รัฐแจง "กลุ่มผู้เห็นต่าง" ขัดแย้งภายใน ต้นเหตุแถลงล้มโต๊ะพูดคุย
สมช.แจงเหตุขบวนการขัดแย้งภายใน ส่งผลบีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพ ระบุไม่นับเป็นข้อมูลทางการ เพราะไม่ได้สื่อสารผ่านผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย เชื่อกระบวนการสันติภาพยังไปต่อได้ แย้มยังประสาน "ฮัสซัน ตอยิบ" ตลอดเวลา เผยแถลงการณ์บีอาร์เอ็นเขียนเป็นภาษาไทย ย้ำจุดยืนเอกราช เรียกไทย "จักรวรรดินิยมสยาม" แต่ลงท้าย "ด้วยความเคารพ"
ข่าวโต๊ะพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มของ นายฮัสซัน ตอยิบ ส่อเค้าล่ม หลังจากมีเอกสารคำแถลงอ้างเป็น "สภาปฏิวัติบีอาร์เอ็น" ไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทยอีกต่อไป เพราะยังไม่ได้นำข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ข้อเสนอรัฐสภา และนายกรัฐมนตรีไม่ได้ประกาศให้การพูดคุยสันติภาพเป็น "วาระแห่งชาติ" นั้น ถูกมองจาก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่าเป็นความเคลื่อนไหวปกติของกลุ่มผู้เห็นต่าง จากความขัดแย้งแตกแยกกันภายใน
"เราก็รับฟังสิ่งที่เขาพูดหรือออกแถลงการณ์มา แต่ต้องเข้าใจว่านี่เป็นการสื่อสารโดยไม่ผ่านผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติภาพ คือทางการมาเลเซีย ฉะนั้นถือว่าไม่เข้ากติกา เราจึงไม่หยิบมาพิจารณา แค่รับฟังเท่านั้น เพราะกติกาที่เราตกลงกัน คือต้องสื่อสารผ่านผู้อำนวยความสะดวก"
พล.ท.ภราดร ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายรัฐบาลไทย กล่าวต่อว่า สถานะของเอกสารคำแถลงการณ์ที่อ้างว่ามาจากสภาปฏิวัติบีอาร์เอ็น ทางการไทยแค่รับรู้ และที่ผ่านมาก็ได้ติดต่อประสานงานกับ นายฮัสซัน เรื่องกำหนดวันพูดคุยสันติภาพอย่างเป้นทางการครั้งต่อไป แต่ยังไม่ตกผลึกว่าจะเป็นวันใด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้ นายฮัสซัน ก็เผยแพร่คลิปวีดีโอคำแถลงของตนผ่านเว็บไซต์ YouTube เนื้อหาคล้ายกับในแถลงการณ์ คือเรียกร้องให้รัฐบาลไทยนำข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ข้อของบีอาร์เอ็นผ่านมติของรัฐสภา พล.ท.ภราดร กล่าวว่า สถานะของคลิปวีดีโอก็เหมือนกับเอกสารคำแถลงการณ์ คือถือว่าไม่ใช่ข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการ เพราะไม่ได้สื่อสารผ่านผู้อำนวยความสะดวก
"ผมคิดว่าจนถึงขณะนี้ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกัน คือรัฐบาลเองก็เห็นว่าแนวทางการพูดคุยเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และจะแก้ไขปัญหาได้ ทางฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐก็เช่นกันและยืนยันในเรื่องนี้ เพียงแต่มีความไม่ลงตัวกันภายใน ทำให้มีการสื่อสารลักษณะนี้ออกมา"
ต่อข้อถามว่า หากถึงที่สุดแล้วบีอาร์เอ็นส่งเอกสารผ่านผู้อำนวยความสะดวก และเรียกร้องตามที่มีแถลงการณ์หรือเผยแพร่คลิปมาก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยจะปฏิบัติตามหรือไม่ เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า หากเสนอมาตามช่องทางที่ตกลงกัน รัฐบาลก็จะนำมาพิจารณา ซึ่งมีกลไกอยู่แล้ว คือ ศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) คงไม่สามารถนำเสนอรัฐสภาได้ทันที เพราะไม่ใช่เรื่องที่ระดับรัฐบาลหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะตัดสินใจได้
"ผมย้ำว่าการพูดคุยยังเดินหน้าต่อไป อาจจะหยุดชะงักบ้างเป็นเรื่องธรรม ถือเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นระหว่างการพูดคุยที่ย่อมมีการต่อรองหรือมีอะไรที่ไม่ลงตัวกันบ้างของแต่ละฝ่าย" พล.ท.ภราดร กล่าว
