นักวิชาการเปิด 10 จุดอ่อนสิ่งแวดล้อมไทย แนะเร่งแก้ก่อนเข้าเออีซี
'อดิศร์' แนะจัดระบบสิ่งแวดล้อมไทยก่อนเปิดประตูอาเซียน ชี้ 10 จุดเปราะบางที่ต้องเร่งแก้ไขก่อนเข้าเออีซี ด้านเครือข่ายพลังงานฯ ปลุก ปชช.เตรียมรับมือกลไกการลงทุนที่กระทบสิ่งแวดล้อม
เมื่อเร็วๆ นี้ กรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม จัดเสวนาโต๊ะกลม "แน่นอกกับอาเซียน เปลือยใจ เปลือยอก : อาเซียนเพื่อใคร สิ่งแวดล้อมอยู่ตรงไหน" ผ่านประเด็นศึกษากรณีเขื่อนไชยบุรี, ดอนสะโฮง, ทะเลดำ, ถ่านหิน, โรงไฟฟ้า, ท่าเรือ, นิคมอุตสาหกรรม, เกษตรพันธสัญญา, เหมืองแร่, โครงการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารไทยพีบีเอส ถนนวิภาวดีรังสิต
รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาฝ่ายการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (TDRI) กล่าวถึงการเตรียมตัวรับอาเซียน โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อมว่า ต้องกวาดบ้านตัวเองให้เรียบร้อยก่อนเปิดประตูอาเซียน เพราะวิธีการบริหารสิ่งแวดล้อมของไทยขณะนี้อยู่ในสภาวะที่เปราะบาง การดำเนินกิจการปกติของไทย รวมถึงรูปแบบการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมยังจัดการดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ได้ หากมีเพื่อนบ้านเข้ามาร่วมเสริมสร้างกำลังทางเศรษฐกิจ เกรงว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
"อยากเห็นรูปแบบการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับชาวต่างชาติได้มากขึ้น ไม่อย่างนั้นจะไม่มีผู้อยากมาลงทุนในไทย ผมไม่ได้มองว่าสิ่งแวดล้อมเป็นอุปสรรค แต่เชื่อว่าการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้มาลงทุนได้ อีกทั้งหากมีการลงทุนขณะที่การจัดการสิ่งแวดล้อมยังไม่ดีอาจก่อให้เกิดผลกระทบกับไทยเราได้"
รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวด้วยว่ามี 10 เรื่องของสิ่งแวดล้อมไทยที่ยังเปราะบาง และต้องเอาใจใส่ก่อนเข้าสู่ AEC ได้แก่
1.การบังคับใช้ผังเมืองยังไม่เป็นรูปธรรม เพราะไม่มีกฎหมายมารองรับ
2.กระบวนการทำ EIA และ EHIA ยังขาดความชัดเจน เพราะหากเจ้าของโครงการทำเองแล้วผ่านตลอด ดังนั้น กระบวนการทำ EIA ต้องมีความน่าเชื่อถือ และสามารถเป็นเครื่องมือป้องกันโครงการอันไม่พึงประสงค์ได้
3.พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากมีการแก้ไขกันมาตลอดตั้งแต่ พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่แล้วเสร็จ
4.นโยบายลดโลกร้อน ที่กระทบกับนโยบายพลังงาน เกี่ยวกับโครงสร้างภาษีน้ำมัน และการลดจำนวนคาร์บอนไดออกไซต์
5.ปัญหาขยะและน้ำเน่าเสียที่เรายังแก้ได้ไม่ถึง 40% ยังคงมีปัญหาน้ำเน่าเสียอยู่
6.ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่แม้ว่าเราจะทราบสาเหตุแต่ก็ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้
7.นโยบายด้านการเกษตร การปลูกยางพาราบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน การสนับสนุนให้ปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวโพดที่รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่า
8.การดูแล ควบคุมการทำเหมืองแร่ การดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ กองทุนชดเชย การศึกษาความคุ้มค่าก่อนลงมือทำยังไม่เพียงพอ
9.ยังมีชุมชนที่บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ เราควรเน้นป่าเศรษฐกิจมากกว่า ปลูกไม้ 100 ชนิดซึ่งเป็นไม้หวงห้ามให้เป็นไม้เชิงพาณิชย์ที่สามารถค้าขายได้อย่างถูกกฎหมาย เพราะนักลงทุนต่างชาติ ต้องการลงทุนด้านป่าไม้
10.ด้านการท่องเที่ยวที่ควรควบคุมฤดูการเที่ยวและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ธรรมชาติจะสามารถรับได้
ด้านนายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศน์วิทยาในลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า ตัว
โครงสร้างพื้นฐานหลักของการลงทุนด้านพลังงาน แต่เดิมเน้นประโยชน์ร่วมของชาติและความมั่นคงของชาติเป็นหลัก อย่างการผลิตพลังงานไฟฟ้า ความต้องการไฟฟ้า แต่ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างๆ ที่รัฐบาลก็มีนโยบายสนับสนุน
"ในเวทีอาเซียน ไทยยังเดินตามตลาดสิงคโปร์ ก่อนที่จะออกไปแข่งกับใคร ควรสร้างตลาดภายในประเทศที่ใหญ่และแข็งแรงมากพอก่อน อย่างเรื่องสาธารณูปโภคก่อนที่หลายบริษัทจะออกไปลงทุนต่างประเทศ ควรทำให้ฐานทางเศรษฐกิจในประเทศกว้างขวางก่อน กระบวนการในขณะนี้ต้องทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมบริษัทพลังงานไทยเติบโต และไปมีบทบาทในระดับภูมิภาค"
นายวิฑูรย์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยยกกรณีปัญหาเรื่องเขื่อนไซยะบุรีกับความไม่มีมาตรฐานในการทำ EHIA (Environment and Health Impact Assessment) ว่าต้องทำความเข้าใจในทางสิ่งแวดล้อมที่จะมีผลกระทบต่อพันธุ์ปลาหรือวิถีชีวิต ไม่ใช่ปล่อยให้ตัวแทนของรัฐบาลลาวออกมาตอบโต้และยืนยันว่าจะทำต่อ ขณะที่เราทำอะไรไม่ได้
"ฝากความหวังไว้ที่ภาคประชาชนในขณะนี้ให้เข้มแข็งกว่าภาคประชาชนอื่นๆ ในอาเซียน ทำอย่างไรให้กรอบคิด ปรัชญาได้เข้ารูปเข้ารอย และการกำกับดูแลที่มีมาตรฐานโดยเฉพาะการจัดการปัญหาเรื่องความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่สามารถนำไปเป็นเครื่องมือ กลไกที่จะตอบคำถามว่าใครจะต้องรับผิดชอบต่อ"
ขณะที่น.ส.ปิยะพร วงศ์เรือง ประธานชมรมนักข่าวอาเซียน กล่าวว่า กำลังพยายามเรียนรู้ว่าสื่อมองประเด็นทางอาเซียนอย่างไร ทั้งนี้ ไม่อยากให้ยึดกรอบทางการที่เรียกว่า AEC มากนัก เพราะนั่นเป็นภาพมายาลวงสื่อ ควรมองอาเซียนในฐานะเป็นสมาคม หรือกลุ่มคนที่อยู่ในภูมิภาคร่วมกัน ซึ่งจะทำให้มองเห็นประเด็นที่ครอบคลุมสามารถเห็นความเคลื่อนไหวและเชื่อมโยงได้มากยิ่งขึ้น
ด้านน.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทซ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการให้ความรู้เรื่องอาเซียนน้อยมากและยังดูเป็นเรื่องที่ยากสำหรับประชาชนที่จะทำความเข้าใจ จึงขอเสนอให้เปิดพื้นที่สื่อในการพูดถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เพราะปัจจุบันนี้มีรายการอยู่ไม่กี่ประเภท อาทิ การลงทุนในอาเซียน การท่องเที่ยว ภาษาอาเซียน ซึ่งไม่พอกับการทำความเข้าใจ ควรมีรายการที่นำเสนอการเสวนาที่ตอบโจทย์นโยบายระหว่างอาเซียนจะช่วยได้มากขึ้น