คณิต ณ นคร : ผมกลัวจะซ้ำรอย 14 ตุลาฯ
"...ผมก็กลัวว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย แม้การชุมนุมช่วงที่ผ่านมายังไม่เกิดเหตุบานปลายไปมากกว่านี้ แต่พอจะมองออกหรือยัง ตอน 14 ตุลา 2516 มันเหมือนตอนนี้เลย นี่ผมก็กลัว..."
"คณิต ณ นคร" ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และอดีตประธานกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงมุมมองต่อสถานการณ์การเมืองไทยขณะนี้ ทั้งวิพากษ์กระบวนการยุติธรรมของไทยที่อ่อนแอและถือเป็นหนึ่งในรากเหง้าปัญหาความขัดแย้ง เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมและนักกฎหมายก็ควรต้องถูกตั้งคำถามด้วย ทั้งแนะว่านักนิติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ควรนำองค์ความรู้ที่มีมารับใช้ประชาชนและประเทศชาติให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้
นายคณิตย้ำเจตนารมณ์ด้วยว่าตนเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2540 มีที่มาอันชอบธรรมและมีความทันสมัยไม่แพ้ชาติใดในโลก ส่วนรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น หากเห็นว่าส่วนใดควรแก้ไขก็แก้แต่นับจากนี้ ประเทศไทยต้องไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญอีก
“สถานการณ์ตอนนี้นะเหมือนตอน 14 ตุลาคม ปี 2516 ที่นักศึกษาออกมาเต็มเลย” นายคณิตกล่าวและอธิบายว่าเหตุการณ์บ้านเมืองที่สำคัญที่เกิดขึ้นภายหลังจากจอมพลถนอม กิตติขจรทำการปฏิวัติรัฐประหารตนเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 นั้น ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่การต่อต้านจากนักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516
“ช่วงนั้นก็มีนักศึกษาถูกจับไปรวมทั้งอาจารย์ธีรยุทธ (บุญมี) ด้วย ถ้าผมจำไม่ผิด มีนักศึกษา 11 คนถูกจับข้อหามั่วสุม เกิน 5 คน ตามคำสั่งคณะปฏิวัติ แล้วต่อมามีมอบตัว 2 คน ซึ่งจริงๆ แล้วที่ตำรวจจับนักศึกษานั้น จับไม่ได้นะ เพราะการจะจับหรือออกหมายจับได้ต้องเป็นโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป แต่หมายคณะปฏิวัติมีโทษ 6 เดือน คราวนี้เมื่อจับไม่ได้แต่กลับมาจับแล้วก็เลยเพิ่มข้อหากบฏให้ เหมือนที่นายสุเทพ (เทือกสุบรรณ) โดนอยู่ตอนนี้ เห็นไหม เหมือนกันเลย ข้อหามั่วสุมเกิน 10 คน ทั้งที่จริงๆ แล้ว จับไม่ได้ แต่ก็มีการออกหมายจับข้อหากบฎ เหมือนตอนนี้เลย คุณเห็นไหม”
นายคณิตกล่าวถึงหมายจับ 2 มาตรฐานที่เกิดขึ้นในขณะนี้ด้วย โดยตั้งคำถามถึงกรณีที่ศาลยกคำร้องแกนนำ 13 คน อาทิ นายถาวร เสนเนียม, นายพุทธิพงศ์ ปุณณกันต์ ฯลฯ ขณะที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณกลับโดนข้อหากบฏ ทั้งที่มีการกระทำไม่ต่างจาก อีก 13 คนที่ศาลยกคำร้อง ดังนั้น หลักที่แท้จริงคืออะไรแน่
“ตอนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 คนที่จับนักศึกษาที่แจกใบปลิวคือใคร ก็คือตำรวจ ตอนนี้ก็เหมือนกันคนที่มีอำนาจจับก็คือตำรวจ ผมก็กลัวว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย แม้การชุมนุมช่วงที่ผ่านมายังไม่เกิดเหตุบานปลายไปมากกว่านี้ แต่พอจะมองออกหรือยัง ตอน 14 ตุลา 2516 มันเหมือนตอนนี้เลย นี่ผมก็กลัว”
นายคณิตกล่าวด้วยว่า สำหรับตำรวนั้นตนถือว่าถือเป็นเจ้าพนักงานที่ในทางวิชาการเรียกว่า “โพลิติคอล ออฟฟิศเซอร์“
“คือเป็นเจ้าพนักงาน ที่ถูกอิทธิพลทางการเมืองแทรกได้ง่าย ส่วนเจ้าพนักงานของกรมสืบสวนบังคับคดีพิเษหรือดีเอสไอ ขณะนี้ ก็ถูกสังคมบางส่วนกล่าวว่าเป็นเหมือนกัน แล้วทั้ง ตำรวจทั้งดีเอสไอก็อยู่ในกระบวนการยุติธรรมของไทย เจ้าพนักงานของเราใช้ไม่ได้ ในความเห็นผมกระบวนการยุติธรรมต้องปฏิรูปเป็นการด่วน แต่ใครจะปฏิรูปได้ ผมก็ไม่รู้ ผมกลับมาจากเยอรมันตั้งแต่ ปี 2520 ตอนนี้ 2556 แล้ว 30 กว่าปี แล้ว ไม่เห็นมีอะไรเลย จะขับเคลื่อนได้นิดเดียว ก็คือตอน ที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เราทำให้ศาลเท่านั้น ออกหมายจับได้ แต่ปัจจุบันตำรวจก็ขอให้ออกหมายจับได้ ไม่ต่างจาก 14 ตุลา ที่อำนาจรัฐใช้อย่างไม่ถูกต้อและกระบวนการยุติธรรมตกเป็นเครื่องมือ สิ่งเหล่านี้หมายความว่าอะไร มันก็ทำให้ยุ่งไง มันสะท้อนว่ากระบวนการยุติธรรมเราไม่ยึดหลัก ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้สังคมได้ เหตุการณ์ 14 ตุลา มันก็เลยเกิดลุกลามขึ้น แล้วพอจอมพลถนอม จอมพลประพาส พลเอกณรงค์ ออกนอกประเทศ ในหลวงจึงโปรดเกล้าฯ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์เป็นนายกฯ”
ผู้สื่อข่าวถามว่าปัจจุบันมีการถกเถียงกันว่ากรณีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อาจเป็นนายกฯ ที่เข้าข่ายมาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่แม้ขณะนั้นจะใช้ธรรมนูญการปกครองคนละฉบับกับปัจจุบันก็ตาม นายคณิตไม่ตอบ เพียงแต่อธิบายบริบทสถานการณ์ขณะนั้นว่า
“ปี 2516 พอเกิดช่องว่างเนื่องจากจอมพลถนอม จอมพลประภาส จารุเสถียร พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ออกนอกประเทศไป นักศึกษาก็ออกมาโบกธง นักศึกษาต้องมาทำหน้าที่เป็นจราจร ครั้งนั้น อำนาจรัฐล้มเหลว เป็น เฟลสเตท เกิดช่องว่าง”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามอีกว่าวันนี้ อำนาจรัฐล้มเหลวหรือยัง
นายคณิตกล่าวว่า “ไม่รู้ คุณต้องวิเคราะห์เอง แต่ในอดีตมันเคยเกิด แล้วพระองค์ท่านจึงทรงตั้งอาจารย์สัญญา รรมศักดิ์ แต่ไม่ใช่ในหลวงโปรดเกล้าฯ เอง ต้องมีคนเสนอ ดังนั้น ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ให้มาก เรามักจะพูดกันว่าประวัติศาสตร์มักซ้ำรอยและนี่ผมรู้สึกว่ามันจะซ้ำรอย มีการใช้อำนาจในแนวเผด็จการฮิตเลอร์ คดีซุกหุ้นภาคแรกก็เปรียบเหมือนฮิตเลอร์ ผมเคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างงละเอียดแล้ว คุณต้องกลับไปอ่านดู”
นอกจากนี้ นายคณิตมองบทบาทมหาวิทยาลัย นักวิชาการ นักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ด้วยว่าควรเรียนมาเพื่อรับใช้ประชาชนและสังคมมากกว่าการนำความรู้ไปใช้เพื่อความก้าวหน้าของตน
“พันธกิจของมหาวิทยาลัยมีอะไรบ้าง 1. ต้องมีการเรียนการสอน 2. ต้องมีการวิจัยเพื่อหาองค์ความรู้มาสอน 3. ต้องมีการบริการสังคม คือการนำเอาองค์ความรู้ที่มีในมหาวิทยาลัยมารับใช้สังคม 4.คือการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม แล้ว มหาวิทยาลัยที่เอาองค์ความรู้มาช่วยสังคมตอนนี้มีสักเท่าไหร่ ที่ผมเห็นชัดๆ ก็มีนิด้า ที่ออกมาวิจารณ์เรื่องจำนำข้าวแล้วเขาก็ถูกด่า ส่วนนักรัฐศาสตร์นักนิติศาสตร์ ควรนำความรู้ที่มีมารับใช้สังคม รับใช้ประชาชน ประเทศชาติ ไม่ใช่เรียนเพื่อคิดจะเป็นเจ้าคน นายคน แบบนั้นมันผิดตั้งแต่ต้น”
ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเสนอของนักวิชาการบางส่วนที่เสนอว่าควรมีการแก้รัฐธรรมนูญ ในฐานะที่นายคณิตเป็นหนึ่งใน อดีตสสร. ที่มีส่วนร่างรัฐธรรมนูญ 2540 คิดว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มีปัญหาหรือไม่ นายคณิตตอบว่า
