6 วิชาชีพ สธ.จี้พรรคการเมืองตอบ “ยุบรวมบัตรทอง-ประกันสังคม-สวัสดิการ ขรก.” หรือไม่
“เลขาแพทยสภาฯ” เรียกร้องพรรคการเมืองออก กม.สมานฉันท์หมอ-คนไข้ “ผอ.ยุทธศาสตร์ ถามหานโยบายสาธารณสุขลดเหลื่อมล้ำ “นพ.อำพล” แนะเพิ่มหมอท้องถิ่น-หวังยากให้นักการเมืองกระจายอำนาจ
วันนี้ (22 มิ.ย.) ที่สภาการพยาบาล แพทยสภา ร่วมกับสภาการพยาบาล ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาเทคนิคการแพทย์และสภากายภาพบำบัด จัดเสวนา “นโยบายด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากพรรคการเมือง” โดย มี ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภาเป็นประธานในการเปิดการเสวนา นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คือ นพ. บรรพต ต้นธีรวงศ์ และตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย(พท.) นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ร่วมเสวนา
นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า ประเด็นที่บุคลากรสาธารณสุขกังวลมากคือนโยบายด้านกำลังคน การปกป้องบุคลากรจากการให้บริการสาธารณสุขด้วยการผลักดันและสนับสนุนกฎหมายที่เป็นธรรม เช่น กรณีการถูกฟ้องร้อง อาจจะต้องดำเนินคดีเฉพาะแพทย์ที่ทำผิดร้ายแรงเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาเชื่อว่าแพทย์ทุกคนทำงานด้วยใจจริงและทำตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างดีแล้ว แต่ก็ยังพบว่ามีแพทย์ที่ถูกฟ้องดำเนินคดีอยู่ดี จึงอยากทราบว่าพรรคการเมืองจะมีแนวทางอย่างไรในเรื่องนี้ และทำอย่างไรให้มีกฎหมายที่ก่อเกิดเกิดความสมานฉันท์ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการสาธารณสุขอ่างจริงจัง
ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า อยากให้พรรคการเมืองอธิบายให้ชัดเจนถึงแนวทางเพิ่มความเป็นธรรมเรื่องสิทธิการบริการสาธารณสุข เช่น จะยุบรวมระบบบริการสุขภาพทั้ง 3 สิทธิหรือไม่ คือระบบรักษาฟรี ประกันสังคม และระบบสิทธิสวัสดิการข้าราชการ หรือถ้าหากไม่ยุบมีแนวทางจัดบริการสุขภาพแบบไม่เหลื่อมล้ำแก่ ประชาชนหรือเปล่า รวมทั้งต้องมีความชัดเจนว่าจะทำระบบส่งเสริมรักษาสุขภาพคนสูงวัยอย่างไรโดยไม่กระทบกับค่าใช้จ่ายด้านการบริการสาธารณสุขมากนัก และที่สำคัญอยากให้ตอบชัดเจนว่า ถึงเวลาหรือยังที่ควรจะกระจายอำนาจเรื่องระบบสาธารณสุขสู่ท้องถิ่น
“การบริการทั้งสามระบบที่ไม่เท่ากันในบางจุดเป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะทำให้บุคลากรเกิดการแปรเปลี่ยนทางทัศนคติต่อผู้ป่วย เพราะสิทธิข้าราชการนั้นเบิกจ่ายได้แบบเต็มราคา ขณะที่รักษาฟรีนั้นเป็นเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งหากมีการแก้ระบบนี้ได้เชื่อว่าก็จะลดปัญหาอื่นได้เช่นกัน และคงไม่ต้องไปตัดสินถึงขั้นตัดสิทธิ์การเบิกจ่ายยาบางชนิดได้ ” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นายวิชาญ กล่าวว่า อาจจะปรับกฎหมายลูกให้มีตัวแทนวิชาชีพเข้าไปมีส่วนร่วมพิจารณากรณีเกิดการฟ้องร้องระหว่างผู้ให้บริการสาธารณสุขกับผู้รับบริการ เพื่อความสบายใจของแพทย์และบุคคลากร รวมทั้งปกป้องผู้ป่วยด้วย ก็อาจแยกกฎหมายในการพิจารณาคดีแพทย์กับผู้ป่วยออกจากกฎหมายที่คุ้มครองผู้ บริโภค เว้นแต่กรณีทำศัลยกรรมพลาสติก คงต้องใช้กฎหมายเดิม ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายนั้นต้องทำประชาพิจารณ์ และกำลังคนด้านสาธารณสุขนั้นก็ เดินหน้าพูดมาทุกเวทีว่าจะเจรจากับสำนักงานข้าราชการพลเรือน แต่ไม่ว่าจะดำเนินการอย่างไรเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
ขณะที่ นพ.บรรพต กล่าวว่า หากได้เป็นรัฐบาล พรรค ปชป.คงจะคุ้มครองแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขอย่างเป็นธรรมด้วยการแก้ทั้งระบบ คือเร่งออกกฎเข้มในการคุมมาตรฐานโรงพยาบาล เครื่องมือแพทย์ เพื่อที่บุคคลากรจะได้ปฏิบัติการอย่างมั่นใจและบริการผู้ป่วยอย่างเต็มที่ รวมทั้งผลักดันกฎหมายเสริมสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้บริการและรับบริการสาธารณสุข
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อสงสัยเรื่องการกระจายอำนาจของบุคลากรสาธารณสุขนั้น ตัวแทนทั้งสองพรรค ยังคงเห็นเป็นเรื่องยาก เพราะการกระจายอำนาจนั้นจำเป็นต้องสรรหาบุคลากร ซึ่งขณะนี้ก็แทบจะไม่พอ
วันเดียวกันที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สช.)มีการจัดเวที สช.เจาะประเด็น เรื่อง “นโยบายพรรคการเมืองใส่ใจต่อสุขภาวะแค่ไหน?” โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช.กล่าวว่า ปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญและรัฐบาลใหม่ควรเร่งดำเนินการ คือ การจัดการเรื่องการกระจายอำนาจ เช่น กระจายกำลังคนให้ทั่วถึง รวมไปถึงการส่งเสริมป้องกันโรค ซึ่งควรมีการส่งแพทย์ไปประจำท้องถิ่นมากกว่าเดิม หรืออาจจัดตั้งโครงการหมอประจำครอบครัวขึ้น
“นอกจากนี้ต้องไม่ลืมเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย เช่น ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งยังค้างคาอยู่ในสภาฯ ไม่รู้ว่าจะประกาศใช้จริงเมื่อไร การจะให้พรรคการเมืองสนใจประเด็นพวกนี้คงยาก คงทำได้ในเรื่องการส่งเสริม ป้องกันโรค อีกประเด็นสำคัญคือ อยากให้พรรคการเมืองเน้นป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะปัจจุบันความพิการและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มขึ้น เรื่องนี้ถือว่าใกล้ตัวประชาชนมาก” นพ.อำพล กล่าว .