กสทช. เผย 102 ผลิตภัณฑ์โฆษณาเกินจริง เตรียมนำร่อง ‘เพชรบุรี’ เฝ้าระวัง
พบ 102 ผลิตภัณฑ์อาหารและยาโฆษณาเกินจริงในสื่อวิทยุชุมชน-เคเบิ้ลทีวี-ทีวีดาวเทียม ผลิตภัณฑ์สุขภาพมากสุด 59% ‘สุภิญญา’ เผยเตรียมผุดโมเดลจว. นำร่อง ‘เพชรบุรี’ หวังจับมือท้องถิ่นแก้ปัญหา ชงรบ.บรรจุวาระชาติ กวาดล้างธุรกิจลวงผู้บริโภคจริงจัง
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จัดแถลงผลงานตามข้อตกลงความร่วมมือ ‘การสร้างเครือข่ายร้องเรียนการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์’ ระหว่างสำนักงานกสทช. กับมหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) นครศรีธรรมราช โดยมีมรภ.สวนดุสิต มรภ.อุตรดิตถ์ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมทั้งเครือข่ายผู้บริโภคทั้ง 4 ภูมิภาค ดำเนินการด้วย
โดยผลวิจัยได้มีการศึกษาระหว่างธันวาคม 2555-กุมภาพันธ์ 2556 พบข้อมูลการโฆษณาที่เข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภคผ่านทางสื่อวิทยุชุมชน เคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียม ทั้งสิ้น 102 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์สุขภาพ 60 ผลิตภัณฑ์ (ร้อยละ 59) ยา 32 ผลิตภัณฑ์ (ร้อยละ 31) และอาหาร 10 ผลิตภัณฑ์ (ร้อยละ 10)
สำหรับเนื้อหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ พบมีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาหาร พ.ศ.2522 ทุกผลิตภัณฑ์ ขณะที่เนื้อหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์ประเภทยา ก็พบการโฆษณาแสดงสรรพคุณเกินจริง ซึ่งทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ได้มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณสามารถบำบัดบรรเทา รักษาหรือป้องกันโรค รวมไปถึงบำรุงร่างกายได้
ทั้งนี้ งานวิจัยได้มีข้อเสนอต่อ กสทช.ควรจัดทำคู่มือเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การโฆษณาที่เข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภคและผิดกฎหมาย เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้วิทยุชุมชน เคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียม พร้อมสร้างระบบกลไกการรับเรื่องร้องเรียนโดยการประสานความร่วมมือและบูรณาการกับทุกฝ่าย รวมถึงสร้างความตระหนักให้ผู้บริโภคเกิดความตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังมากขึ้น
อีกทั้งควรมีศูนย์ประสานงานการเฝ้าระวังในระดับจังหวัด ภูมิภาค หรือประเทศ และหลักสูตรเกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภคในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อเยาวชนได้มีความรู้และป้องกันสิทธิของตนเอง ที่สำคัญต้องมีการพบปะกลุ่มเสี่ยง เช่น วิทยุชุมชน เคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียม เกี่ยวกับมาตรการดูแลการโฆษณาผลิตภัณฑ์และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วย
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงผลการศึกษางานวิจัยชิ้นนี้ได้นำเสนอเข้าสู่บอร์ดกสท.แล้ว แต่สาเหตุที่ดำเนินการกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่กระทำผิดล่าช้า เนื่องจากต้องประสานความร่วมมือด้านข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ ทั้งนี้ อย.มีอำนาจในการวิเคราะห์เนื้อหาของโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารและยาว่าเกินจริงหรือไม่ และเมื่อมีการยืนยันผลกลับมา กสทช.จึงจะมีอำนาจในการลงโทษทางปกครองต่อไป เช่น แจ้งเตือน ระงับใบอนุญาต
กรรมการ กสท. กล่าวต่อว่า งานวิจัยดังกล่าวจะมีการขยายผลในระดับจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาการโฆษณาเกินจริงผลิตภัณฑ์อาหารและยา ซึ่งปีหน้าจะนำร่องที่แรกในจ.เพชรบุรี ด้วยการประสานการทำงานร่วมกับกลไกระดับจังหวัด เช่น เครือข่ายผู้บริโภค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำนักงานสาธารณสุข เพราะกสทช. คงไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้ทั่วถึง เนื่องจากมีวิทยุชุมชน เคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียม จำนวนมากถึง 8,000 สถานี ประกอบกับขาดเครื่องมือในการขับเคลื่อน
“ปีที่ผ่านมากสทช. ร่วมกับ อย. ในการเฝ้าระวังการโฆษณาเกินจริงผลิตภัณฑ์อาหารและยาในทีวีดาวเทียมได้ เพราะมีเพียง 100 สถานี แต่สำหรับวิทยุชุมชนและเคเบิ้ลทีวีจำเป็นต้องขยายความร่วมมือไปยังระดับจังหวัด” น.ส.สุภิญญา กล่าว และว่าปีหน้าคงจะไม่สามารถจะดำเนินการเฝ้าระวังได้ครบ 77 จังหวัด แต่อย่างน้อยมุ่งหวังให้จังหวัดนำร่องมีการเฝ้าระวังอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นตัวอย่างแก่จังหวัดอื่น
พร้อมกันนี้กรรมการ กสท. ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งบรรจุปัญหาการโฆษณาเกินจริงในผลิตภัณฑ์อาหารและยาเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ ใช้กลไกทำงานร่วมกับท้องถิ่นและสถานศึกษาที่ใกล้ชิดกับชุมชนในการเฝ้าระวังได้ เนื่องจาก กสทช. ขาดกลไกที่จะทำงานกับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
“หากรัฐบาลจะออกนโยบายประชานิยมที่ช่วยเหลือคนยากจนไม่ให้ถูกเอาเปรียบควรแสดงความจริงใจโดยมีนโยบายกวาดล้างธุรกิจเหล่านี้ และสนับสนุนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ช่วยดำเนินการด้วย มิใช่ตั้งเป้าเพียงคดีทางการเมือง เนื่องจากหลายธุรกิจมีส่วนโยงใยกับนักการเมืองท้องถิ่น” น.ส.สุภิญญา กล่าวในที่สุด .