“ดัชนีความโปร่งใสของไทย” เมื่อความเลวร้ายถูกเปิดเผย
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้ประกาศผลการสำรวจดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI.) ประจำปี 2556 ปรากฏว่าไทยถูกลดอันดับลงอย่างต่อเนื่องจากอันดับที่ 78 ในปี 2553 เป็นอันดับที่ 80 และ 88 ตามลำดับ มาถึงปีนี้ตกมาอยู่ในอันดับที่ 102 ของโลกเท่ากับเอกวาดอร์ มอลโดว่า และปานามา เป็นการถูกลดอันดับลงจากปีที่แล้วถึง 14 อันดับ ขณะที่มาเลเซียและฟิลิปปินส์ อยู่อันดับที่ 50 และ 94 ตามลำดับแซงหน้าประเทศไทยไปเรียบร้อยแล้ว
อะไรทำให้ภาพพจน์ด้านคอร์รัปชันของประเทศตกต่ำเลวร้ายลงขนาดนี้
การที่ภาพลักษณ์ของประเทศไทยตกต่ำลงต่อเนื่องและตกต่ำเป็นอย่างมากในปีนี้ ผู้เขียนเห็นว่าเกิดจากสาเหตุอย่างน้อย 5 ประการ ดังนี้
ประการแรก มีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในระดับรัฐบาล หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งโดยนักการเมืองและข้าราชการที่โกงทุกอย่างเมื่อมีโอกาสทำได้ รวมทั้งยังมีคอร์รัปชันขนาดใหญ่เกิดขึ้นในการดำเนินโครงการของรัฐอย่างต่อเนื่อง
ประการที่สอง การคอร์รัปชันในภาครัฐ "ทำกันอย่างเปิดเผย" มากขึ้น ขณะที่พฤติกรรมที่คอร์รัปชันก็ "ถูกเปิดโปง" อย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือของภาค เอกชน นักวิชาการและภาคประชาชน ที่ร่วมกันศึกษาติดตามข้อมูลเป็นอย่างดี ทำให้สังคมรับรู้ความจริงมากขึ้นว่าคอร์รัปชันกำลังเป็นภัยร้ายแรงเพียงใดในสังคมไทย เช่น การเรียกรับสินบนจากการออกใบอนุญาตต่างๆ โครงการใช้งบประมาณ 1.2 แสนล้านบาทแก้ปัญหาน้ำท่วม โครงการสร้างโรงพักทั่วประเทศ มูลค่า 6000 ล้านบาท โครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าวของรัฐบาล โครงการรับจำนำพืชผลการเกษตรอื่นๆ หรือ คดีการโกงของข้าราชการระดับปลัดกระทรวงและผู้ว่าการการท่องเที่ยว รวมถึงการคอร์รัปชันที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรงในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
ประการที่สาม มีการดำเนินโครงการสำคัญๆ ของรัฐอย่างไม่โปร่งใสและประชาชนขาดการมีส่วนร่วม เช่น โครงการใช้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทแก้ปัญหาน้ำท่วม โครงการใช้งบสองล้านล้านบาทเพื่อสร้างระบบสาธารณูปโภค โครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าว และโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV ของ ขสมก. เป็นต้น
ประการที่สี่ รัฐบาลนำนโยบายประชานิยมออกมาใช้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าโครงการเกือบทั้งหมดจะถูกนักวิชาการชี้ว่าเป็นโครงการที่หวังผลทางการเมือง เป็นตัวทำลายเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าจะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมก็ตาม ในขณะเดียวกันยังไม่เคยปรากฏว่ามีมาตรการแก้ไขคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็นจากรัฐบาลเลย นอกจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์
ประการสุดท้าย ระบบเล่นพรรคเล่นพวกในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ปัจจัยสำคัญของขบวนการคอร์รัปชัน ได้ปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่างๆ ให้รับรู้กันอย่างแพร่หลายต่อเนื่อง
ผลกระทบจากการถูกจัดอันดับที่ลดลง
ผลร้ายของคอร์รัปชันจะกระทบกับคนจนมากที่สุดและประเทศที่มีการคอร์รัปชันสูงจะไม่สามารถขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ และการถูกลดอันดับต่ำลงมากขนาดนี้ย่อมมีผลในทางลบต่อศักดิ์ศรีของคนไทยและประเทศไทยในสายตาชาวโลก ในทางเศรษฐกิจ-การเงิน ไทยอาจโดนลดเครดิต ทำให้นักลงทุนต้องระมัดระวังในปัญหาความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น ภาระต้นทุนทางการเงินหรือดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เหตุนี้อาจทำให้นักลงทุนเบนความสนใจในการลงทุนไปยังประเทศอื่นที่มีความโปร่งใส ชัดเจนมากกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและต้นทุนที่สูงขึ้นจากการคอร์รัปชัน ซึ่งจะทำให้ประเทศเสียโอกาสและเสียความ สามารถในการแข่งขันในที่สุด และแน่นอนว่าการที่ประเทศไทยเสียความสามารถในการแข่งขันของย่อมจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศในกลุ่ม AEC อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภาพสะท้อนความจริงของประเทศไทย
ผลการจัดอันดับขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาตินี้ จึงเป็นการสะท้อนภาพความจริงให้เห็นว่า 1. วันนี้เรากำลังเผชิญกับความสูญเสียจากการคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่องและเลวร้ายลงทุกขณะ 2. พฤติกรรมคอร์รัปชันของนักการเมืองและข้าราชการที่มีอำนาจกำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไร้ยางอาย และ 3.ขบวน การขุดคุ้ยและเปิดโปงของประชาชนและกลุ่มองค์กรต่างๆ เริ่มทำงานอย่างได้และผลมีบทบาทชัดเจนมากขึ้น ถึงแม้จะไม่สามารถหยุดยั้งอะไรได้มากนักก็ตาม
ทางออกเพื่ออนาคต
แม้ปัญหาคอร์รัปชันจะเลวร้ายลงแต่ยังมีโอกาสในการแก้ไข ขอเพียงแต่คนไทยต้องลงมือต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันด้วยตนเอง เริ่มจากการไม่เป็นคนโกงและไม่ยอมให้ใครโกง คนไทยต้องไม่ทนนิ่งเฉยหรือเอาแต่พร่ำบ่นกับปัญหาที่คอร์รัปชันพบเห็น แต่ต้องแสดงออกด้วยต่อสู้ คัดค้าน ไม่ยอมรับพฤติกรรมที่คอร์รัปชันทุกรูปแบบ เช่นเดียวกับที่คนไทยทั้งประเทศได้ร่วมกันแสดงพลังคัดค้านการออก พรบ. ล้างผิดคดีโกง ของนักการเมืองที่เพิ่งผ่านไป
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
ผอ.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
4/12/56
หมายเหตุ : ข้อเขียนนี้เป็นความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่ความเห็นขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