อนึ่ง แถลงการณ์ที่อ้างว่าเป็นของขบวนการบีอาร์เอ็นนั้น เนื้อหาเป็นภาษาไทย ความยาว 1 หน้ากระดาษเศษ ระบุว่า การพูดคุยสันติภาพจะไม่เกิดขึ้นหากข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ข้อที่บีอาร์เอ็นเสนอไม่ได้รับการยอมรับโดยผ่านมติจากรัฐสภาไทย และบีอาร์เอ็นก็จะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมการพูดคุยสันติภาพอีก
นอกจากนั้นหากรัฐบาลไทยยังไม่ประกาศให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีแถลงการณ์อย่างชัดเจนจากนายกรัฐมนตรี ความพยายามของรัฐบาลไทยในเรื่องนี้ก็จะไม่ได้รับความไว้วางใจจากทั้งบีอาร์เอ็น พูโล และบีไอพีพี รวมทั้งกลุ่มอื่นๆ
แถลงการณ์ยังอ้างถึงมติที่ประชุมสภาปฏิวัติของบีอาร์เอ็น ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ YouTube เมื่อวันที่ 6 ส.ค.2556 (คลิปการแถลงของคน 3 คน มีหมวกไหมพรมปิดบังใบหน้า ถือปืน สวมเสื้อผ้าสีโทนดำและลายพราง) ที่ยืนยันจุดยืนว่าการพูดคุยสันติภาพจะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อีก หากข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ข้อยังไม่ได้ถูกเสนอเพื่อผ่านมติของรัฐสภาไทย ฉะนั้นกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ที่ไม่สอดคล้องกับจุดยืนนี้ แม้ดำเนินการภายใต้ชี่อของบีอาร์เอ็น ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นการดำเนินการโดยบีอาร์เอ็น
ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ยังอ้างว่า เป้าหมายของบีอาร์เอ็นคือ "ปาตานีเอกราช" และสร้างสันติภาพที่แท้จริง ไม่ใช่สันติภาพภายใต้เงื่อนไขและการยึดครองของจักรวรรดินิยมสยาม แต่การเข้าไปเกี่ยวข้องในกระบวนการพูดคุยสันติภาพเมื่อ 28 ก.พ.2556 (มีการลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กับ นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น) เป็นความจำเป็นทางการเมือง และต่อมาเมื่อ 26 ส.ค.2556 บีอาร์เอ็นจึงเสนอข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ข้อเพื่อผลักดันให้กระบวนการเจรจาสันติภาพเกิดขึ้นได้ในที่สุด แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลไทย
บีอาร์เอ็นยังย้ำด้วยว่า เป้าหมายของการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้ มิใช่เพื่อหวังให้การต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่ออุดมการณ์ปลดปล่อยปาตานียุติลงเท่านั้น ทว่ายังต้องรวมถึงการสร้างสันติภาพที่ประกอบด้วยหลักประกันที่ครอบคลุมรอบด้าน เพื่อความมีศักดิ์ศรีและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวปาตานี ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมติสมัชชาแห่งสหประชาชาติที่ 1514 (xv) ลงวันที่ 14 ธ.ค.1960 ว่าด้วย "การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม"
สำหรับเอกสารแถลงการณ์ที่อ้างว่าเป็นของบีอาร์เอ็นนั้น ใช้กระดาษที่มีหัวกระดาษเป็นตราสัญลักษณ์บีอาร์เอ็น พร้อมชื่อองค์กรเป็นภาษามาเลย์ ภาษาอังกฤษ และยาวี ส่วนย่อหน้าสุดท้ายเขียนว่า "เอกราช เอกราช เอกราช" แต่ใช้คำลงท้ายว่า "ด้วยความเคารพ" พร้อมลงชื่อ BRN มีตราประทับ แต่ไม่ระบุชื่อบุคคล
อนึ่ง ที่ผ่านมารัฐบาลไทยปฏิเสธที่จะนำ 5 ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นเข้าสู่การรับรองของรัฐสภา เพราะเห็นว่ายังไม่ใช่ขั้นตอนที่เหมาะสม โดยรัฐบาลไทยเพียงแต่ทำหนังสือตอบบีอาร์เอ็นเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ว่าได้รับข้อเรียกร้อง 5 ข้อไว้พิจารณาแล้ว และจะพูดคุยกันต่อไป ฉะนั้นหากบีอาร์เอ็นยื่นคำขาดว่าจะไม่มีการเจรจาถ้าทางการไทยไม่ส่งข้อเรียกร้อง 5 ข้อให้รัฐสภาพิจารณารับรอง ก็มีโอกาสสูงที่กระบวนการพูดคุยสันติภาพอาจต้องสะดุดหยุดลง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร