40 ปีของล่ามประจำพระองค์...ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก
"40 ปีที่ทำหน้าที่ล่ามภาษามลายูประจำพระองค์มา เป็นความสุขและความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิต"
ประโยคข้างบนนี้คือถ้อยคำแห่งความปลื้มปีติของ ว่าที่ร้อยโทดิลก ศิริวัลลภ ล่ามภาษามลายูประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ และติดตามขบวนเสด็จฯของทั้งสองพระองค์ในพระราชกรณียกิจเยี่ยมเยียนพสกนิกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
คำกล่าวที่ว่าไม่มีพื้นที่ไหนของประเทศไทยที่พระองค์ไม่เคยเสด็จไปนั้น คือความจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ เพราะดินแดนปลายด้ามขวานอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งใครต่อใครมองว่าเป็นพื้นที่อันตราย และในอดีตยังห่างไกลความเจริญอย่างมาก ทว่าทั้งสองพระองค์ก็ยังคงเสด็จเยี่ยมเยียนพสกนิกรของพระองค์นับครั้งไม่ถ้วน
อย่างไรก็ดี ด้วยวิถีวัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่าง ดั่งดอกไม้หลากสีอันสวยสดของประเทศไทย พระราชกรณียกิจของทั้งสองพระองค์ โดยเฉพาะเมื่อหลายสิบปีที่แล้วจึงจำเป็นต้องมี "ล่าม" คอยรับใช้เบื้องพระยุคลบาท ถวายคำแปลภาษามลายูที่ประชาชนในพื้นถิ่นนี้ใช้เป็นภาษาแม่ และมีผู้คนจำนวนไม่น้อยในเวลานั้นสื่อสารด้วยภาษาไทยไม่ได้
นี่คือจุดเริ่มต้นของการได้ถวายงานอย่างใกล้ชิดของ ว่าที่ร้อยโทดิลก เมื่อปี พ.ศ.2516 เมื่อครั้งที่ยังเป็นหนุ่มมุสลิมรุ่นกระทง
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมปีนั้น ว่าที่ร้อยโทดิลก ยังคงจำได้ดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ได้ทรงใช้ศาลากาญจนาภิเษกเป็นสถานที่ทรงงาน พร้อมทั้งเสด็จพระราชดำเนินออกเยี่ยมเยียนประชาชนในท้องถิ่นกันดารต่างๆ
เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถาร (ทักทาย) กับประชาชน กลับไม่สามารถสื่อสารกันให้เข้าใจได้ จึงทรงมีรับสั่งให้นายอำเภอรือเสาะในขณะนั้นจัดหาล่ามให้จำนวน 2 คน เป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ 1 คน และอิสลาม 1 คน โดยให้เป็นคนจังหวัดนราธิวาสและต้องจบปริญญาตรีด้วย
ขณะนั้น ว่าที่ร้อยโทดิลก ยังเป็น นายดิลก หรือ นายอับดุลเลาะ ศิริวัลลภ หนุ่มมุสลิมจาก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เขารับราชการครู สอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านบ่อทอง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ได้ตัดสินใจถวายตัวเป็นล่าม เพื่อติดตามถวายคำแปลภาษามลายูและภาษาท้องถิ่นให้กับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
"ครั้งแรกที่ทำหน้าที่ ทั้งดีใจ ตื่นเต้น กลัว ประหม่า โดยเฉพาะที่ได้เห็นตัวจริงของพระองค์ ตอนนั้นภาษาไทยก็ไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่ รู้ตัวดีว่าเราเป็นใคร เตรียมท่องราชาศัพท์เอาไว้เยอะมาก ซึ่งผู้ใหญ่ก็แนะนำว่าไม่ต้องใช้ทุกคำ เพราะพระองค์ทรงเมตตา ซึ่งต่อมาก็ปฏิบัติงานได้ดีขึ้น" ว่าที่ร้อยโทดิลก หรือที่คนใกล้ชิดเรียกกันติดปากว่า "ครูดิลก" เล่าย้อนความหลัง
