ชาวอุดมศึกษา หนุนโมเดล สจล. ใช้สภามหาวิทยาลัยตรวจสอบผู้บริหาร
เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หวังโมเดล สจล. ที่สภามหาวิทยาลัยใช้อำนาจตรวจสอบ-ถอดถอนอธิการบดีจะเป็นตัวอย่างให้สถาบันการศึกษาแต่ละแห่ง ถือโอกาสปัดกวาดบ้านตัวเองให้สะอาด
จากกรณีที่ สภามหาวิทยาลัยของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 พิจารณาผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่อธิการบดี แก้ผลการเรียนให้กับลูกตนเอง โดยมีมติ 9 ต่อ 4 เสียง ให้ถอดถอนศ.ดร.ถวิล พึ่งมา พ้นจากตำแหน่งอธิการบดี นั้น
รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ ประธานหลักสูตรนิติวิทยาศาสตร์ ม. เกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า ถือเป็นข่าวใหญ่ที่สุดในวงการอุดมศึกษาไทยในรอบปี ที่สภามหาวิทยาลัยได้ใช้อำนาจในการตรวจสอบและถอดถอนอธิการบดี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะเป็นสภาเกาหลัง เป็นกลุ่มพรรคพวกอธิการบดี ทำให้การตรวจสอบอธิการบดีที่กระทำการลุแก่อำนาจ ไม่สามารถทำได้ บางมหาวิทยาลัย อธิการบดีถูก สตง. ชี้มูลทุจริต และประชาคมในมหาวิทยาลัยได้ลุกขึ้นมาต่อต้านเป็นข่าวใหญ่โต แต่ก็ยังไม่มีการขยับใดๆจากสภามหาวิทยาลัย
รศ. ดร. วีรชัย กล่าวต่อถึงกรณีที่ ทปอ. มีมติให้ทุกมหาวิทยาลัยร่วมโครงการ ”บัณฑิตไทยโตไปไม่โกง” ว่า ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยจัดทำโครงการนี้ เหมาะกับสถานการณ์บ้านเมืองและวงการอุดมศึกษาในช่วงนี้อย่างมาก เป็นการสร้างค่านิยมในการต่อต้านการทุจริต และอยากให้โมเดลของสภามหาวิทยาลัยของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นตัวอย่างในการตรวจสอบภายในของแต่ละมหาวิทยาลัยไปพร้อมกันด้วย
“หากบ้านเรายังไม่สะอาดพอ ก็ไม่สามารถสอนนักศึกษาเรื่องการทุจริตได้เต็มปากเต็มคำ” รศ. ดร. วีรชัย กล่าว
ด้าน อ.นุจรี ใจประนบ ฝ่ายเลขานุการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวว่า ศูนย์ประสานงานฯ ได้รับข้อมูลหลากหลายจากสมาชิกตัวแทนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ หลายเรื่องเกี่ยวข้องกับการบริหารงานที่ไม่เป็นธรรม ฝ่าฝืนกฏหมาย ซึ่งอยากให้สภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ทำการตรวจสอบมากขึ้น เช่น กรณีของผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฎแห่งหนึ่งใน จ. มหาสารคาม ได้ดำเนินการละเมิด พ.ร.บ. ประกันสังคม ที่ระบุให้ พนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัย และรัฐบาล จ่ายเงินเข้าสมทบกองทุนในส่วนละ 33% แต่ได้มีประกาศของมหาวิทยาลัยที่ทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยผลักภาระการจ่ายเงินในส่วนมหาวิทยาลัย ไปหักเงินเดือนของอาจารย์มหาวิทยาลัยตนเองแทน นั่นหมายถึง อาจารย์เหล่านั้นต้องจ่าย 66% ถือเป็นการละเมิดกฏหมายอย่างร้ายแรง อยากให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/pages/Free-Kmitl/680942698590781