกตั้ง 2554 “เวทีสัญญาประชาคม ประชาชนพบนักการเมือง” ที่มหาวิทยาลัยรังสิต มีนักศึกษา ประชาชน นักวิชาการ และนักพัฒนาเอกชน เข้าร่วมกว่า 3,000 คน มีการอภิปรายวิชาการเรื่อง “วิพากษ์นโยบายพรรคการเมืองกับการแก้ปัญหาของประชาชน”
โดย ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อดีตคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย(คปร.) กล่าวว่านโยบายพรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่ได้แก้ปัญหาจริงจัง แต่เป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม คนยากจนก็จะยิ่งจนลงเรื่อยๆ อำนาจการต่อรองของประชาชนกับรัฐก็ลดลงด้วย แม้พรรคเล็กบางพรรคมีนโยบายที่เข้าตาอยู่บ้าง แต่โอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งนั้นมีน้อยมาก
“นโยบายที่มีการทุ่มเงินมหาศาล จะเกิดปัญหาการโกงกินและคอรัปชั่น เพราะประชาชนจะเข้าไปตรวจสอบได้ยาก” ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว
นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของคนยากจนคือการเข้าไม่ถึงการจัดการทรัพยากร ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยให้โอกาสคนจนมีสิทธิ์มีเสียง แต่คนจนกลับตกเป็นจำเลยสังคม เช่น กรณีบุกรุกที่ดินทำกินหรือพื้นทับซ้อนในอุทยานแห่งชาติ
“สิ่งเราต้องการมากที่สุดคือ การเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต มีอำนาจในการกำหนดวิถีการผลิตด้วยตนเอง การมีชีวิตที่ดี และการเข้าถึงทรัพยากร”
นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน กล่าวว่า 20% ของกลุ่มคนที่รวยที่สุด และกลุ่มคนที่จนที่สุดในประเทศไทย มีรายได้เฉลี่ยต่างกันถึง 15 เท่า มีทรัพย์สินต่างกันถึง 70 เท่า เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการกระจายรายได้ เพราะการถือครองทรัพยากรตกอยู่ในมือของคนกลุ่มเดียว สิ่งที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องทำคือ ต้องกระจายทรัพยากรให้คนจนให้มีที่ดินทำกินของตนเอง รัฐควรมีมาตรการการจัดเก็บภาษีจากการถือครองที่ดินและภาษีมรดกในอัตราก้าวหน้า เพื่อนำมาจัดสวัสดิการสังคม ซึ่งยังไม่เห็นจากนโยบายพรรคใด
"ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานและมีโอกาสได้เล่าเรียนสูงสุดตามความตั้งใจ มีสิทธิ์ในที่ดินทำกิน คนชรามีสิทธิ์ได้รับบำนาญ มีสิทธิได้รับการคุ้มครองในภาวะว่างงาน มีสิทธิในการรักษาพยาบาลด้วยมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน ที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง” อ.จอน กล่าว
ดร.สุริยชัศ.ดร.สุริชัย หวั่นแก้ว คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่มีนโยบายหาเสียงเพียงแค่หวังคะแนนจากการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะแต่ละนโยบายต้องลงทุนสูงจนไม่รู้จะเอางบประมาณจากส่วนไหนมาทำ หรือจะก่อให้เกิดหนี้สาธารณะ และปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นยังไม่ใช่เพียงเรื่องวัตถุ แต่รวมถึงเรื่องจิตใจ วัฒนธรรม ความคิด เป็นปัญหาโครงสร้างเชิงอำนาจ
“โครงสร้างในปัจจุบันทำให้คนแปลกแยกเหมือนไม่ได้อยู่บนผืนดินเดียวกัน ยิ่งเวลาพูดปัญหากับนักการเมืองเหมือนยืนอยู่กันคนละโลก คนรวยมองไม่เห็นปัญหาของคนจน”
ดร.สุริยชัย ยังกล่าวว่าคุณภาพประเทศไทยไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า มีนายกฯเป็นใคร เพศไหน แต่อยู่ที่ว่าจะแก้ปัญหาปากท้องประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน อย่าปล่อยให้สีสันและบรรยากาศหาเสียงการเมืองทำให้หลงลืมปัญหาที่แท้จริงของสังคม
