"คน สมช.-กอ.รมน." ไขข้อข้องใจ ทำไมต้องคุย BRN ทำไมมาเลย์ต้องมีบทบาท
อนาคตของการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ ค่อนข้างริบหรี่มืดมน หลังจากทั้งสองฝ่ายได้เลื่อนนัดพบปะพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งที่ 4 ออกไปหลายครั้ง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรอีก ทำให้สถานะของรัฐบาลชุดปัจจุบันกลายเป็นแค่รัฐบาลรักษาการ โอกาสของการสานต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพยิ่งยาก อย่างน้อยก็ต้องสะดุดไปหลายเดือน
ก่อนการยุบสภา ช่วงปลายเดือน พ.ย. ท่ามกลางสถานการณ์ร้อนแรงทางการเมือง ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตประธานเบอร์ซาตู เดินทางเข้าประเทศไทย และได้ขึ้นเวทีเสวนาที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (เมื่อ 28 พ.ย.) พร้อมให้สัมภาษณ์พิเศษสื่อไทย 2 สำนัก ระบุว่ากลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่รัฐบาลไทยพูดคุยอยู่ด้วยนั้น ยังไม่ใช่ตัวจริงที่ทำให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งยังเห็นว่าโต๊ะพูดคุยสันติภาพไม่ควรให้น้ำหนักกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป
ส่งนัยถึงกลุ่มบีอาร์เอ็นอย่างค่อนข้างชัดเจน!
ดร.วันกาเดร์ ยังเสนอว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาภายในของประเทศไทย ฉะนั้นไทยจึงควรแก้ปัญหาเอง ไม่จำเป็นต้องไปพึ่งคนนอกให้มาช่วยแก้
ส่งนัยถึงประเทศมาเลเซียอย่างชัดเจนเช่นกัน!
รุ่งขึ้นอีกวัน คือ วันที่ 29 พ.ย. ที่โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ มีงานสัมมนาทางวิชาการหัวข้อ "ก้าวสำคัญกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ : ประวัติศาสตร์ การเมือง และสันติภาพ" จัดโดยศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วงหนึ่งเป็นการเสวนาย่อยเรื่อง "รอบด้านกับการเจรจาปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ : จุดพบ จุดเข้าใจ และทางออกของประเทศ" ปรากฏว่าวิทยากรที่ร่วมเวทีเสวนาให้ความเห็นตรงกันข้ามกับ ดร.วันกาเดร์ อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในประเด็นความสำคัญของการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น และบทบาทการเป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติภาพของรัฐบาลมาเลเซีย
นายพรชาติ บุนนาค รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวตอนหนึ่งว่า การพูดคุยสันติภาพแบบเปิดเผยครั้งนี้ (ลงนามริเริ่มกระบวนการตั้งแต่ 28 ก.พ.2556) ก็มีข้อดีข้อเสียเช่นเดียวกับการพูดคุยแบบปิดลับ ที่ผ่านมาเราผ่านการพูดคุยในทางลับ หรือที่เรียกว่า “ใต้โต๊ะ” มามาก การพูดคุยทางลับถือว่าขาดสิ่งที่รับประกันความชอบธรรม ตรงกันข้ามเราไปคุยครั้งนี้เราได้แยกแยะชัดเจนขึ้นว่ากลุ่มใดที่ใช้ความรุนแรงแล้วยากที่จะเปลี่ยนได้ กลุ่มใดมีแนวคิดสันติวิธี เพื่อนำมาเป็นแนวทางรักษาความปลอดภัยให้ประชาชน
"มาเลเซียก็มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล หากเขาต้องการเป็นผู้นำอาเซียน เขาต้องจัดการปัญหานี้ให้ได้ จะปล่อยให้ปัญหาความมั่นคงชายแดนมารุงรังกวนใจไม่ได้อีก" นายพรชาติ ระบุ
พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า กองทัพเห็นด้วยกับการพูดคุย แต่อะไรที่เราเห็นว่าจะเข้าใกล้การแบ่งแยกดินแดน กองทัพก็ต้องเบรกเอาไว้ คอยทักคอยเตือนกันเอาไว้ มีคนบอกว่าทหารไม่ยอมให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ ทหารก็ต้องถามว่าประชาชนต้องการจริงหรือไม่ ซึ่งประชาชน 80 เปอร์เซ็นต์ไม่รู้เรื่อง
"การพูดคุยครั้งนี้เหมือนอยู่ในภาวะจำใจ ถูกบีบบังคับทั้งการเมืองในประเทศและนอกประเทศ กลุ่มที่เป็นแกนนำทางความคิดของขบวนการที่อยู่ในมาเลเซียเลยมาลงนามกับไทย แต่พวกกลุ่มปฏิบัติในพื้นที่เขารับไม่ได้ แต่สุดท้ายก็ต้องคุย ถ้าไม่คุยมันไม่จบ เพียงแต่ต้องหาวิธีที่ดี" พล.ต.นักรบ ระบุ
ส่วนกรณีที่ ดร.วันกาเดร์ ออกมาเสนอให้รัฐบาลไทยคุยกับกลุ่มอื่นในพื้นที่บ้าง นอกจากกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้น พล.ต.นักรบ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยด้วย บอกว่า การจัดใครมาพบกับใครก็ตามถือว่าอยู่นอกเหนืออำนาจของกองทัพ ดร.วันกาเดร์ บอกว่ามี 9 กลุ่ม ก็เลยคุยยาก เราจึงต้องใช้หนึ่งกลุ่มคุยนำกันไปก่อน เพราะได้วิเคราะห์ตรวจสอบแล้วว่าบีอาร์เอ็นมีกำลังมากที่สุด มีอาวุธมากที่สุด อีกทั้งใน 9 กลุ่ม บางกลุ่มอาจจะไม่ได้ทำอะไรแล้ว หลักการคุยจึงต้องคุยกับกลุ่มที่มีมากที่สุดก่อน หลังจากนั้นบีอาร์เอ็นก็จะไปรวมกลุ่มอื่นมาคุยด้วย
"ตอนนี้มี 2 ทาง คือคุยทุกกลุ่ม กับคุยหนึ่งกลุ่ม แล้วให้ลากเข้ามา ตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไร เดินสายคุยทั่วโลกมั่วไปหมดแล้ว แต่โดยหลักการต้องเลือกคุยกับกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงสุดในพื้นที่ก่อน" พล.ต.นักรบ ย้ำ
เขาบอกด้วยว่า ตอนนี้มีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "จูแว" เป็นพวกเคลื่อนไหวอิสระ จูแวไม่รู้ว่าหัวของตนคือใคร เพียงแต่รู้ว่าอยู่ในมาเลเซีย แต่ตอนนี้จูแวยังมีอิทธิพลไม่ถึงขั้นเป็นขบวนการ จึงต้องติดตามความเคลื่อนไหวไปก่อน
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การที่ต้องดึงมาเลเซียเข้ามามีบทบาทในกระบวนการสันติภาพ เพราะความจำเป็น เนื่องจากแกนนำกลุ่มขบวนการอยู่ในมาเลเซีย ถ้าเราโดดเข้าไปคุยกับแกนนำเลย มาเลเซียก็จับเราได้ แล้วยังมีคำถามมาถึงทุกวันนี้ว่าที่เราไปคุยเป็นแกนนำตัวจริงหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าไม่ต้องถาม เพราะเป็นตัวจริงแน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับว่าเป็นตัวจริงเวลาไหนมากกว่า
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศบนเวทีเสวนา