บรรเจิด : เมื่อประชาชนฉีกใบมอบอำนาจ...จุดเริ่มมาตรา 3 สู่นายกฯมาตรา 7
การเปิดพิมพ์เขียว "สภาประชาชน" ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) สร้างกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นแนวทาง "ย้อนยุค" กลับไปสู่การขอ "นายกฯพระราชทาน" หรือ "นายกฯมาตรา 7"
อันเป็นแนวคิดแนวทางที่เคยถูกคัดค้านจากหลายฝ่ายเมื่อครั้งที่มีการนำเสนอในช่วงปลายรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก่อนถูกรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.2549
เหตุผลของการคัดค้านที่ชัดเจนที่สุดก็คือ การขอนายกฯพระราชทานไม่ได้เป็นแนวทางตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาท เป็นการดึงสถาบันลงมายุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง
อย่างไรก็ดี จากการสอบถามทัศนะของนักกฎหมายชื่อดังอย่าง บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า กลับได้รับการยืนยันว่าแนวทางนี้มีความเป็นไปได้ มีที่มาที่ไป มีเหตุผลรองรับ ทั้งเหตุผลทางกฎหมายและเหตุผลเรื่องความชอบธรรม
"การหยิบไปวิจารณ์เฉพาะมาตรา 3 กับมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ถือเป็นความไม่เข้าใจ เพราะนั่นเป็นเรื่องตอนปลาย แต่ตอนต้นต้องเริ่มจากรัฐบาลชุดนี้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางกฎหมาย เพราะไปนิรโทษความผิดทุจริตคอร์รัปชัน จุดนี้เท่ากับรัฐบาลและ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดขาดความชอบธรรมทางการเมืองไปแล้ว" บรรเจิด เริ่มอธิบาย
"จากนั้นก็มีกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของ ส.ว. ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำผิดเข้าข่ายมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เท่ากับขาดความชอบธรรมทางกฎหมาย"
"ต่อมาบรรดา ส.ส.พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลยังได้แถลงไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เท่ากับผิดมาตรา 216 วรรค 5 ที่บัญญัตว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐด้วย"
บรรเจิด ชี้ว่า จากการกระทำของ ส.ส.รัฐบาลที่กล่าวมา จึงเข้าข่ายมาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่าบุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ รวมทั้งมาตรา 70 ที่ว่าบุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ
"สถานการณ์ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ประชาชนกำลังใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 69 และ 70 เพื่อต่อต้านรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมทั้งทางกฎหมายและทางการเมือง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเห็นต่างได้ วิจารณ์ได้ แต่ไม่ใช่ประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาล คำแถลงของ ส.ส.รัฐบาล เป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว ถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว"
"สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาที่เป็นหลักฐานสำคัญก็คือ รัฐบาลไม่ยอมขอพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญคืน ทำให้คำวินิจฉัยของศาลไม่เป็นเด็ดขาด ไม่ถึงที่สุด หากพระเจ้าอยู่หัวทรงไม่เห็นชอบด้วย หรือไม่พระราชทานคืนมาใน 90 วัน รัฐสภาก็ยืนยันด้วยเสียงข้างมาก 2 ใน 3 และประกาศใช้ได้ เท่ากับไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ"
บรรเจิด สรุปว่า การกระทำเหล่านี้ถือว่า ส.ส.พรรครัฐบาล และ ส.ว.ที่กระทำการทั้งหมด ขาดความชอบธรรมทางกฎหมายและทางการเมือง ซึ่ง ส.ส.และส.ว.คือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชน เมื่อไม่ชอบธรรมประชาชนจึงฉีกใบมอบอำนาจทิ้ง ก็ต้องกลับไปใช้มาตรา 3 ที่บัญญัติว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย..."