นอกจากนี้ยังมี “เวทีประชาชนเสนอนโยบายต่อพรรคการเมือง” โดยมี 6 พรรคการเมืองได้แก่ ได้แก่ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา การเมืองใหม่ และมาตุภูมิ เข้าร่วมรับฟังข้อเสนอ ทั้งนั้นตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรได้เสนอให้มีนโยบายกระจายการถือครองที่ดินจากนายทุนสู่เกษตรกรและจัดตั้งธนาคารที่ดิน รวมถึงภาษีอัตราก้าวหน้า โดยมีการเก็บภาษีจากการใช้ที่ดินผิดประเภท เช่น การตั้งโรงงานที่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือการถือครองเพื่อหวังเก็งกำไรในอัตราที่สูง และยังเรียกร้องนโยบายคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมจากบุกรุกของภาคอุตสากรรม
นายบุญส่ง มาตรขาว ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน เรียกร้องให้ดูแลปัญหาเกษตรกรรายย่อยที่กำลังจะหายไปจากสังคม จากการบุกรุกพื้นที่และผูกขาดปัจจัยการผลิตของกลุ่มทุน ทั้งเมล็ดพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ และปุ๋ย ก่อปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยเรียกร้องรัฐบาลสนับสนุนการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนให้ทัดเทียมกับเกษตรกรรมเคมี
ด้านตัวแทนแรงงาน เสนอให้แก้กฎหมายรองรับการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อให้ลูกจ้างมีสิทธิ์เรียกร้องความเป็นธรรมกับนายจ้างได้ และมีการปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อให้มีสิทธิรักษาได้ทุกโรงพยาบาลและมีมาตรฐานเดียวกันภายใต้การบริหารจัดการแบบโปร่งใสเป็นธรรม ให้สิทธิแรงงานเลือกผู้แทนราษฎรในเขตที่พักอาศัยด้วย
ตัวแทนเครือข่ายผู้พิการเพื่อการปฏิรูป เสนอให้ส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อผู้พิการ เช่น ระบบการขนส่งและอาคาร รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคทัดเทียมกัน และการมีจิตสาธารณะในสังคม
นอกจากนี้ยังมีตัวแทนประชาชนจากเครือข่ายอื่นๆ ร่วมเสนอปัญหาและข้อเรียกร้อง เช่น กลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะบุคคลและสัญชาติ ขอโอกาสเข้าถึงสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล การศึกษา การเดินทางออกนอกพื้นที่ และขอสัญชาติไทย
จากนั้นมีการลงนามสัญญาประชาคมเพื่อรับข้อเสนอระหว่างเครือข่ายองค์กรประชาชนกับ 6 พรรคการเมือง และแต่ละพรรคได้ขึ้นปราศรัย อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าจะเดินหน้ากฎหมายภาษีที่ดินและมรดกอัตราก้าวหน้าและสานต่อนโยบายโฉนดชุมชน จะเปิดโอกาสให้ประชาชนจดทะเบียนหนี้นอกระบบ และจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน รวมทั้งขึ้นค่าแรงที่เป็นธรรม และปฏิรูประบบประกันสังคม ส่วนนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าประชาชนจะมีสิทธิในที่ดินทำกิน หนี้สินเกษตรกรจะได้รับการดูแล แรงงานจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำเท่าเทียมกันทั่วประเทศ
ทั้งนี้ตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลได้เปิดเผยต่อศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ว่าการมารวมตัวกันในวันนี้ก็ไม่ได้มั่นใจว่ารัฐจะสามารถแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้หรือไม่ เพราะได้เสนอปัญหาเดียวกันนี้มาทุกรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลรับปากแต่แก้ไขไม่ได้ เพราะชนชั้นใดร่างกฎหมาย ก็มักจะปกป้องผลประโยชน์ของชั้นนั้น แต่อย่างน้อยวันนี้ก็เป็นการส่งเสียงไปถึงสังคมโดยรวม
จากนั้นเครือข่ายภาคประชาชนได้อ่านคำประกาศเจตนารมณ์ต่อการเลือกตั้ง 2554 ร่วมกัน(อ่านได้ในล้อมกรอบท้ายข่าว).
............................
