“คณิต” แนะถอนหมายจับแกนนำม็อบ หวั่นบานปลายซ้ำรอย 14 ตุลาฯ
“คณิต” ปธ.กก.ปฏิรูปกฎหมาย แนะถอนหมายจับแกนนำผู้ชุมนุม ทั้งข้อหามั่วสุม-กบฏ ชี้แยกแยะยากว่าเป็นการใช้เสรีภาพชุมนุมตาม รธน.หรือไม่ ห่วง กบก.ยุติธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หวั่นบานปลายซ้ำรอยเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2556 นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ในฐานะอดีตประธานกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)ได้เผยแพร่บทความชื่อ “เมื่อกระบวนการยุติธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง” กล่าวถึงกรณีที่มีการออกหมายจับแกนนำผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 215 (ฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง) และมาตรา 113 (ฐานกบฏ) มีใจความว่า การออกหมายจับบุคคลในการชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนมีความเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะดูจะเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในทางการเมือง เพราะความผิดฐานมั่วสุมตาม ป.อาญา มาตรา 215 ในอดีตถูกเรียกว่าเป็นความผิดฐานก่อการจลาจล ซึ่งในขณะนั้น มีผู้เอาไปใช้ปะกันกับความผิดฐานขบถภายในราชอาณาจักร ซึ่งก็คือความผิดฐานกบฏ ตาม ป.อาญาปัจจุบัน ทั้งที่จริงๆ แล้วความผิดฐานก่อการจลาจลไม่ใช่ความผิดร้ายแรงแต่อย่างใด
นายคณิต กล่าวว่า ประการสำคัญก็คือการหาจุดแบ่งแยกระหว่าง การกระทำอันเกี่ยวกับการชุมนุมและสิทธิของผู้ชุมนุม กับการกระทำที่เป็นความผิดอาญาฐานเป็นกบฏ เป็นเรื่องที่ยากมาก เช่นเดียวกับการหาเส้นแบ่งระหว่างความผิดฐานก่อการร้ายตาม ป.อาญา มาตรา 135/1 ที่กฎหมายได้บัญญัติในวรรคสามว่า“การกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นความผิดฐานก่อการร้าย” ซึ่งกรณีย่อมแขวนกับความคิดของคนในสังคมและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมว่ามีความผิดในทางอำนาจนิยมหรือเสรีนิยม การลงความเห็นสำหรับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมจึงดูจะยากมากทีเดียว
“ผู้เขียนจึงใคร่ขอเสนอแนะว่า หากจะได้มีการทบทวนการออกหมายจับในครั้งนี้กันได้ ไม่ว่าจะโดยองค์กรใดในกระบวนการยุติธรรมก็ตาม กรณีก็จะเป็นการสมควรอย่างยิ่ง เช่น พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลขอเพิกถอนคำร้องเดิมของตน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 90 (3) ที่ให้พนักงานสอบสวน ไม่ว่าจะสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือสังกัดกรมสอบสวนคดีพิเศษสามารยื่นคำร้องได้” นายคณิตกล่าว
นายคณิตยังกล่าวว่า ในเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2516 กระบวนการยุติธรรมเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เพราะการจับกุมผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญทั้ง 11 คนในตอนแรกตั้งข้อหาความผิดฐานมั่วสุม ที่มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ซึ่งตาม ป.วิอาญาขณะนั้น การจะจับกุมหรือออกหมายจับบุคคลจะต้องเป็นกรณีที่มีความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีขึ้นไป ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าพลาดจึงตั้งข้อหาเป็นกบฏ ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง แม้จะมิใช่เหตุทั้งหมดแต่ก็เป็นเหตุที่สำคัญเหตุหนึ่งอย่างแน่นอน ซึ่งเหตุการณ์ในปัจจุบันก็เป็นทำนองเดียวกับเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 เพราะเริ่มด้วยการขอออกหมายจับในข้อหามั่วสุม จากนั้นก็ตั้งข้อหากบฏ
“เจ้าพนักงานตำรวจนั้น ในทางวิชาการเรียกกันว่า Political Officer กล่าวคือ เป็นเจ้าพนักงานที่ถูกอิทธิพลทางการเมืองแทรกแซงได้ง่าย ส่วนเจ้าพนักงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษในขณะนี้นั้น ก็ถูกสังคมบางส่วนกล่าวหาว่าเป็น Political Officer อยู่เช่นกัน” นายคณิตกล่าว
นายคณิต กล่าวว่า ในเบื้องต้นผู้เขียนจึงรู้สึกว่าการขอให้ศาลออกหมายในครั้งนี้ยังมีปัญหาอยู่อันเนื่องจากการเป็น Political Officer ดังกล่าวมาแล้ว ยิ่งกว่านั้นเมื่อได้รับหมายจับจากศาลแล้วเจ้าพนักงานของรัฐก็ได้เอาคำสั่งออกหมายจับของศาลไปทำเป็นเอกสารเกี่ยวกับการออกหมายจับของศาลแล้วได้นำไปโปรยเป็นใบปลิวอีกด้วยจนศาลต้องเรียกพนักงานสอบสวนมาตักเดือน กรณีจึงทำให้ผู้เขียนมีความเป็นห่วงว่าเรื่องจะบานปลายทำนองเดียวกับเหตุการณ์ของเดือน ต.ค. 2516
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2556 ศาลอาญาได้อนุมัติออกหมายจับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขาธิการ กปปส. ในความผิดฐานกบฏ ตาม ป.อาญา มาตรา 113 หลังจากเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2556 ได้อนุมัติออกหมายจับนายสุเทพ ในความผิดฐานมั่วสุมและบุกรุกสถานที่ราชการ ตาม ป.อาญา มาตรา 215, 116 (3) และ 365
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2556 ศาลอาญายังได้อนุมัติออกหมายจับ นายนิติธร ล้ำเหลือ, นายอุทัย ยอดมณี, นายรัชตชยุต หรืออมร ศรีโยธินศักดิ์ และนายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท. ในความผิดฐานมั่วสุม บุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ตาม ป.อาญา มาตรา 215, 358 และ 365 ประกอบมาตรา 362
ภาพประกอบ - คณิต ณ นคร จากเว็บไซต์ www.dailynews.co.th