ยื่นกสม.เสนอศาล รธน.วินิจฉัย การใช้สิทธิตามม. 3 -ม. 7
3 องค์กร ยื่นหนังสือต่อกรรมการสิทธิฯ ส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การใช้สิทธิตามม. 3 เพื่ออภิวัฒน์ให้เป็นไปตามม. 7 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
วันที่ 11 ธันวาคม 2556 สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร่วมกับกลุ่มสมาคมสิทธิผู้บริโภคและกลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยขอให้เสนอเรื่อง พร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมีนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ รับเรื่อง
สำหรับเนื้อหาของหนังสือคำร้องมีใจความว่า ต้องการให้ กสม. เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่คณะกรรมการเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 69 เป็นการดำเนินการโดยชอบหรือไม่
และการใช้สิทธิตามมาตรา 3 ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย เพื่ออภิวัฒน์ให้เป็นไปตามมาตรา 7 ยามที่ไม่มีรัฐบาลหรือรัฐบาลรักษาการ มีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ขณะนี้บ้านเมืองการความขัดแย้งจนหาทางออกได้ยาก การที่มาร้องเรียน ก็เพื่อที่จะให้กสม.ดำเนินการเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นอย่างเร่งด่วน ต่อศาลรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติในมาตรา 257 (2) เพราะในขณะนี้คนในสังคมใช้รัฐธรรมนูญในมาตราต่างๆมาโต้แย้งกัน ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อให้เกิดความชัดเจน
ด้านนายวุฒิพร เดี่ยวพานิช นายกสมาคมสิทธิผู้บริโภค กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่รัฐบาลไม่ยึดในหลักกฎหมาย ละเมิดสิทธิของประชาชน ละเมิดสิทธิของสื่อมวลชน เป็นรัฐบาลกองกำลังนอกกฎหมายให้ข่าวที่บิดเบือนต่อประชาชน อ้างอำนาจความเป็นประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามแม้ท้ายที่สุดเราจะสามารถกำจัดระบอบทักษิณได้ ปัญหาการทุจริตและความขัดแย้งก็ยังคงมีอยู่ หากป.ป.ช. ไม่สามารถเป็นองค์การที่เข้มแข็งและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะป.ป.ช.คือหัวใจหลัก
"ปัจจุบันนี้รัฐบาลหมดความชอบธรรมไปแล้ว การที่ประชาชนจะใช้สิทธิอำนาจตามมาตรา 3 ว่าแท้จริงแล้วอธิปไตยเป็นของคนไทยจริงหรือไม่ และข้อเสนอของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะนำไปใช้ได้จริงอย่างไร นี่คือสิ่งที่เราต้องการคำตอบและมายื่นคำร้อง"
นพ.นิรันดร์ กล่าวภายหลังรับเรื่องร้องเรียนว่า ขณะนี้ได้เกิดความขัดแย้งและถกเถียงกันในเรื่องการบังคับใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 3 และมาตรา 7 ทางอนุกรรมการฯ จะได้มีการเชิญนักกฏหมาย นักสังคม ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้เข้ามาหารือเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอของอนุกรรมการต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่คาดว่าจะได้มีการประชุมและสรุปว่าจะเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่างไรภายในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล ตัวแทนกลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง ได้ยื่นหนังสือขอให้ กสม.ตรวจสอบเรื่องการสารเคมีในแก๊สน้ำตาที่ใช้ในการสลายผู้ชุมนุมในครั้งนี้ด้วย เนื่องจากการลงพื้นที่เป็นแพทย์อาสาในระยะเวลา 5-6 วันในพื้นที่ที่มีการปะทะพบว่า จากการสอบถามประวัติคนไข้ที่เข้ามารับการรักษาและนำวัตถุที่ติดตัวมากับคนไข้ไปตรวจและค้นหาข้อมูลสารเคมีจากบริษัทผู้ผลิตพบว่า มีสารบางตัวที่ยังไม่ได้รับการยอมรับในหลักสากลให้นำมาใช้ในการสลายการชุมนุม รวมทั้งวิธีการยิงแก๊สน้ำตาโดยการใส่ท่อแล้วพ่นเป็นผงโดยไม่ใช้ในรูปแบบน้ำ และมีการปาใส่เข้าหาผู้ชุมนุมเป็นวิธีการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตานั้นเป็นไปตามหลักสากลหรือไม่ พร้อมกับร้องขอให้ทางรัฐบาลมีการเปิดเผยข้อมูลของสารเคมีที่นำมาใช้ทั้งหมดในการสลายผู้ชุมนุม
จากนั้น นายศรีสุวรรณ ได้เดินทางได้ไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลปกครองว่า การที่นายกรัฐมนตรี นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีปัญหาขึ้นทูลเกล้าฯ และประธานสภา ประธานวุฒิสภา และรมว.มหาดไทย ยังไม่ยอมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยดังกล่าว เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่