องค์กรเอกชนเสนอทางออก-ปฏิรูปประเทศ ย้ำตกลงให้ได้ก่อนเลือกตั้ง
ส.ออกแบบประเทศไทย-องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น-สช.-องค์กรสื่อ- ร่วมเสนอทางออก-แนวทางปฏิรูปประเทศ แนะรอจังหวะที่เหมาะสม ทำข้อตกลงให้ได้ก่อนเลือกตั้ง หวั่นนักการเมืองแกล้งลืม
วันที่ 12 ธันวาคม 2556 องค์กรเอกชน อาทิ สถาบันออกแบบประเทศไทย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ฯลฯ ร่วมจัด เสวนา "พลังภาคประชาชน ทางออกประเทศไทย ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม" ณ หอประชุมพุทธคยา อาคารอัมรินทร์ พลาซ่า
โดยมี นายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ กรรมการสถาบันออกแบบประเทศไทย ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผอ.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมเสวนา
นายธราดล กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยจากมุมคิดของสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย มองว่า ควรปฏิรูป 3 ด้าน 9 ประเด็น ประกอบด้วย ได้แก่ 1.ปฏิรูปการเมือง การปกครอง และธรรมาภิบาล ทั้งปฏิรูปภาคการเมือง ที่มีระบบถ่วงดุลอำนาจ กำหนดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ปฏิรูประบบราชการและกระจายอำนาจ ให้ปลอดจากการเมือง ปฏิรูประบบยุติธรรม ปฏิรูประบบตรวจสอบอันเข้มข้นจากภาคประชาชน เพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่น ฉ้อราษฎร์บังหลวง และปฏิรูปสื่อสารมวลชน
2.ปฏิรูปสวัสดิการสังคม และการศึกษา จัดเก็บภาษีอย่างทั่วถึง มุ่งสังคมสวัสดิการ และให้โอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม และ 3.ปฏิรูปเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ ให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม
ด้านดร.มานะ กล่าวถึงกฎหมายที่ใช้จัดการกับการทุจริตคอร์รัปชั่นทำได้ยาก มีปัญหาในการบังคับใช้ ฟ้องร้องคดีและลงโทษได้ยาก ทำให้ไม่สามารถนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ ทั้งนี้ ตามกฎหมายมีหลายมาตราที่บัญญัติไว้แล้ว แต่ถูกมองข้าม ไม่นำมาบังคับใช้ เช่น มาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และกฎหมาย ป.ป.ช.หลายมาตราเสนอรัฐบาลแล้วก็ตกไป ไม่ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง
"จะเห็นได้ว่า กลไกทางกฎหมายทั้ง 2 ทางก็เป็นหมัน ดังนั้น ควรใช้โอกาสนี้ทำการตกลงเรื่องข้อเสนอต่างๆ รวมถึงการปฏิรูปให้ได้ก่อนการเลือกตั้ง ไม่อย่างนั้นนักการเมืองจะแกล้งลืม มองข้ามไปอย่างที่เคยเป็นมาเสมอ เช่น โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 2 ล้านล้านบาท ที่มักอ้างเสมอว่าให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบโครงการ แต่แท้จริงแล้วไม่เคยมีโอกาสได้เข้าไปมีส่วนร่วมใดๆ เลยสักครั้ง"
ขณะที่นพ.อำพล เสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยไว้ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ประชาธิปไตยแบบตัวแทน จากที่ผ่านมานักการเมืองถืออำนาจที่ได้รับจากประชาชนในฐานะผู้แทนเป็นสิทธิ์ขาด จะทำอะไรก็ได้ คิดถึงแต่ประโยชน์ข้างบน ไม่ได้สร้างความผาสุกให้คนข้างล่าง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น ดังนั้น ต้องปฏิรูปด้วยการสร้างระบบควบคุมกำกับการทำงานระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าไปมีบทบาท รับฟังความเห็นประชาชนในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะโครงการใหญ่ๆ ของประเทศ เพราะอำนาจต่างๆ นั้นยังอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
2.พลิกกลับสามเหลี่ยมอำนาจโดยการกระจายอำนาจ จากอำนาจรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง ซึ่งไม่สมดุล ต้องพลิกกลับสามเหลี่ยมอำนาจให้สมดุล โดยการพลิกคืนอำนาจในการตัดสินใจ การบริหารจัดการทรัพยากรให้กับชุมชน ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขในพื้นที่ เมื่อเกิดผลเสียรัฐไม่ได้ไปร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วย
3.ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม รัฐธรรมนูญ 2540-2550 ในหมวดสิทธิชุมชน ระบุไว้ชัดเจนว่า รัฐจะต้องสนับสนุนการมีส่วนร่วม การตัดสินใจ การวางนโยบาย การพัฒนาประเทศ การตัดสินใจสาธารณะ และมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ ดังนั้น ควรสร้างระบบและกลไกนี้ขึ้น
4.พลังพลเมือง ที่ต้องคอยเฝ้าระวังตรวจสอบ เพราะบ้านเมืองจะดีขึ้นได้จากพลังพลเมืองอิสระ หากส่งเสริมด้านนี้มากๆ พลังนี้จะเป็นตัวกำกับประชาธิปไตยแบบตัวแทนได้
ด้านนายวีระศักดิ์ กล่าวว่า การยื่นเงื่อนไขเพื่อหาทางออกให้สังคมขณะนี้ เรื่องจังหวะที่ดีมีความสำคัญอย่างมาก ต้องค่อยๆ เปลี่ยนแปลง หรือยื่นข้อเสนอบางอย่างที่สามารถทำได้ในช่วงจังหวะนั้นๆ เปรียบเสมือนกับการให้ยา ต้องเลือกว่ายาชนิดไหนจะเหมาะสมกับอาการขณะนี้ อาจต้องเริ่มจากยาที่ไม่ขมมาก อย่างยาเรื่องคอร์รัปชั่นสำหรับเวลาอาจจะขมเกินไปจนเกิดอาการคาย แทนที่จะกลืน จึงอาจเริ่มจากวิตามินเม็ดเล็กๆ ให้รู้ว่าการรักษานั้นไม่ยากลำบาก ไม่ขม ก็จะยอมรับมากขึ้น พูดคุยต่อรองกันได้มากขึ้น
ในด้านสื่อสารมวลชน นายจักร์กฤษ กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสื่อไม่เพียงพอ และสื่อฯ ก็ไม่สามารถมีจุดยืนได้ เนื่องจากปัจจุบันนี้ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป มีปัจจัยที่ไม่สามารถนำเสนอรายงานสถานการณ์โดยละเอียดครบถ้วนเช่นเดียวกับทีวีเคเบิลที่เป็นสื่อทางเลือกได้ รวมถึงมีการใช้วาทกรรมหรือถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง เมื่อสื่อนำเสนอสิ่งเหล่านี้ไปสู่ประชาชนมากๆ บวกกับความรู้สึกที่ไม่ดีอยู่แล้ว อาจจะนำพาไปสู่ความรุนแรง เช่นเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ขณะที่นายประดิษฐ์ กล่าวว่า ท่ามกลางวิกฤตที่ประเทศเราเจอตอนนี้ ไม่มีองค์กรใดหรือหน่วยงานใดสามารถทำการแก้ไขปฏิรูปได้โดยลำพัง เพราะวิกฤติครั้งนี้ซับซ้อน มีตัวแปรมาก และมีความเชื่อมโยงที่หลากหลาย ทำให้อ่านเกมไม่ออก การจะให้เพียงองค์กรเดียวมาเปลี่ยนแปลงจึงทำได้ยาก อีกทั้งยังมีชุดความคิดในการปฏิรูปที่หลากหลาย ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องค้นหาหนทางที่จะสร้างความร่วมมือไปสู่การปฏิรูปประเทศในระยะยาว โดยการแชร์พลัง ความตั้งใจ และความคิด ร่วมกัน และตนเชื่อว่าประชาชนที่ออกมาจำนวนมากในครั้งนี้เป็นต้นทุนอันสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่สิ่งที่ดีกว่า "เป็นการสร้างแผ่นดินที่อบอุ่นให้คนไทยอยู่"
"ทุกคนเชื่อมั่นในระบบการเลือกตั้ง และเห็นว่าควรมีการเจรจาของทุกฝ่าย เพื่อกำหนดเงื่อนไขให้ได้ก่อนตั้งแต่ยุบสภาจะเป็นคุณอย่างมาก แต่เมื่อยุบสภาไปแล้วหลายคนก็ยังอยากให้มีการหาข้อกำหนดในการปฏิรูปก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เช่น เสียงจากปลัดกระทรวงที่เสนอให้พรรคการเมืองต่างๆ ร่วมทำสัญญาประชาคมว่าจะร่วมกันปฏิรูปแก้ปัญหาใหญ่ของประเทศ"