มานะ ตรีรยาภิวัฒน์: ความรุนแรงม็อบในโลกออนไลน์ยุติได้ด้วยมือคุณ?
"...ปัญหานี้แก้ไม่ได้แล้ว เนื่องจากต่างฝ่ายต่างมีชุดข้อมูล หรือความเชื่อบางอย่างฝังหัวอยู่ แต่ต้องเข้าใจว่าเราอาจจะมีข้อมูลที่ไม่เห็นด้วย หรือไม่เชื่อก็ได้ แต่ก็จำเป็นต้องฟังข้อมูลอีกด้านด้วย ต้องนำมาคิดวิเคราะห์ให้ชัดเจน และบางครั้งก็ต้องเชื่อเนื่องจากเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์จริง ๆ.."
ระหว่างสถานการณ์รุนแรงบริเวณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อค่ำคืนวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 และจบลงด้วยความสูญเสียของชีวิตของทั้งสองฝ่ายนั้น พบว่ามีสื่อหลากหลายสำนักผลัดกันรายงานข่าว นอกจากนี้ยังมีรายงานจากผู้ที่อยู่ในพื้นที่จริง หรือนักข่าว ออกอากาศผ่านสื่อ ซึ่งถูกผู้คนในโซเชียลเน็ตเวิร์คนำมาแชร์กันอย่างครึกโครม
อย่างไรก็ตามน่าสังเกตว่า สื่อแต่ละสำนักรายงานข่าว “ไม่เหมือนกัน” และมีการรายงานข้อมูลที่ “คลาดเคลื่อน” เป็นอย่างมาก เช่น การรายงานข้อมูลการเสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บไม่ตรงกัน
นอกจากนี้ยังมีการใช้ “Hate Speech” ในการรายงาน เช่น การรายงานว่า นศ.รามคำแหง ที่ถูกยิงนั้นเกิดจากฝีมือของคนเสื้อแดง ทั้งที่ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏ และยังจับตัวมือปืนไม่ได้ เป็นต้น
และจากสถานการณ์ความขัดแย้งบนท้องถนน ได้ขยายผลไปสู่ความขัดแย้งบนโซเชียลเน็ตเวิร์คด้วย ต่างฝ่ายต่างงัดข้อมูลจากสื่อที่ตนชอบมาแชร์กันโดยไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูล และด่าสื่อฝ่ายตรงข้ามอย่างสาดเสียเทเสีย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ในฐานะนักวิชาการด้านสื่อออนไลน์ เพื่อไขปมความขัดแย้งข้างต้นให้กระจ่างชัด
ปมความขัดแย้งดังกล่าวจะแก้อย่างไร หาคำตอบได้ดังนี้
@ข้อควรระวังในการแชร์ข่าวบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค
ต้องระวังในเรื่องข้อมูลข้อเท็จจริง และต้องดูว่าข้อมูลที่แชร์ไปนั้นมีการตรวจสอบแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องเน้นในเรื่องของระยะเวลา เพราะบางทีเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเก่าแล้ว เมื่อแชร์ไปอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้
ขณะเดียวกันก็ต้องระวังข้อความที่เป็น “Hate Speech” ที่จะยิ่งเพิ่มเกิดความจงเกลียดจงชังของแต่ละฝ่าย
ข้อแนะนำคือถ้าเห็นว่ามีการแชร์ภาพที่ไม่ถูกต้อง หรือพบว่าข่าวนี้ข้อมูลผิดพลาด ก็ควรจะต้องช่วยกันเตือนด้วยความสุภาพ เพราะช่วงนี้เข้าใจว่าใช้อารมณ์เป็นใหญ่
@ปัญหาการเสพสื่อด้านเดียวโดยไม่ฟังรอบด้าน
ปัญหานี้แก้ไม่ได้แล้ว เนื่องจากต่างฝ่ายต่างมีชุดข้อมูล หรือความเชื่อบางอย่างฝังหัวอยู่ แต่ต้องเข้าใจว่าเราอาจจะมีข้อมูลที่ไม่เห็นด้วย หรือไม่เชื่อก็ได้ แต่ก็จำเป็นต้องฟังข้อมูลอีกด้านด้วย ต้องนำมาคิดวิเคราะห์ให้ชัดเจน และบางครั้งก็ต้องเชื่อเนื่องจากเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์จริง ๆ
@ปรากฎการณ์"สื่อเลือกข้าง"ที่ถูกนำมาแชร์ในโซเชียลเน็ตเวิร์ค
เรื่องดังกล่าวเราต้องรู้เบื้องหลังของสำนักข่าวนั้นก่อนว่ามีวัตถุประสงค์อะไร มีทัศนคติหรือเป็นกระบอกเสียงให้ใคร และฝ่ายไหน อย่างไรก็ตามทางที่ดีควรฟังสำนักข่าวที่รายงานข้อมูลข้อเท็จจริงชัดเจน และรายงานข่าวด้วยความหลากหลาย นอกจากนี้ต้องวิเคราะห์ว่านี่เรากำลังดูสถานีข่าวที่เป็นกระบอกเสียงหรือไม่
ส่วนเรื่องที่จะให้แก้การเลือกข้างของสื่อนั้นคงยาก เพราะเขาชัดเจนและมีจุดยืนของเขา แต่ถึงที่สุดแล้วก็น่าจะให้ตัวองค์กรสื่อตระหนักว่าต้องเปิดพื้นที่และให้ความหลากหลายทางข้อมูลด้วย
@นักข่าวพลเมือง หรือนักข่าวที่ใส่ความเห็นในการรายงานสถานการณ์ความขัดแย้งผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค
อาจจะมีความเห็นได้ แต่ต้องมีข้อมูลข้อเท็จจริงมากกว่าความคิดเห็น และเรื่องของระยะ และสถานที่ในการรายงาน หรือภาพถ่ายควรรายงานให้ชัดเจน ส่วนเรื่องอารมณ์ความรู้สึกก็ต้องพยายามที่จะแยกให้ได้ ว่าส่วนไหนคือข้อมูล หรือส่วนไหนเป็นความคิดเห็น
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า การกระทำดังกล่าวอาจส่อผิดมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ข้อ 1. นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
2.นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
3.นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
ทั้งนี้มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งหมดนี้คือคำตอบชัด ๆ ในเรื่องการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “สติ” เพื่อใช้ในการ “คิด – วิเคราะห์ – แยกแยะ” ว่าข่าวไหน “ลือ” หรือข่าวไหน “น่าเชื่อถือ”
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมืออีกต่อไป