ช่วงแรกที่เริ่มงานอันเป็นมงคลของชีวิต ครูดิลกเข้าใจว่าต้องปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในจังหวัดนราธิวาสเท่านั้น และจากความเข้าใจนี้ ทำให้เกิดเรื่องเปิ่นๆ ขำๆ ที่เจ้าตัวเล่าให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานฟังอย่างมีความสุข
"มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระองค์เสด็จไป อ.ตากใบ ทรงทักทายราษฎร ผมก็ไปเป็นล่ามให้ ซึ่งก็ทำหน้าที่ได้ดี พระองค์ท่านจึงบอกให้ไปเป็นล่ามในพื้นที่อื่นด้วย ตอนนั้นด้วยความไม่รู้ ผมกราบทูลพระองค์ท่านไปว่าต้องขออนุญาตนายอำเภอรือเสาะก่อน พระองค์ก็ทรงมีพระเมตตา ตรัสถามนายอำเภอว่าจะอนุญาตหรือไม่ นายอำเภอก็รีบกราบทูลว่าอนุญาต ตอนนั้นผมคิดว่าจะถูกตำหนิ แต่ผู้ใหญ่หลายท่านกลับชมว่าผมเป็นข้าราชการที่ดี ปฏิบัติตามขั้นตอน"
"หลังจากนั้นผมก็ตามเสด็จไปทุกที่ แต่คนบ้านเราเมื่อก่อนโดยมากมักกลัวพระเจ้าอยู่หัว ผมก็บอกชาวบ้านเป็นภาษายาวีว่า 'ไม่ต้องกลัว พระเจ้าอยู่หัวใจดี' พระองค์เสด็จไปแทบทุกอำเภอ เมื่อก่อนพระองค์ท่านทรงขับรถเอง ทรงสอบถามข้อมูลกับชาวบ้านเองจนได้ข้อมูลจริงจากพื้นที่ พระสหายในพื้นที่ของพระองค์มีเยอะ อย่าง ลุงวาเด็ง ปูเต๊ะ ที่สายบุรี (จ.ปัตตานี) และกำนันที่ อ.สุคิริน (จ.นราธิวาส) รวมทั้งคนอื่นๆ อีกหลายคน"
ตลอดระยะเวลา 40 ปีของการทำหน้าที่ ครูดิลก เก็บภาพประทับใจมากมายเอาไว้ในมโนสำนึก เป็นความประทับใจที่ได้เห็นทั้งสองพระองค์ทรงงานหนัก และเสด็จเยี่ยมพสกนิกรของพระองค์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย...
"ผมถวายงานอย่างใกล้ชิด ทำให้ได้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของทั้งสองพระองค์ และพระจริยวัตรอันละเอียดอ่อน งดงาม เป็นกันเอง ไม่ถือพระองค์ พระราชปณิธานของพระองค์ท่านต้องการให้ประชาชนมีความสุขอย่างแท้จริง พระองค์ไม่ทรงย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ เพียงแต่ให้ประชาชนของพระองค์มีความสุขกันถ้วนหน้า ไม่ว่าฝนจะตก แดดจะออก จะมืดค่ำเพียงใด พระองค์ไม่เคยบ่น ท้อ หรือหมดกำลังใจในการทรงงานเพื่อให้พสกนิกรได้รับแต่สิ่งดีๆ มีความเป็นอยู่ที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น"
"พระองค์ทรงพลิกฟื้นทุกเรื่อง อย่างเรื่องการศึกษา ทรงให้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สอนวิชาสามัญและวิชาชีพเพิ่มเติมด้วย ขณะเดียวกันก็ให้โรงเรียนของรัฐสอนศาสนาและวิชาชีพอย่างเท่าเทียมกัน ทรงเปิดพระตำหนักพระราชทานเลี้ยงให้ชาวบ้านมาทานอาหาร ชาวบ้านก็มีความสุข เสด็จไปที่ไหนชาวบ้านก็เข้าถึงพระองค์ท่านได้ ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับทุกคน พระองค์ท่านมีความสุขที่ได้ทรงงาน ทรงเป็นกษัตริย์ที่ขยันและทรงงานหนักที่สุดในโลก ไม่เลือกเวลาเสวย เวลาบรรทม และเวลาทรงงาน"