(ล้อมกรอบ)
คำประกาศเจตนารมณ์ เครือข่ายประชาชน 40 องค์กรต่อการเลือกตั้ง 2554
พวกเราในนามเครือข่ายประชาชน 40 องค์กร ซึ่งได้ร่วมกันจัดโครงการรณรงค์เลือกตั้ง 2554 “เวทีสัญญาประชาคมพบพรรคการเมือง” เพื่อนำเสนอปัญหาข้อเรียกร้องของประชาชนต่อพรรคการเมืองตามวิถีของระบอบประชาธิปไตย เพื่อตรวจสอบว่านโยบายของพรรคการเมืองเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน หรือไม่ อย่างไร และรณรงค์ข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศให้พรรคการเมืองนำไปปฏิบัติและสร้างกลไกเชื่อมประสานเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ในการหนุนเสริมให้เกิดการแก้ไขปัญหาประชาชนและผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประเทศที่สร้างความเป็นธรรมและเท่าเทียมทางสังคม ในวันนี้ ณ ห้องประชุมนันทนาการ ม.รังสิต เราขอแถลงการณ์ท่าทีและข้อเรียกร้องต่อกรณีดังกล่าวดังนี้
1.เราเห็นว่าการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 นั้น ปัญหาของประเทศ ความเดือดร้อนของประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐทั้งหลาย คือสิ่งที่พรรคการเมืองทั้งหมดและรัฐบาลใหม่ที่จะมาหลังจากการเลือกตั้ง จะต้องเผชิญกับความทุกข์ยากของแผ่นดินและเป็นหน้าที่ในการหาทางออกเพื่อการแก้ไขปัญหาร่วมกับประชาชนอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ บทเรียน 79 ปี ของเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมา ย่อมประจักษ์ชัดแล้ว การเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ได้ดำเนินการไปสู่ความมุ่งมาดปรารถนาของคณะราษฎร อันจะนำพามาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนทั้งแผ่นดินอย่างแท้จริง
2.เราขอยืนยันว่า ความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างและความไม่ธรรมทางสังคม ย่อมแก้ไขได้ หากพรรคการเมืองที่ได้รับฉันทานุมัติให้เข้ามาใช้อำนาจรัฐการปกครอง ยอมรับและเข้าใจในปัญหา มีนโยบายที่จะเอาปัญหาของประชาชนเป็นตัวตั้ง ปรับโครงสร้างกฎหมายนโยบายให้สอดคล้อง ด้วยการกระจายทรัพยากร สิทธิ โอกาสและรายได้ ภายใต้หลักการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ชุมชนมีอำนาจในการจัดการในทุกระดับ อันจะนำมาซึ่งการพึ่งตนเองได้ในที่สุด
3.เราเห็นว่า “เวทีสัญญาประชาคมประชาชนพบพรรคการเมือง” ในวันนี้ จะนำมาซึ่งความร่วมมือระหว่างพรรคการเมือง ผู้ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน กับพวกเราเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันหาทางออกในการแก้ไขปัญหาประเทศ ปฏิรูปโครงสร้างทั้งระดับนโยบายและรูปธรรมรายกรณี อันจะนำมาซึ่งความเป็นธรรมและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในประเทศ
ท้ายที่สุด เราเห็นว่าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของคนจน อันเป็นความทุกข์ของแผ่นดิน และภารกิจการปฏิรูปประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ความเท่าเทียมทางสังคมนั้นจะสำเร็จบรรลุเป้าหมายของระบอบประชาธิปไตยของประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชน ได้นั้น ก็ด้วยความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวของพวกเราที่จักต้องร่วมกันต่อสู้จนกว่าชัยชนะจักเป็นของเราในที่สุด
ด้วยจิตสมานฉันท์และเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนต้องกำหนดอนาคตตนเองประกาศเครือข่ายองค์กรประชาชน 40 องค์กร ประกาศ ณ ห้องประชุมนันทนาการ มหาวิทยาลัยรังสิต วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2554
ร่วมประกาศเจตนารมณ์โดยเครือข่ายองค์กรประชาชน 40 องค์กร ได้แก่
1.คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) 2.สำนักงานปฏิรูป (สปร.) 3.คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) 4.สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) 5.เครือข่ายศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ 6.สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สคปท.) 7.ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) 8.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) 9.เครือข่ายสลัม 4 ภาค 10.ชมรมปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ (ปสล.) 11.เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คป.สม.) 12.สมัชชาคนจน (สคจ.) กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี 13.เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 14.เครือข่ายกลุ่มสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จังหวัดลำปาง 15.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อุดรธานี 16.กลุ่มผู้เดือดร้อนจากโครงการสวนป่าพิบูล จังหวัดอุบลราชธานี 17.ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกัน 18.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยภาคเหนือ( คปท.เหนือ) 19. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) 20. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) 21.ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน 22.ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) 23.เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 24.เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก 25.กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก-หินกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 26. เครือข่ายคนไทพลัดถิ่น 27.สภาองค์กรชุมชน 28.เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ 29.สภาผู้พิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย 30.กลุ่มเพื่อนประชาชน (FOP.) 31.กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่น (Local Act) 32.กลุ่มปฏิบัติงานคนจนเมือง 33.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ 34.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 35.สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค 36.มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) 37.คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) 38.ฝ่ายพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต 39.มูลนิธิชุมชนไท 40. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) .