เถียงกระหึ่มโลกออนไลน์ อ.นิเทศฯ แนะเร่งปลูกฝังวัฒนธรรมสื่อสารเรื่องความขัดแย้ง
นักวิชาการนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ประเด็นการเมือง เป็นเรื่องเปราะบาง อ่อนไหว ต่อให้ไม่ถกเถียงบนโลกโซเชียลมีเดีย ก็นำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงได้ แนะคนไทยเคารพความคิดเห็นคนอื่น เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรียนรู้ที่จะอยู่กับความขัดแย้งให้ได้
ปัจจุบันโซเชียลเน็ตเวิร์ค กลายเป็นสื่อที่มีพลังมากที่สุด สามารถชี้นำคนได้ตรงและแรง แต่ก็มีข้อเสีย คือ สื่อชนิดนี้ได้โหมกระพือความรู้สึกโกรธ เกลียด มากกว่าการให้ความรู้ อาจารย์พรรณพิมล นาคนาวา อาจารย์ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ "สำนักข่าวอิศรา" ถึงสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่มีพลังมากที่สุดท่ามกลางกระแสการเมืองปัจจุบันนี้ว่า คนเรามักรับสารที่เน้นอารมณ์กันมาก ถึงแม้ว่าจะมีบางคนที่ส่งต่อข้อมูลที่ยาวมากๆ เราก็มักเลือกที่จะไม่อ่าน ไม่รับข้อมูลเชิงลึก รวมถึงการสรุปว่า เรื่องราวกระแสบนโลกโซเซียลมีเดียนั้น คือ ความจริง
“ถามว่า สังคมในความเป็นจริงเป็นอย่างนั้นจริงหรือ ขณะเดียวกันคนที่เข้าถึงโลกโซเซียลมีเดีย ก็เป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น เราควรออกมาดูความเป็นจริงในสังคมหรือโลกที่ไกลออกไปจากตัวเราด้วย อาจออกไปเห็นประสบการณ์ตรง หรืออ่านจากหนังสือ เพราะหลายๆ เรื่องอาจไม่ได้เป็นอย่างโลกในโซเชียลมีเดียระบุ หรืออาจกลายเป็นโลกคนละใบไปเลยก็ได้”
เมื่อถามถึงกรณีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันนั้น และมาถกเถียงในโลกออนไลน์ อาจารย์พรรณพิมล กล่าวว่า เป็นเรื่องที่นำไปสู่ความขัดแย้งได้ เนื่องจากทุกคนไม่ได้โตมากับการปลูกฝังให้เรายอมรับความคิดที่แตกต่างได้อย่างแข็งแรง จึงมักนำไปสู่การแตกหัก และความรุนแรง
“เราควรใช้ความคิดในเชิงหลักการเหตุผล และไม่ก้าวล่วงคนที่เห็นต่างจากเรา เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมชาติของสื่อเหล่านี้ไม่สามารถบรรจุอะไรได้มาก ยกตัวอย่าง Facebook นั้น ตอนจะตั้งสถานะก็ถามอยู่แล้วว่า “คุณกำลังคิดอะไรอยู่” จะเห็นว่า เป็นพื้นที่รองรับอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเป็นเครื่องมือที่ใช่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร”
นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ กล่าว และว่า ประเด็นทางการเมืองที่เป็นเรื่องเปราะบางอ่อนไหว ซึ่งต่อให้ไม่ถกเถียงบนโลกโซเชียลฯ ก็นำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงได้อยู่ดี เพราะเราไม่เคารพความคิดเห็นของคนอื่น เมื่อเราเถียงในเชิงหลักการและเหตุผลไม่ได้ เราก็พากับไปเถียงในเรื่องของตัวบุคลิกภาพ อารมณ์ ที่ไม่ใช่แก่นของเรื่อง
“ฉะนั้น เราควรมารณรงค์ให้มีการปลูกฝังวัฒนธรรมการสื่อสารเรื่องความขัดแย้ง ที่ให้เราสามารถยอมรับความเห็นต่างได้ อาจจะผ่านการศึกษา หรือตัวสื่อ ที่มีบทบาทในการชี้นำสังคม เพราะทุกที่มีความขัดแย้งแม้แต่ในบ้านเราเอง เราควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับความขัดแย้งให้ได้ เมื่อเรายอมรับความเห็นต่างได้ไม่ว่าเรื่องอะไรก็จะไม่ลุกลามไปสู่ความก้าวร้าวรุนแรง” อาจารย์พรรณพิมล กล่าว