ผลผลิตจากการทรงงานหนักที่แลเห็นเด่นชัดประการหนึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือ โครงการพัฒนาพิกุลทอง หรือในปัจจุบันคือ "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ที่ ต.กะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าพรุซึ่งถูกน้ำท่วมทุกปี ต้องแก้ปัญหาด้วยการระบายน้ำออกทางทะเล ขณะที่หน้าร้อนก็ต้องกักเก็บน้ำเอาไว้ นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องดินพรุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงแก้ด้วยโครงการ "แกล้งดิน"
ขณะที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงช่วยเหลือราษฎรในเรื่องอาชีพ ทรงจัดตั้งโครงการศิลปาชีพเพื่อสร้างผลผลิตต่างๆ จากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำออกขายเพิ่มรายได้ ปัจจุบันมีสมาชิกเป็นหมื่นคน
เมื่อครูดิลกเกษียณอายุราชการ พระองค์ท่านจึงทรงมอบหมายงานใหม่ให้ดูแลโครงการศิลปาชีพในนราธิวาส...
"พระองค์ให้ผมดูแลสมาชิกโครงการศิลปาชีพในจังหวัดทั้งหมด พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า 'งานราชการเธอเกษียณได้ แต่งานของฉัน ฉันไม่ให้เกษียณ เธอไม่เฉาแน่ ต้องช่วยฉันให้หนักกว่าเดิมนะ' ฉะนั้นวันนี้แม้ผมจะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ก็มีงานทำทุกวัน"
ภาพประทับใจในพระราชกรณียกิจของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไม่ได้อยู่ในมโนสำนึกของครูดิลกเท่านั้น แต่เขายังได้นำภาพถ่ายเหล่านั้นมาอัดขยาย ติดไว้ที่บ้าน ที่ทำงาน และพกติดตัวตลอดเวลา เป็นความสุข ความผูกพันที่เจ้าตัวบอกว่าจะไม่มีวันลืมชั่วชีวิต
ภาพประทับใจหลายๆ ภาพ คือภาพที่ถูกนำมาตีพิมพ์เป็นปฏิทิน และกลายเป็นภาพที่ติดตรึงอยู่ในหัวใจของคนไทยทุกคน หนึ่งในนั้นคือภาพที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงประทับนั่งพิงรถแลนด์โรเวอร์บนสะพานไม้ และทรงพูดคุยสอบถามข้อมูลต่างๆ จากราษฎรในพื้นที่ ท่ามกลางบรรยากาศที่รายล้อมด้วยท้องทุ่งและป่าเขา หลายคนคงไม่ทราบว่าเป็นภาพเหตุการณ์ที่บันทึกจากจังหวัดนราธิวาส...
เป็นเหตุการณ์ที่คงไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว ณ ที่ใดๆ ในโลกที่ไม่ใช่ประเทศไทยซึ่งมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงห่วงใยราษฎร และเสด็จพระราชดำเนินออกไปสัมผัสชีวิตพสกนิกรของพระองค์อย่างแท้จริง
คำกล่าวของครูดิลกที่ว่าทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก จึงไม่ใช่เรื่องที่เกินความจริงแม้แต่น้อย และนั่นทำให้ครูดิลกตัดสินใจที่จะถวายงานต่อไป...จนกว่าชีวิตจะหาไม่
----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ครูดิลกกับภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในจังหวัดนราธิวาส