งัดข้อมูลส่งออกกรมศุลฯ มัดทุจริตจำนำข้าว-ป.ป.ช.ชี้ระบายจีทูจีส่อเก๊
ป.ป.ช.แถลงไต่สวนทุจริตโครงการจำนำข้าว เผยไม่มีพยานหลักฐานยันสัญญาจีทูจีไทย-จีน พบมี จนท.รัฐเอี่ยวด้วย เล็งสั่งไต่สวนเพิ่ม รวมมนัส สร้อยพลอย-ภูมิ สาระผล และสยามอินดิก้า
วันที่ 3 ธันวาคม 2556 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดย ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. แถลงความคืบหน้า การไต่สวนการทุจริตโครงการจำนำข้าว และกรณีกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เรื่องทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว ณ ห้องแถลงข่าว ป.ป.ช.สนามบินน้ำ
ศ.พิเศษ วิชา กล่าวว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริงพบว่า การเจรจาที่อ้างว่าเป็นการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G ระหว่างรัฐบาลไทย กับผู้แทนหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน 2 หน่วยงาน พยานหลักฐานยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ ทั้งนี้ ยังพบว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่นมีส่วนร่วมในการกระทำผิดในโครงการดังกล่าว ซึ่ง คณะกรรมการป.ป.ช. จึงมีมติจะขยายการไต่สวนเพิ่มเติม
คณะกรรมการป.ป.ช. เผยถึงรายชื่อของบุคคลที่จะถูกตรวจสอบเพิ่มเติมดังนี้
1.ผู้แทนเจรจาฝ่ายไทย ได้แก่ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
2.นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารการค้าข้าว
3.นายอัครพงษ์ ทีปวัชระ อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ
4.นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว
5.ผู้แทนเจรจาฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ บริษัท Guangdong stationery & sporting goods imp.& exp.Corp. และHainan grain & oil industrial trading company และตัวแทนของหน่วยงานทั้งสอง
6.กลุ่มบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากผู้แทนฝ่ายจีน ได้แก่ นายรัฐนิธ โสจิระกุล นายสมคิด เอื้อนสุภา และนายลิตร พอใจ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทสยามอินดิก้า
7.บริษัทสยามอินดิก้า เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงจากการไต่ส่วนเกี่ยวกับสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง พบว่าเงินที่ชำระค่าซื้อขายข้าวกับหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน ส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับบริษัทสยามอินดิก้า รวมทั้งบริษัทนี้เคยเป็นนายจ้างของนายสมคิด เอื้อนสุภา และนายลิตร พอใจ
ศ.พิเศษ วิชา กล่าวอีกว่า การที่รัฐกำหนดการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐนั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคา ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายจากการขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาด นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 – มิถุนายน 2556 อีกทั้งปริมาณการส่งมอบข้าวไปยังจีนส่งไปเพียง 375,000 ตันเศษ จากปริมาณที่ต้องส่งมอบตามสัญญา จำนวน 4.8 ล้านตัน ซึ่งกรมศุลกากรยืนยันว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีข้าวส่งออกโดยผ่านพิธีการศุลกากรแต่อย่างใด
กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทาง ป.ป.ช.ยังไม่สามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้ เพราะผอ.คลังสินค้าไม่ยอมมอบเอกสารสำคัญให้ ซึ่งเป็นเอกสารเกี่ยวกับใบส่งสินค้าทั้งหมด ทั้งนี้ จะพยายามใช้ข้อกฎหมายในการเร่งรัดและดำเนินการอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม นายวิชา กล่าวว่า การตรวจสอบข้อมูลที่ผ่านมา ประสบปัญหาเรื่องการส่งมอบเอกสารจากหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างมาก เอกสารบางส่วนขอไป 5 เดือนแล้ว ขณะนี้ ยังไม่ได้รับมอบ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการนำ กม.ป.ป.ช. มาตรา 25 (1) มาใช้ประกอบการดำเนินงานส่วนนี้แล้ว
ข้อมูลเพิ่มเติม
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 หมวด 2 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
มาตรา 25 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) มีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ให้ถ้อยคำเพื่อประโยชน์แห่งการไต่สวนข้อเท็จจริง
ภาพประกอบจาก www.bangkokbiznews.com