"ครูหยุย"โพสต์เฟซบุ๊กประจาน “พม.”ส่อขนเด็ก"กันชน"ม็อบปิดกระทรวง
21 ภาคีเครือข่าย ออกแถลงการณ์ เตือนทุกฝ่าย ห้ามใช้ “เด็ก”เป็นเครื่องมือทางการเมือง หลังครูหยุย โพสต์เฟซบุ๊ก ประจาน “พม.” ส่อขนเด็กเป็นกันชน ม็อบปิดกระทรวง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 คณะทำงานด้านเด็ก และภาคีเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับเด็กและเยาวชน จำนวน 21 องค์กร ได้แถลงการณ์ เรื่อง ความห่วงใยต่อสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนในสถานการณ์การชุมนุมและต้องไม่ใช้เด็กและเยาวชนเป็นเครื่องมือในทางการเมืองโดยเด็ดขาด
โดยแถลงการณ์ระบุว่า ด้วยสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบัน มีแนวโน้มและสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรง อันอาจเป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในสถานการณ์การชุมนุม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากโดยการตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ทั้งจากผู้จัดการชุมนุม ผู้ร่วมชุมนุม เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ดูแลการชุมนุม หน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่นใดก็แล้วแต่
คณะทำงานด้านเด็ก และภาคีเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับเด็กและเยาวชน จำนวน 21 องค์กร มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และขอสนับสนุนแถลงการณ์ของคณะอนุกรรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล ใน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ได้มีความห่วงใยต่อเด็กและเยาวชนในที่ชุมนุม และได้แถลงการณ์ไปก่อนหน้านี้ โดยสำหรับคณะทำงานด้านเด็ก มีข้อเสนอเพิ่มเติมต่อผู้เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
1.คณะทำงานด้านเด็ก ตระหนักถึงพลังของเด็กและเยาวชนในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกในด้านต่าง ๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเด็กและเยาวชน และเป็นส่วนหนึ่งของพลังในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปในทางที่ดีมาตลอดมา แต่ทั้งนี้การแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกต้องคำนึงถึงความเหมาะสมต่อสถานการณ์อันสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนเอง
2.คณะทำงานด้านเด็ก ไม่อาจยอมรับได้หากใช้เด็กและเยาวชนเป็นเครื่องมือในทางการเมือง โดยมิได้เกิดขึ้นจากเจตจำนงที่แท้จริงของเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะโดยกลุ่มผู้ชุมนุม หรือจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการดูแลเด็กและเยาวชน อันเป็นการละเมิดต่อหลักการคุ้มครองเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
3.ผู้จัดการชุมนุม ผู้ดูแลการชุมนุม ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ดูแลการชุมนุม จะต้องปฏิบัติทุกอย่างอันเป็นไปเพื่อการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในที่ชุมนุม จะต้องไม่มีการใช้เด็กและเยาวชนเป็นแนวหน้าในสถานการณ์อันตราย จะต้องไม่มีการใช้เด็กและเยาวชนเป็นกันชนหรือเครื่องต่อรองในทางการเมือง และต้องทำทุกประการที่จะมีหลักประกันเรื่องความปลอดภัยให้กับเด็กและเยาวชน
4.หลักประกันทั้ง 3 ประการนั้น ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จึงถือเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่รัฐผู้ดูแลการชุมนุม ผู้จัดการชุมนุม ผู้ร่วมชุมนุม ผู้ปกครองของเด็กและเยาวชน เด็กและเยาวชน ตลอดจนบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องที่ให้เปลี่ยนไปในการณ์ดังกล่าวได้ และคณะทำงานด้านเด็กจะติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็ก อันเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แถลงการณ์ฉบับออกมาภายหลังจากที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ที่มีนางปวีณา หงสกุล ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะมีความพยายามที่จะนำเด็กกำพร้าจำนวนหนึ่ง ไปรวมตัวอยู่ที่กระทรวงฯ เพื่อเป็นกันชน ในช่วงที่กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยกขบวนไปปิดล้อมกระทรวงฯ
โดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ ครูหยุย เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ได้โพสต์ข้อความและภาพประกอบเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่ใช้ชื่อว่า ครูหยุย มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
ระบุว่า “ผมเตือน "กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ"นะครับ. ใครจะประท้วงอะไรหรือเคลื่อนไหวอะไร. ขออย่าได้เกณฑ์เด็กหรือคนพิการหรือผู้สูงอายุ. ออกมาเป็นกันชน. ข้าราชการอย่ายอมเสียหลักแห่งวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์โดยเด็ดขาด. การร่วมพาไปคือ รู้เห็นเป็นใจด้วย
ก่อนจะมีการโพสต์รูปภาพเด็กจำนวนหนึ่งที่นั่งอยู่ในห้องประชุม โดยไม่ได้ทำอะไรเป็นหลักฐานประกอบ
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ติดต่อไปยังนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ “ครูหยุย” เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงดังกล่าว
โดยนายวัลลภ กล่าวว่า มีการนำเด็กเข้ามาตั้งแต่วันพุธ (27 พ.ย.56) โดยข้าราชการชั้นผู้น้อยถูกสั่งการให้พาเด็กเข้ามาเพื่อป้องกันไม่ให้ม็อบบุกกระทรวงพัฒนาสังคมฯ อย่างไรก็ตามข้าราชการทนไม่ได้จึงถ่ายรูปและแจ้งให้กรรมการสิทธิมนุษยชน และตนเพื่อช่วยเหลือเด็ก
นายวัลลภ กล่าวอีกว่า หลังจากทราบเรื่องจึงได้ประสานกับมูลนิธิอื่น ๆ 3 – 4 ที่ และเข้าไปช่วยเหลือเด็กทันที และประกาศว่าถ้ามีม็อบมาบุกก็จะไม่ให้เด็กออกไปเผชิญหน้า ส่วนกรรมการสิทธิฯ ได้โทรศัพท์ไปหาผู้ใหญ่ภายในกระทรวง หลังจากนั้นผู้ใหญ่ก็ประกาศห้ามให้เด็กออกไปเผชิญหน้ากับม็อบ และให้ส่งเด็กกลับคืน โดยล่าสุดเด็กกำพร้าเหล่านี้ได้กลับไปหมดแล้ว
เมื่อถามว่าเด็กกำพร้าดังกล่าวมาจากไหน นายวัลลภ กล่าวว่า มาจากสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี เนื่องจากใกล้ที่สุด อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าจะมีการนำเด็กจากมูลนิธิอื่นเข้ามาอีก แต่เผอิญว่าเรื่องแดงขึ้นเสียก่อน จึงมีคำสั่งยกเลิกไม่ให้พาเด็กมา
เมื่อถามว่าการกระทำดังกล่าวผิดหลักสิทธิเด็กหรือไม่ นายวัลลภ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของจิตสำนึก และต้องปล่อยให้เกิดการ Sanction (ลงทัณฑ์) จากสังคมเอง เนื่องจากสังคมมีหน้าที่ในการคุ้มครองเด็ก ยิ่งเป็นเด็กด้อยโอกาสยิ่งต้องปกป้องเป็นสองเท่า และจะมาละเมิดเองเสียไม่ได้ ดังนั้นต้องให้สังคมจัดการ
“อย่างน้อยเหตุการณ์นี้ก็เป็นบทเรียนไปถึงกระทรวงอื่น ๆ ที่คิดจะนำเด็กมาเป็นเครื่องมือ และคราวนี้น่าจะมีสามัญสำนึกบ้างแล้ว” นายวัลลภ กล่าว
เมื่อถามว่ากระทรวงพัฒนาสังคมฯ มีหน้าที่ดูแลสิทธิเด็ก แต่กลับนำเด็กมาบังหน้าแทน นายวัลลภ กล่าวว่า มันอยู่ที่สามัญสำนึกของแต่ละบุคคล ยังดีที่เรื่องนี้แดงขึ้นมาได้เพราะมีข้าราชการบางคนมีสามัญสำนึกอยู่บ้างว่าทำอย่างนี้มันไม่ถูกต้อง และเขาก็ทนไม่ได้จึงต้องถ่ายรูปไว้ และแจ้งมายังตนเพื่อขอความช่วยเหลือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 ข้อ 2 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดบังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก และข้อ 6 ห้ามมิให้ใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงานหรือกระทำการอัอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
นอกจากนี้ในมาตรา 78 ของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวระบุด้วยว่า หากผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 26 จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