“ต้องพูดว่าการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ผู้ร่างมีความชอบธรรมหรือไม่ ส่วนเรื่องเนื้อหาดีหรือไม่ดีนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่รัฐธรรมนูญ 2540 สสร.มีความชอบธรรม ได้รับแต่งตั้งตามหลักประชาธิปไตย ส่วนผมเป็น สสร. ประเภทผู้ทรงคุณวุฒิจากแต่ละสาขา ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มีความชอบธรรมในการยกร่าง ส่วนรัฐธรรมนูญ ปี 2550 คุณคิดว่าที่มามันชอบธรรมไหม ผมไม่ใช่รังเกียจรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ผมคิดว่าคนร่างไม่มีความชอบธรรม หรือจัสมินเตชั่น ผมมองที่หลักการก่อนนะ มองถึงที่มา ก็เหมือนกับว่าถ้าผมเป็นครูบาอาจารย์แล้วไปซื้อปริญญามา ผมก็ผิด ถ้าเป็นศาสตราจารย์ แล้วให้คนอื่นทำวิทยานิพนธ์ให้ ที่มาของผมก็ผิด”
ผู้สื่อข่าวถามด้วยว่าแล้วเรื่องที่ถกเถียงกันว่าแม้รัฐธรรมนูญ 2540 ดี แต่องค์กรอิสระก็ยังถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง และรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ปิดช่องโหว่ดังกล่าว นายคณิตมีความเห็นอย่างไร
นายคณิตกล่าวว่า "องค์กรไหนล่ะที่ถูกแทรกแซง ที่ถูกแทรกแซงอันแรกคือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผมเคยเขียนไว้ในบทความ “การหักดิบกฎหมาย เป็นที่มารากเหง้าของปัญหาความไม่สงบ” แล้ว ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2540 นั้นดีนะ ใช้ได้ แต่ที่ไม่ดีเพราะมันมีการหักดิบกฎหมายโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขณะนั้น คุณต้องค่อยๆ ไปอ่าน มีตอนหนึ่งผมเขียนถึงกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยคดีซุกหุ้นคุณทักษิณ เป็นอย่างไร เป็นการหักดิบกฎหมาย ซึ่งก็คือการไม่ทำอย่างมีหลัก คือถ้าคุณชอบผม คุณก็ว่าผมดีหมด ถ้าคุณไม่ชอบก็ด่าผม ซึ่งมันไม่ใช่ ไม่ถูกต้อง"
ทั้งนี้ นายคณิตได้หยิบยกบทสัมภาษณ์ของนายจุมพล ณ สงขลา อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ใหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547 มีใจความตอนหนึ่งว่า
“สาเหตุที่ผมตัดสินคดีแบบนี้ ก็เพราะผมเห็นแล้วว่าประชาชนเขาพร้อมใจกันเทคะแนนเสียงให้ไทยรักไทย 11 ล้านเสียง นี่คือเสียงสวรรค์ของประชาชนที่พร้อมใจกันเลือก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วตุลาการศาลรัฐธรรนูญสิบกว่าคนจะมาไล่เขาลงจากตำแหน่งได้อย่างไร…”
นายคณิตกล่าว่า “แล้วนี่มันใช่หลักที่ไหน หลักกฎหมายคือ “ซุกหุ้นหรือไม่ซุกหุ้น” แต่กลับบอกว่าคนเขาเลือกมาตั้ง 11 ล้าน จะเอาเขาออกได้ยังไง คือมันไม่มีเหตุผลในทางกฏหมายเลย หักดิบชัดๆ นี่คือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น แต่ก็เลิกไปแล้ว ตั้งขึ้นใหม่ นั่นหมายความว่าตอนนั้นเราเลือกคนไม่ดี เราเลือกคนไม่มีหลัก”
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าจริงๆ แล้ว นายคณิต มองเนื้อหา รัฐธรรมนูญ 2550 อย่างไรแน่ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร
นายคณิตตอบว่า “ดีหรือไม่ดีนั้น พูดไม่ได้ แต่ถ้ามีอะไรไม่ดีก็แก้สิ ไม่ใช่คุณไปฉีกทิ้ง เพราะถ้าฉีกทิ้งก็ถูกตั้งรังเกียจต่ออีก จริงแล้วๆ ปัญหาบ้านเมืองเราอยู่ที่กระบวนการยุติธรรมของเรามีปัญหาอยู่ 3 อย่าง คือ 1 ปัญหาจากกฎหมาย, 2 ปัญหาจากนักกฎหมาย และ 3 คือปัญหาการศึกษากฎหมาย ผมกล้ายืนยันกับคุณว่ารัฐธรรมนูญ 2540 กฏหมายเราทันสมัยไม่แพ้ที่ไหนในโลก แต่นักกฏหมายเราใช้ไม่ได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นนี่ไม่ใช่กฎหมายนะ แต่ปัญหาคือนักกฎหมาย แล้วนักกฎหมายเหล่านั้นมาจากไหนบ้างล่ะ”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าสภาประชาชนที่ กปปส. เสนอ จะเป็นทางออกของประเทศหรือไม่และจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้จริงไหม ด้วยวิธีใด นายคณิตตอบเพียงว่า
“ไม่รู้ ผมไม่รู้ ผมไม่ใช่นักกฏหมายมหาชน คุณต้องไปถาม วรเจตน์ (ภาคีรัตน์ )” นายคณิตระบุ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ www.tnews.co.th