โหน่ง aday แนะใช้ประโยชน์กรณีสื่อเลือกข้าง เสพข่าวมีวิจารณญาณ
'วงศ์ทนง' บอกปัจจุบันไม่ใช่ยุครับสารฝ่ายเดียว ปชช.ต้องใช้ประโยชน์กรณีสื่อเลือกข้าง พัฒนาภูมิปัญญา-วิจารณญาณ-แยกแยะ มองสถานการณ์ขัดแย้ง ทำให้สังคมเรียนรู้ แนะรบ.เร่งลดเหลื่อมล้ำ อุดช่องความแตกต่าง
เมื่อเร็วๆ นี้ นายวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร a day กล่าวในงานเสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 59 ปี ในหัวข้อสื่อเปลี่ยนโลก "สื่อผู้สร้าง...สื่อ ผู้ (ไม่) ทำลาย" ที่จัดโดย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ อาคาเรียนรวม ห้อง SC 3005 ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ถึงกรณีที่สถานการณ์ขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบัน ส่งผลให้สื่อ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ ถูกตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ว่ามีความเป็นกลางหรือไม่อย่างไร และในฐานะที่สื่อถือเป็น Gate keeper หรือนายทวารข่าวสารได้มีการกลั่นกรองข้อมูลส่งต่อผู้รับสารอย่างถูกต้องหรือไม่ว่า จริงๆ แล้ว สื่อดีสื่อเลวมีทุกยุคทุกสมัย การจะแบ่งแยกความดีกับความเลวก็วัดกันลำบาก เพราะปัจจุบันนี้คนเรามีความเชื่อกันคนละอย่าง
"ปัจจุบันเราต่างอยู่บนพื้นฐานข้อมูลของความจริงกันคนละชุด ซึ่งสาเหตุนี้คือปัจจัยของความขัดแย้งที่ดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น พื้นฐานในการทำธุรกิจสื่อของตนเองได้วางโมเดลไว้อย่างเข้มงวดว่า จะไม่ทำสื่อห่วยๆ ออกไป เนื่องจากทุกวันนี้สื่อประเภทนี้มีเยอะแล้ว และสื่อทุกสื่อที่ออกไปจาก aday จะเป็นสื่อที่ให้ความคิด ความอ่านต่อผู้รับสาร ในขณะเดียวกันธุรกิจสื่อของเราก็ยังคงดำรงอยู่ได้ ทั้งนี้ โมเดลในการทำธุรกิจของเรา คือจะไม่รวยมาก หรือมีอำนาจมากๆ เพราะคนรวยมากๆ มีอำนาจมากๆ เป็นคนที่ไม่น่ารักสักเท่าไร"
นายวงศ์ทนง กล่าวถึงข้อดีของคนที่อยู่ท่ามกลางสื่อที่มี agenda หรือเลือกว่าอยู่ข้างไหน ว่า ผู้รับสารจะได้โอกาสในการพัฒนาภูมิปัญญาและวิจารณญาณในการแยกแยะสื่อ ข่าวที่ลงเว็บไซต์ หรือหนังสือพิมพ์ อย่ารีบเชื่อและที่สำคัญควรเสพข่าวให้มากกว่าหนึ่งสำนักข่าว และควรเสพสื่อเมืองนอกด้วย ถ้าผู้รับสารเองมอนิเตอร์ข่าวมากพอจะทำให้รู้จักการคิดวิเคราะห์และผู้รับสารจะฉลาดขึ้น ยุคนี้ไม่ใช่ยุคที่ผู้รับสารจะเป็นฝ่ายรับเพียงอย่างเดียว
"ปัจจุบันนี้หนังสือพิมพ์บอกด้วยซ้ำว่าจะเลือกใคร เลือกข้างไหน แต่สื่อก็มักบอกตัวเองว่าสื่อต้องมีจริยธรรมเป็นกลาง ซึ่งสื่อบ้านเราเป็นแบบท่องจำ จริยธรรมธรรมเหมือนกระดาษสวยๆ ว่าฉันคือฐานันดรที่ 4 มีคุณธรรมจริยธรรม ดังนั้น ยอมรับกันได้แล้วว่าสื่อในประเทศเรามีความคิดความเชื่อทางการเมือง มีจุดยืนที่ต่างกัน เพราะนี่เป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่ง ยุคสมัยนี้เป็นยุคที่สื่อยกระดับขึ้นมาคนที่จะได้ประโยชน์ คือ ประชาชน จะยกระดับความคิดความอ่านความเชื่อ ได้ดีเบตคิดวิเคราะห์ว่าอะไรจริงไม่จริง" นายวงศ์ทนง กล่าว และว่า ขนาดกฎหมายรัฐธรรมนูญยังตีความไม่เหมือนกัน ศาลตัดสินยังมีที่ไม่เชื่อ
"ที่จริงแล้วยุคนี้เป็นยุคสมัยที่ดีมาก เพราะทุกคนจะได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งประเทศอื่นที่สงบสุขจะไม่มีทางได้เรียนรู้ ทั้งนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำคือ ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมลดน้อยลง เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความแตกต่างกันมากมายขนาดนี้"
นายวงศ์ทนง กล่าวอีกว่า ยังมีสื่ออีกจำนวนหนึ่งที่เลือกข้างแบบไม่รู้ตัว ด้วยความอยู่รอดทางธุรกิจ หากไม่ผูกปิ่นโตก็ไม่ได้ผลพวง ไม่ได้ผลประโยชน์ หรือหากอีกฝั่งขึ้นมามีอำนาจก็จะโดนถอด ฉะนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญอีกเรื่องของสื่อว่า จะวางตำแหน่งในเรื่องนี้อย่างระมัดระวังได้อย่างไร
ภาพประกอบบางส่วนจาก www.thairath.co.th