"หากถึงที่สุดแล้วพลังของฝ่ายประชาชนชนะ รัฐบาลยอมลาออก และแสดงเจตนาไม่ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐบาลรักษาการ ก็จะเกิดสุญญากาศ ขณะนี้มวลชนกำลังบี้ให้เกิดสุญญากาศ ยุบสภา ลาออก และไม่รักษาการต่อไป อำนาจอธิปไตยก็จะกลับมาสู่ประชาชน"
"เมื่อไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ก็ต้องกลับมาสู่ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (มาตรา 7) ไม่มีการไปรบกวนเบื้องพระยุคลบาท ไม่จำเป็นต้องมีนายกฯพระราชทาน ประชาชนสามารถจัดการกันเองในฐานะเจ้าของอำนาจ"
บรรเจิด ซึ่งเป็นแกนนำนักวิชาการในกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ และเคยเสนอให้ตั้ง "สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย" เพื่อแก้ความขัดแย้ง กล่าวด้วยว่า แนวทางนี้ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่เป็นตัวบท แต่เป็นหลักรัฐธรรมนูญ เป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในที่สุดก็ต้องย้อนไปสู่ประชาชน
"เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เพิ่งมีครั้งแรกในโลก แต่เคยเกิดมาหลายครั้งแล้วในประวัติศาสตร์และในประเทศแม่แบบประชาธิปไตยของโลก ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.1265 มองต์ฟอร์ตได้อำนาจการปกครองประเทศ และจัดให้แต่ละเมืองส่งตัวแทนประชาชนมาประชุมร่วมกัน เป็นอัศวิน 2 คนและชาวหเมือง 2 คน ถือเป็นการประชุมรัฐสภาครั้งแรกของโลก"
"ขณะที่ฝรั่งเศส ก่อนการปฏิวัติปี ค.ศ.1789 มีสภาฐานันดรซึ่งประกอบด้วยขุนนางระดับสูง แต่คนกลุ่มอื่นไม่มีส่วนร่วมในการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นขุนนางระดับล่าง พระ และชาวไร่ชาวนา ต่อมาคนเหล่านี้ได้จัดประชุม ‘สมัชชาแห่งชาติ’ และนำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส มีการลงมติเห็นชอบในการประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก"
"ส่วนเยอรมนี หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 กลายเป็นประเทศแพ้สงคราม กษัตริย์สละราชบัลลังก์ และไม่มีใครยอมขึ้นเป็นกษัตริย์ จึงเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากราชอาณาจักรเป็นสาธารณรัฐ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ นายฟรีดริช เอแบร์ต ได้แต่งตั้ง ‘สภาผู้รับมอบอำนาจจากประชาชน’ และสภานี้ได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว"
สำหรับในประเทศไทย บรรเจิด บอกว่า ช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ขณะนั้นไม่มีรัฐธรรมนูญ มีแต่ธรรมนูญการปกครอง นักศึกษาประชาชนได้เรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ทำให้ จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และริเริ่มการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
จึงได้มีการจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งคัดเลือกจากตัวแทนสาขาอาชีพต่างๆ 2,347 คน มาประชุมและเลือกตัวแทน 299 คนเพื่อไปยกร่างรัฐธรรมนูญ และผลก็คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 โดยสมัชชาแห่งชาติซึ่งมีถึง 2,347 คน ไม่มีสถานที่ประชุมที่จุคนได้ทั้งหมด จึงต้องไปใช้สนามม้า (ราชตฤณมัยสมาคม) ทำให้เรียกกันติดปากว่า "สภาสนามม้า"
"วิธีการที่จะนำไปสู่จุดนี้ได้คือต้องทำให้เป็นสุญญากาศเสียก่อน ซึ่งจากพฤติกรรมของรัฐบาลชุดนี้ ทั้งการพยายามตรากฎหมายนิรโทษกรรมให้คนโกง แก้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของ ส.ว. เพื่อให้มีลักษณะเหมือนเป็นสภาผู้แทนราษฎร เสมือนมีสภาเดียว จนศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัดมาตรา 68 ทั้งสองเรื่องนี้ถ้าสำเร็จ ก็เท่ากับรัฐบาลชุดนี้เป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ จึงเป็นความชอบธรรมของประชาชนที่จะทวงอำนาจคืน"
"มาตรา 3 ถือเป็นทางเข้า มาตรา 7 เป็นทางออก เป็นหลักรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ตัวบท เนื่องจาก 309 มาตราเขียนทุกเรื่องไม่ได้ ฉะนั้นอะไรที่ไม่ได้เขียน มาตรา 7 ก็เปิดช่องให้ใช้ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย"
ส่วนที่รัฐบาลอาจเลือกแนวทางยุบสภา แล้วอธิบายว่าเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนนั้น บรรเจิด บอกว่า เป็นการคืนอำนาจในกรอบเดิม ซึ่งแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ สิ่งที่ประชาชนต้องการในวันนี้คือคืนอำนาจแบบใหม่...
ถ้าประชาชนทำได้ก็จะถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตย 81 ปีของประเทศไทย!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากศูนย์ภาพเนชั่น
หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้าการเมือง ฉบับวันที่ 6 ธ.ค.2556 ด้วย