ธาม เชื้อสถาปนศิริ:"เป็นกลาง" ปะทะ "เลือกข้าง" ในสื่อมวลชน
หลายปีมานี้ คำว่าเป็นกลางและเลือกข้างปรากฏอยู่บ่อยครั้งในการถกเถียง เรียกร้องการทำหน้าที่ของสื่อ คนสื่อ และเจ้าของสื่อ และทั้งบอกว่าสื่อไม่เป็นกลาง หรือสื่ออย่าเลือกข้าง หรือ สื่อต้องเลือกข้างความถูกต้อง หรือ เลือกข้างความจริง ฯลฯ
แก่นหลักของอาชีพนักข่าว คือ การแสวงหาความจริง และจงรักภักดีต่อพลเมือง ภายใต้ระเบียบวิธีของการตรวจสอบพิสูจน์ข้อเท็จจริง โดยรักษาและคงไว้ซึ่งความอิสระจากสิ่งที่เขารายงาน โดย ข่าวสารที่นำเสนอต้องมีหน้าที่เพื่อตรวจสอบอำนาจนั้นๆ (รัฐบาล) อย่างอิสระ นักข่าวต้องให้มีพื้นที่สาธารณะแห่งการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ ต้องเป็นเนื้อหาที่มีความสำคัญและสัมพันธ์กับความจำเป็นของสังคม ด้วยการนำเสนอรเองราวที่เข้าใจได้ง่าย และสัดส่วนเหมาะสมพอเพียง และคนสื่อต้องทำให้ผู้คน ประชาชนได้รู้เท่าทันและฝึกคิดลับสติปัญญาอย่างสม่ำเสมอ
(ดู Principles of Journalism อ้างอิง http://www.journalism.org/resources/principles-of-journalism/
1. Journalism’s first obligation is to the truth, 2. Its first loyalty is to citizens, 3. Its essence is a discipline of verification, 4. Its practitioners must maintain an independence from those they cover, 5. It must serve as an independent monitor of power, 6. It must provide a forum for public criticism and compromise, 7. It must strive to make the significant interesting and relevant, 8. It must keep the news comprehensive and proportional, 9. Its practitioners must be allowed to exercise their personal conscience)
ส่วนตัว ผมคิดว่า เราไม่มีคำว่าเป็นกลางในการรายงานข่าว ในความหมายว่า จริงๆ แล้ว เรา(นักวารสารศาสตร์) ไม่ได้ใช้คำนี้ เพราะมีคำอื่นที่นักวารสารศาสตร์ได้บัญญัติให้ใช้กัน คือ คำว่านำเสนอข่าวอย่างเป็น วัตถุวิสัย/ภววิสัย (objectivity) ซึ่งก็คือการรายงานข่าว ที่ "ตรงต้องกับสภาการณ์ที่เกิดขึ้นจริง - ตรงไปตรงมา" นั่นเอง
แต่คนทั่วๆ ไป ทั้งอาจารย์มานิเทศศาสตร์ นักวิชาการ กระทั่งสื่อมวลชน ก็จะมักพูดว่า สื่อต้องเป็นกลาง ต้องไม่เลือกข้าง ซึ่งก็นับว่าเป็นความถูกครึ่ง ผิดครึ่งเสียมากกว่า
จริงๆ แล้ว คำว่า "เป็นกลาง" หรือที่ภาษาอังกฤษมักเลือกใช้คำว่า "neutrality" นั้น ไม่มีในหลักการวิชาการสื่อข่าวเลยแต่น้อย
มากไปกว่านั้น ในหลักการสื่อข่าว จะเน้นแนวคิด เรื่อง ความเป็นวัตถุวิสัย ซึ่งประกอบไปด้วยหลักการ ดังนี้
(1) นำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ไม่เข้าข้างฝ่ายใด (non partisan, non partiality) หรือตกอยุ่ในอิทธิพล การแทรกแซงใดๆ ทางการเมือง ทุน และกลุ่มกดดันทางสังคม
(2) นำเสนอข่าวอย่างเป็นภาวะวิสัย (objectivity) ตามสภาพจริงที่เห็น ที่พบ ที่ปรากฎ
