ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ยึดสถานที่ราชการยังถือเป็น 'สันติวิธี'
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยแพร่ข้อความบางส่วนจาก "จดหมายถึงคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ"ของนายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คุณสุเทพครับ,
คุณสุเทพคงจำผมไม่ได้ แต่นานมากแล้ว คุณสุเทพกรุณาให้รถที่นั่งมา รับผมจากธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ไปละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดบางลำพู
ผมเขียนจดหมายฉบับนี้ด้วยความเป็นห่วงว่าความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่จะกลายสภาพเป็นความรุนแรง เช่นที่บ้านเมืองของเราเคยมีประสบการณ์มาแล้วในอดีต ทั้งที่ครั้งนี้ คุณสุเทพก็ดี นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ก็ดี ได้แสดงท่าทีชัดว่าประสงค์จะเผชิญกับความขัดแย้งครั้งสำคัญนี้โดยหลีกเลี่ยงไม่ใช้ความรุนแรง
ผมขออนุญาตเรียนให้ความเห็นคุณสุเทพเรื่องการต่อสู้ด้วย”สันติวิธี”และ อารยะขัดขืน เพราะเชื่อว่าอาจช่วยให้คุณสุเทพต่อสู้เพื่ออนาคตของทุกฝ่ายในสังคมไทยได้กระจ่างชัดขึ้น
ข้อแรก ถ้าถามว่า การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การเป่านกหวีด การเรียกร้องให้ชะลอการเสียภาษี รวมถึงการ”เดินดาวกระจาย”ไปเข้ายึดครองอาคารสถานที่ของหน่วยราชการต่างๆเป็น”สันติวิธี”หรือไม่ ผมคงตอบว่า การชุมนุมประท้วงในที่สาธารณะเป็นการแสดงออกด้วยสันติวิธีที่แพร่หลายทั่วไป การเป่านกหวีดเป็นการใช้สันติวิธีเชิงสัญลักษณ์ การเรียกร้องให้ชะลอการเสียภาษีเป็นสันติวิธีแบบไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐ ขณะที่การเข้ายึดครองอาคารสถานที่ราชการเป็นการแทรกแซงด้วยสันติวิธี
การเข้ายึดครองอาคารสถานที่เช่นนี้มีให้เห็นตั้งแต่สองพันปีก่อน เมื่อบิชอปชาวคริสต์ ปฏิเสธคำสั่งของรัฐบาลโรมันที่สั่งให้ยกส่วนหนึ่งของโบสถ์ในมิลานให้ชาวคริสต์นิกายอื่น ท่านบิชอป ละเมิดกฏยึดครองโบสถ์ทำพิธีมิสซาในโบสถ์อยู่ 5 วัน นี่เกิดเมื่อปี ค.ศ.385 หรือ ชาวอเมริกันอินเดียนเป็นร้อยคนบุกยึดเกาะอัลกาตราสในอ่าวซาน ฟรานซิสโกซึ่งรัฐบาลอเมริกันใช้เป็นคุกมานาน เหตุเกิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1969 พวกเขายึดเกาะนี้อยู่ถึง 2 ปี (15 คนสุดท้ายถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางพาตัวออกไปเมื่อ มิถุนายน 1971) หรือที่รู้จักกันทั่วโลกก็คือการใช้สันติวิธีเข้ายึดครองพื้นที่ทางเศรษฐกิจ การเงินกลางเมืองใหญ่ของโลกอย่างนิวยอร์ค ลอนดอน และ เมลเบิร์น เมื่อปี 2011 สันติวิธีเหล่านี้ล้วนเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายในระดับต่างๆกัน แต่เรื่องนี้คุณสุเทพในฐานะนักกฎหมายคงทราบดีอยู่แล้ว
ข้อสอง “สันติวิธี”เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง คนใช้สันติวิธีต้องทำความเข้าใจการทำงานของเครื่องมือที่ตนใช้ว่าทำงานอย่างไร ส่งผลเช่นไร เช่นเมื่อคุณสุเทพประกาศว่าแนวทางการต่อสู้ที่ใช้เป็น”อารยะขัดขืน” ก็หมายความว่า ผู้ใช้ต้องพร้อมรับโทษทัณฑ์ที่จะต้องได้รับจากการใช้สันติวิธีละเมิดกฎหมาย เพราะพลังของอารยะขัดขืนไม่ได้อยู่ตรงการขัดขืนเท่านั้น แต่อยู่ที่การยอมรับบทลงโทษที่จะเกิดขึ้นกับ”คนดีๆ”ที่ขัดขืนกฎหมายหรือนโยบายของรัฐ การขัดขืนและการยอมรับผลของการขัดขืนเป็นไปเพื่อให้คนในสังคมที่แลเห็นฉุกคิดว่า กฎหมายหรือนโยบายที่พวกเขาขัดขืนเป็นสิ่งไม่ชอบ จึงเกิดความขัดแย้งลึกซึ้งในระดับมโนธรรมสำนึกของสังคม จนผลักดันให้นักการเมืองต้องแก้กฎหมายหรือยกเลิกนโยบายเหล่านั้น เช่นกรณีการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนผิวดำในสหรัฐฯโดยสาธุคุณมาร์ติน ลูเธอร์ คิง เมื่อกลางศตวรรษที่แล้ว
ข้อสาม อารยะขัดขืนไม่ใช่สันติวิธีที่มีไว้เพื่อล้มรัฐบาล หรือเปลี่ยนระบอบการเมือง เพราะการยอมรับการลงโทษคือการยืนยันความชอบธรรมของผู้ลงโทษคือรัฐ-รัฐบาล ในแง่นี้ อารยะขัดขืน ทำงานเสริมระบอบประชาธิปไตยที่มีตัวแทนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะเมื่อผู้ใช้อารยะขัดขืนเดินเข้าสู่ที่คุมขัง พร้อมๆกับที่มโนธรรมสำนึกในสังคมถูกปลุกให้ตื่นขึ้น ก็จะช่วยชี้ให้ผู้ออกกฎหมายในสภาได้ประจักษ์ว่า กฎหมายบางข้อหรือนโยบายบางอย่างของรัฐผิดพลาดไม่เป็นธรรม ทำให้พลเมืองดีต้องติดคุกติดตะราง และดังนั้นต้องแก้ไขหรือยกเลิกเสีย
สี่ สันติวิธีมีวิธีการต่างๆเป็นร้อยวิธี ถ้าวิธีการที่คุณสุเทพใช้ไม่ใช่อารยะขัดขืน แต่เป็นสันติวิธีหรือปฏิบัติการไร้ความรุนแรงรูปแบบอื่น ก็อาจทำได้และใช้สู้กับรัฐบาลก็ได้ อีกทั้งยังทำให้รัฐบาลล้มก็ได้ด้วย เช่นที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆในละตินอเมริกา (เช่นชิลี เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา และอื่นๆ)11 ประเทศระหว่างปี ค.ศ.1931-1961 แต่รัฐบาลที่ล้มลงด้วยพลังสันติวิธีของประชาชนที่รวมตัวกันต่อสู้เหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นรัฐบาลเผด็จการทหารหรือไม่ก็เป็นรัฐบาลพลเรือนที่มีทหารหนุนหลัง อันที่จริงมีผลการวิจัยพบว่าสันติวิธีใช้ได้ผลต่อรัฐบาลเผด็จการยิ่งกว่าจะนำมาใช้ต่อสู้กับรัฐบาลในระบบประชาธิปไตยซึ่งมีฐานความชอบธรรมมาจากการเลือกตั้ง
ข้อห้า มีคนถามผมว่า การต่อสู้แบบนี้เมื่อใดจึงจะหยุดเป็นสันติวิธี? ตรงนี้คงตอบได้ 2 ทาง
ทางแรก คนที่สมาทานสันติวิธีจำนวนมากเชื่อว่า ไม่สามารถใช้สันติวิธีไปเพื่อเป้าหมายที่ไม่เป็นธรรมชนิดที่ไม่สร้างเสริมอิสระเสรีในสังคมการเมืองได้ พูดง่ายๆคือ การอดอาหารประท้วงเป็นสันติวิธีเมื่อคนอดใช้ประท้วงผู้เผด็จการหรือจักรวรรดินิยมให้ปลดปล่อยผู้คนของตนให้เป็นอิสระ แต่ถ้าผู้เผด็จการใช้วิธีอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ตนอยู่ในตำแหน่งมีอำนาจต่อไป อย่างนี้ไม่ใช่สันติวิธี
ที่สอง ผมเองเห็นว่า ไม่ว่าเป้าหมายในการต่อสู้จะเป็นเช่นไร เพื่อสร้างประชาธิปไตย หรือเพื่อรักษาสถาบันการเมืองสำคัญในชาติ แต่วิธีการที่เรียกว่า”สันติวิธี”จะหมดความหมายเมื่อผู้นำการต่อสู้หรือผู้ใช้ไม่เห็นว่า ทุกชีวิตไม่ว่าหนุ่มสาว หรือแก่เฒ่าที่เสียสละตนเองเข้าท้าทายอำนาจรัฐล้วนแล้วแต่มีคุณค่าในตนเองทั้งนั้น พวกเขามีคนที่รักและเป็นห่วงเขา ทุกชีวิตเป็นเป้าหมายศักดิ์สิทธิ์ในตนเองและดังนั้นจึงไม่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือไปเพื่อบรรลุอะไรทั้งนั้น
ข้อสุดท้าย การใช้สันติวิธีสู้กับอำนาจรัฐมีความเสี่ยง ทั้งจากกฎหมายของรัฐและจากความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น เพราะไม่ได้หมายความว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งใช้สันติวิธีแล้วฝ่ายที่ตนต่อสู้ด้วยจะไม่ใช้ความรุนแรง ด้วยเหตุนี้ ทุกคนที่ก้าวออกมาต่อสู้เช่นนี้ต้องได้รับรู้ว่ากำลังเสี่ยงกับอะไรและทำไปเพื่ออะไร ในแง่นี้พวกเขาควรต้องเห็นรูปร่างหน้าตาของอนาคตที่เป็นไปได้จริงเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะต่อสู้หรือไม่อย่างไรด้วย
ที่ตัดสินใจใช้สันติวิธี เลือกใช้วิธีนี้ด้วยเหตุผลหลากหลาย ส่วนใหญ่ก็เพราะเห็นว่าวิธีการนี้มีพลังเช่นที่สังคมไทยกำลังประจักษ์อยู่ แต่ที่สำคัญไม่แพ้ประสิทธิผลของสันติวิธีคือ ความเชื่อของคนที่ต่อสู้ด้วยวิธีนี้ว่า อนาคตที่ตนมุ่งสร้างนั้นสวยงาม เติบโตขึ้นบนเนื้อดินแห่งมิตรไมตรีไม่ใช่ความเป็นศัตรูที่ต้องประหัตประหารกันให้สิ้นไป
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, 28 พฤศจิกายน 2556