จับสัญญาณ "เหลือง-แดง" กับข้อเสนอ "หน.ส่วนราชการ"
ความเคลื่อนไหวของ “หัวหน้าส่วนราชการ” ซึ่งประชุมกันที่อาคารที่ทำการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา ก่อนจะออกแถลงการณ์แสดงจุดยืน โดยเฉพาะข้อ 3 ที่มีเนื้อหาว่า
"การแก้ปัญหาความขัดแย้งเวลานี้ ไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการเลือกตั้งแต่เพียงลำพัง ที่ประชุมเห็นว่า ควรมีการหารือร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายในความขัดแย้ง บนพื้นฐานของสันติวิธีก่อนการเลือกตั้ง เพื่อแสวงหาสัญญาประชาคมว่า ในอนาคตจะมีแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยที่เป็นรูปธรรมอย่างไร เพื่อการแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืน"
ข้อเรียกร้องของบรรดาบิ๊กข้าราชการ ที่ต้องการให้ทำ "สัญญาประชาคม" เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ก่อนจะมีการเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มีความน่าสนใจยิ่ง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จึงหยิบประเด็นดังกล่าวมาสอบถามคู่ขัดแย้ง “เหลือง-แดง” เพื่อตอบคำถามถึงความต้องการของ “บิ๊กข้าราชการ”
นายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ถ้าจะมาทำสัญญาประชาคมให้มีการปฏิรูป ตนก็อยากถามว่าคนที่จะมาทำเอาอำนาจอะไรมาทำ ตนเข้าใจว่าเป็นข้อเสนอของข้าราชการที่อยากให้ประเทศเดินหน้าไปได้ แต่มันมีปัญหาในทางปฏิบัติ จะเอาพรรคการเมือง 2-3 พรรค มานั่งตกลงกันว่าจะปฏิรูปมันคงทำไม่ได้
“ที่สำคัญนโยบายของพรรคเพื่อไทย (พท.) ไม่ได้พูดถึงการปฏิรูปประเทศ แนวคิดปฏิรูปประเทศเป็นของนายสุเทพ ก็ให้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอในนโยบายหาเสียงกันไปเลยว่าจะปฏิรูปอย่างไร หรือไม่ปชป.ก็เอาเลยขอประชามติจากประชาชน ผ่านการเลือกตั้ง ถ้าประชาชนสียงส่วนใหญเลือก ปชป.ก็ปฏิรูปไปเลย เราไม่ว่ากัน เพราะถือว่าประชาชนต้องการให้ปฏิรูป” นายก่อแก้วกล่าว
นายก่อแก้ว กล่าวต่อว่า ในส่วนของคนเสื้อแดงและ พท. เรามองว่าปัญหาของประเทศอยู่ที่การไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตย เรามองว่ามันเป็นปัญหาตรงนี้ ก็จะเดินหน้าแก้ปัญหา เรามีความชัดเจนแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา เราก็หาเสียงขอฉันทามติจากประชาชนแก้รัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่สมบูรณ์
ด้าน นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า พธม.เห็นด้วยที่ให้มีการทำสัญญาประชาคมก่อนการเลือกตั้ง เพราะการให้ผู้ที่จะมีอำนาจรัฐในอนาคตมาทำสัญญากัน ถือเป็นทางออกที่ดีของประเทศ ซึ่งต้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคมานั่งคุยกันให้ตกผลึก แล้วกำหนดกรอบต่างๆให้ชัดเจน จะได้ไม่ต้องมีปัญหา
“ถ้าจะทำก็ควรระบุไปเลยว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง มีการปฏิรูปด้านใดบ้าง มีกรอบระยะเวลาเท่าไร แล้วพรรคการเมืองที่จะมามีอำนาจรัฐ จะต้องทำตามกรอบทั้งหมด แบบไม่มีข้อแม้ หากผู้มีอำนาจรัฐไม่ทำตามสัญญา ก็จะเป็นเหตุให้มีการชุมนุมง่ายขึ้น เพราะถือว่าผิดตามที่ได้สัญญากับประชาชนไว้” นายปานเทพ กล่าว
นายปานเทพ กล่าวต่อว่า ทั้งการทำสัญญาประชาคมต้องถามความต้องการของทุกกลุ่ม อาทิ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นต้น ต้องถามความต้องการของทุกกลุ่ม แล้วนำปัญหามาสังเคราะห์ให้ตกผลึก
ภาพประกอบ - (ซ้าย) ก่อแก้ว พิกุลทอง จากเว็บไซต์ news.sanook.com (ขวา) ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จากเว็บไซต์ www.thairath.co.th