(3) ให้พื้นที่ข่าว แหล่งข่าว ประเด็นข่าว อย่าง รอบด้าน สมดุล (balance)
(4) ให้ความเป็นธรรมกับแหล่งข่าวฝ่ายต่างๆ ที่ถูกกล่าวถึง หรือขัดแย้งกัน (fairness)
(5) ข้อมูลที่นำเสนอ ต้องมีความถูกต้อง ครบถ้วน ของข้อมูล (accuracy)
(6) นำเสนอข้อมูลที่ตรวจสอบชัดเจนแล้ว (verification)
(7) ไม่เอนเอียง อคติ บิดเบือนในการนำเสนอข่าว ไม่สอดแทรกความคิดเห็นลงไปในการรายงานข่าว (unbiased, no subjectivity, no opinion)
เพราะฉะนั้นแล้ว เวลาที่พูดว่า "สื่อมวลชนต้องเป็นกลาง" (ในความหมายแบบชาวบ้านทั่ว ๆไป) ย่อมหมายถึง การนำเสนอข่าวที่เป็นจริง ตรงไปตรงมาตามสภาพข้อเท็จจริง ตามหลักการ 7 ข้อข้างบน มิใช่ "ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างความขัดแย้ง" แบบไม่รู้ร้อน ไม่รู้หนาว
และมิใช่หมายความว่า "รายงานว่าทุกสี ทุกฝ่าย พูดอะไร โต้อะไร เถียงอะไรกันบ้าง"
กระทั่งรายงาน "คำโกหกจริงๆ ของนักการเมือง" ที่พ่นพูดหลอกลวงสาธารณะ แต่ต้องไปทำหน้าที่ ทำการบ้าน สืบค้นเชิงลึก มานำเสนอประชาชน ผู้ดู ว่าข้อเท็จจริงที่ตรงข้ามกับที่นักการเมืองโกหกคนนั้นพูดคืออะไร
ส่วนคำว่า "สื่อต้องไม่เลือกข้าง" นั้น หมายความว่า สื่อไม่สามารถเอนเอียง ฝักใฝ่ กลุ่มอำนาจทุน อำนาจการเมือง กลุ่มรณรงค์ กดดันทางสังคมใดๆ ได้ เพราะจะทำให้สื่อไม่มีความอิสระ เสรีภาพทางความคิด การพูด การแสดงออก นั่นเอง
คือ ไม่ให้เลือกเอนเอียง เลือกข้างทางการเมือง เพราะจะส่งผลให้ข้อมูลข่าวสารนั้น "เอนเอียง ไม่ตรงไปตรงมา"
แต่สื่อสามารถเลือกข้าง "ความดี ความจริง" ได้ เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของสื่อ ในการแสวงหา "ความจริง" (truth) และแม้จะนำเสนอความจริงไม่ได้ทั้งหมดสมบูรณ์ 100%
เราจึงเรียกสิ่งที่สื่อเสนอว่า "ข้อเท็จ/จริง" (fact) เท่านั้น มิใช่ความจริง (truth) เพราะสื่อหนึ่งคน นักข่าวหนึ่งคน หนึ่งองค์กร มิสามารถเข้าถึงความจริงนั้นได้รอบด้านทั้งหมดในคราวเดียว สิ่งที่นำเสนอจึงมีทั้ง ข้อเท็จ (false) และ ข้อจริง (true) อยู่ในนั้นด้วย
เว็บไซต์ http://honestreporting.com/ เขียนบทความชิ้นหนึ่ง ชื่อ 7 Principles of Media Objectivity
http://honestreporting.com/7-principles-of-media-objectivity/ โดยอธิบาย ว่า มี 7 ข้อความผิดพลาดที่สื่อมักทำ และเป็นผลให้การนำเสนอข่าวนั้นไม่เป็นไปวัตถุวิสัย คือ
“7 Violations of Media Objectivity”:
1.Misleading definitions and terminology. นำเสนอให้เกิดความเข้าใจผิด
2.Imbalanced reporting. ไม่สมดุลในการรายงานข่าว
3.Opinions disguised as news. นำเสนอคความเห็นส่วนตัว ชี้นำลงไปในข่าว
4.Lack of context. ขาดแคลนบริบทของเนื้อหา
5.Selective omission. เลือกอย่างละเว้นความจริงบางส่วนมานำเสนอ
6.Using true facts to draw false conclusions. ใช้ข้อเท็จ ข้อจริงบางอย่าง มาสู่การสรุปที่ผิดเพี้ยน หรือ ใช้ข้อเท็จจริงบางส่วนเสี่ยวมานำเสนอ
