"ผ่าชันสูตรศพตามหลักอิสลาม" นับหนึ่งความเป็นธรรม-พิสูจน์การตายผิดปกติที่ชายแดนใต้!
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลุกลามบานปลายยิ่งขึ้นจากปม “ความไม่เป็นธรรม” ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของผู้คนจำนวนมาก เป็นการตายที่มิอาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นฝีมือของฝ่ายใด เพราะติดเงื่อนไขตามหลักการศาสนาอิสลามที่ให้ทำพิธีฝังศพภายใน 24 ชั่วโมง
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. และประธานคณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมกันเปิดการสัมมนาในหัวข้อ “แนวทางการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลาม” เพื่อทำความเข้าใจกับผู้นำศาสนา และเจ้าหน้าที่รัฐทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้
การสัมมนาครั้งนี้สืบเนื่องจากการจัดทำแนวทางการชันสูตรศพตามกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลาม ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีความถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักวิชาการและหลักการของศาสนา จัดพิมพ์ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษามลายู อักษรยาวีสำนวนปัตตานี
บทสรุปที่ถือเป็นมิติใหม่ของวงการศาสนาอิสลาม กระบวนการยุติธรรมไทย และจะส่งผลอย่างยิ่งต่อความเป็นธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ การตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ได้รับการวินิจฉัยจากสำนักจุฬาราชมนตรีแล้วว่าสามารถทำได้เท่าที่จำเป็น และต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้รู้ทางศาสนา
ไขปม “ศพนิรนาม” นับหนึ่งความเป็นธรรม
ศาสตราจารย์อมรา กล่าวว่า การชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักการศาสนาอิสลามจะสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตและญาติ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้มี “ศพนิรนาม” จำนวนไม่น้อยถูกฝังไว้ตามสถานที่ต่างๆ (หมายถึงศพที่ไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นใคร) โดยเฉพาะผู้ตายที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งทาง กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีบุคคลสูญหายและศพที่ถูกฝังอยู่ในกุโบร์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับการตรวจชันสูตรว่าผู้ตายเป็นใคร และเสียชีวิตเพราะเหตุใด ญาติไม่ทราบถึงการเสียชีวิต และไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ จึงควรขุดศพนิรนามเหล่านี้มาตรวจชันสูตรตามกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์เพื่อให้ทราบว่าเป็นใคร และญาติจะได้นำศพไปประกอบพิธีทางศาสนาและดำเนินการตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบทางคดีต่อไป
หรืออย่างกรณีการร้องเรียนการหายตัวไปของ นายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ตั้งแต่เมื่อเดือน มี.ค.2547 และคาดว่าน่าจะเสียชีวิตไปแล้ว ก็มีประเด็นเกี่ยวข้องกับการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ต่อโครงกระดูกนิรนามที่ถูกฝังไว้ตามที่ต่างๆ เช่นกัน
“แต่เนื่องจากกระบวนการนำศพที่ถูกฝังตามประเพณีของศาสนาอิสลามมาชันสูตรเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เกี่ยวโยงกับความเชื่อและหลักการทางศาสนาอิสลามที่ห้ามขุดศพขึ้นมาชันสูตร จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามวิธีการและแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งประเทศไทยไม่มีประสบการณ์ในกรณีเช่นนี้มาก่อน และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จะนำแนวทางการชันสูตรศพตามหลักศาสนาอิสลามมาใช้ในประเทศไทย ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องศพนิรนาม คนหาย และข้อร้องเรียนเรื่องความไม่เป็นธรรมได้ระดับหนึ่ง” ศาสตราจารย์อมรา กล่าว
คลี่คดีปริศนา-ตรวจสอบวิสามัญฆาตกรรม
นางอังคณา นิละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และคณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภรรยาของทนายสมชาย กล่าวว่า ปัญหาความไม่เป็นธรรมหลายๆ กรณีในพื้นที่เริ่มมาจากการตายผิดปกติที่เกิดขึ้น เมื่อไม่มีการผ่าชันสูตรศพผู้ตายในกรณีนั้นๆ โดยใช้กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาพิสูจน์ ทำให้เกิดความเคือบแคลงใจถึงสาเหตุการเสียชีวิตที่ชัดเจน ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในกรณีของ นายสุไลมาน แนซา ผู้ต้องสงสัยเกี่ยวพันกับคดีความมั่นคงที่ถูกควบคุมตัว และเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวในสภาพมีผ้าผูกคอติดกับลูกกรงหน้าต่างในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่สรุปว่านายสุไลมานผูกคอตายเอง แต่ญาติไม่เชื่อ ทว่าถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการผ่าชันสูตรศพเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่ชัดเจน
“จริงๆ แล้วกรณีการผ่าศพมุสลิมนั้น เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาในสมัยท่านจุฬาราชมนตรีคนเก่าก็เคยมีข้อสรุปกรณีการผ่าศพมุสลิมที่เสียชีวิตว่าสามารถผ่าได้กรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และได้รับการอนุญาตจากเจ้าของศพ แต่หลายๆ ครั้งเมื่อเกิดการเสียชีวิตของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ กลับไม่เคยมีการผ่าชันสูตร ทำให้เกิดข้อสงสัยในการเสียชีวิตและถกเถียงกันไม่รู้จบ”
“เมื่อมีหลักการและแนวทางการชันสูตรศพที่ชัดเจนออกมาเช่นนี้ ก็น่าจะส่งผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการวิสามัญฆาตกรรม (การเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่) หากได้รับการผ่าชันสูตรจะได้รู้ถึงสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงว่าเป็นฝีมือของใคร จะได้หาข้อยุติในการถกเถียง ลดเงื่อนไข และนำไปสู่การดำเนินการต่อตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดได้”
เสนอ “ผู้รู้ทางศาสนา” ร่วมกระบวนการไต่สวนการตาย
นางอังคณา ยังกล่าวด้วยว่า กระบวนการผ่าชันสูตรศพผู้เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือเสียชีวิตระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ซึ่งบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 150 หรือที่เรียกว่า "กระบวนการไต่สวนการตาย" นั้น กำหนดให้แพทย์ ตำรวจ และอัยการซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของทางรัฐเท่านั้นเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการทั้งหมด ทำให้เกิดคำถามว่าจะให้ผู้รู้ทางศาสนาเข้าไปร่วมในกระบวนการด้วยได้หรือไม่
“ในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่า พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการใช้กฎหมายพิเศษอยู่แล้ว เรามีดาโต๊ะยุติธรรมทำหน้าที่เสมือนผู้พิพากษาในการชี้ขาดข้อพิพาทของมุสลิม ฉะนั้นในส่วนของอัยการหรือกระบวนการไต่สวนการตาย หากจะเพิ่มดาโต๊ะยุติธรรมหรือผู้รู้ทางศาสนาเข้าไปร่วมอีกส่วนหนึ่งก็น่าจะทำได้” นางอังคณา ระบุ
และนี่คืออีกก้าวหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมชายแดนใต้ที่หลายฝ่ายขับเคลื่อนเรียกร้องกันมานาน ซึ่งน่าจะช่วยอำนวยความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านได้มากขึ้น...เสียที!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ศพที่เตรียมทำพิธีฝังตามหลักการทางศาสนาอิสลาม จากเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 8 มิ.ย.2552