7.Distortion of facts. บิดเบือนข้อเท็จจริง
เมื่ออธิบายร่วมกับหลักการที่พูดถึงก่อนหน้านี้
เราจึงอาจพุดว่า ไม่มีคำว่า ความเป็นกลางในทางวารศาสตร์
แต่อาจอนุโลมนิยาม คำว่า เป็นกลาง ในความหมายว่า ตรงไปตรงมาต่อความจริง เป็นวัตถุวิสัย
ส่วนคำว่า เลือกข้าง จึงหมายความว่า เลือกนำเสนอแต่ ความจริง
ส่วนความดี ความเลวนั้น ขึ้นอยู่กับระดับจิตใจใฝ่ดีใฝ่ชั่วของสื่อแต่ละคน จริยธรรมสื่อมิสามารถลงไปกำกับความดีเลวในหัวใจคน ในจิตเบื้องลึกของมนุษย์ส่วนตัวได้
นั่นขึ้นอยู่กับมโนสำนึกของคนสื่อแต่ละคน
แต่คนทำงานสื่อ มิใช่มนุษย์ปุถุชนชาวบ้านทั่วๆ ไป
คนทำสื่อ คือ วิชาชีพหนึ่ง ที่มีหน้าที่ มีส่วนสำคัญในการตรวจสอบรัฐบาล ตรวจสอบคอร์รัปชั่น และต้องรับใช้ผลประโยชนืส่วนรวม สาธารณะ เพราะฉะนั้น เจ้านายที่แท้จริงของคนวิชาชีพสื่อ คือ ประชาชน มิใช่นักการเมือง เป็นหมาเฝ้าบ้านของประชาชน (watch dog) มิใช่เฝ้าทรัพย์สมบัติของนายทุน นักการเมือง หรือคนโกง
เพราะฉะนั้น คนเป็นสื่อ เป็นนักข่าว จึงควรเป็นคนดี พยายามเป็นคนดี และต้องเป็นคนดี
คนสื่อ ต้องเป็นคนที่เชื่อในความดี ความจริง
อาจไม่ใช่ และไม่เกี่ยวนักในเรื่องความดีชีวิตส่วนตัวของเขา แต่สำหรับการทำหน้าที่ต่อวิชาชีพ ต้องมีความรักในวิชาชีพ และอุดมการณ์ หลักปฏิบัติต่อวิชาชีพอย่างเคร่งครัด
ส่วนข้อถกเถียงที่ว่า “ไม่มีตรงกลางระหว่างความดี ความเลว” นั้นถูกต้อง
เพราะสองอย่างนี้ เป็นความสัมพันธ์แบบคู่ตรงกันข้าม (binary opposition) แบ่งแยกกันชัดเจน –
แต่โลกทุกวันนี้ โดนอธิบายว่า ไม่มีใครดีเลวสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ นั่นก็ยิ่งถูกต้อง
เพราะความดีเลว ดำ ขาว ชัดเจนนั้น เป็น “มาตรฐานทางอุดมคติ”
อุดมคติ คือ การเป็น “บรรทัดฐานเปรียบเทียบแยกแยะความดี-ความเลวออกจากกัน”
เป็น “norm” หรือค่าควรนิยม หรือเพื่อให้เรารู้ว่า ดี เลว ขาว ดำ อยู่ตรงไหน มิเช่นนั้นสื่อก็จะไม่มีเข็มทิศกำกับหน้าที่ตนเอง
“สื่อไม่มีความเป็นกลาง เพราะความจริง (truth) ไม่มีตรงกลาง แม้กระทั่งความจริงทางสังคม ก็อยู่ภายใต้กรอบความคิด อุดมการณ์ วัฒนธรรมแบบหนึ่งเสมอ
ความจริงที่สื่อรายงาน มิใช่ธรรมชาติ (natural) ทั้งหมด แต่เป็น เหตุการณ์ทางสังคม (social events) และเกี่ยวกับองค์ปฏิบัติทางสังคม (social organization) ดังนั้น ความจริง การเป็นกลาง และการเลือกข้าง จึงล้วนต้องกระทำอยู่บนหลักการวิชาชีพสื่อสารมวลชน มิใช่ตามใจตนเอง!
ส่วนองค์กรสื่อ ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน กับ การเมือง ทุน หรือ ฝ่ายการเมืองต่างๆ นั่นแสดงว่าสื่อนั้นๆ ได้เลือกข้างผลประโยชน์ส่วนตัว ขององค์กรมากกว่าของประเทศ การเรียกร้องให้สื่อต้องเลือกข้างประชาชนนั้น จึงสามารถทำได้
เป็นสื่อต่างหากที่ต้องเลือกข้างอยู่กับผลประโยชน์ของประชาชนที่แท้จริง