กรมธรณีฯ แจงปรากฏการณ์น้ำร้อนใน “ลำชี” เป็นเรื่องธรรมดา ชาวบ้านอย่าแตกตื่น
จากปรากฏการณ์น้ำในลำชี สุรินทร์ อุณหภูมิสูงขึ้นจนชาวบ้านตื่นกลัวว่าเป็นรอยเลื่อนแผ่นดินไหว ล่าสุดกรมทรัพยากรธรณีเผยเป็นกระบวนการความร้อนจากแสงอาทิตย์ทำปฏิกิริยากับเกลือใต้ดิน เคยเกิดมาแล้ว ไม่เป็นอันตราย
วันที่ 21 มิ.ย.54 นายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยถึงผลการตรวจหาสาเหตุกรณีน้ำในลำน้ำชี ที่บ้านพลวงคุ้มโคกช้าง ต.คอโค อ.เมือง จ.สุรินทร์ มีอุณหภูมิสูงผิดปกติ ว่าจากการนำตัวอย่างน้ำมาทดสอบพบว่าสาเหตุที่เกิดจากเกลือสินเธาว์ตามธรรมชาติที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปัจจัยสำคัญคือกระบวนการจากแสงอาทิตย์ เนื่องจากอากาศร้อนจัด ฝนไม่ตก ทำให้ระดับน้ำลดขณะที่มีเกลือทั้งจากใต้ท้องน้ำและบนฝั่งชะล้างลงไปในน้ำเป็นปกติอยู่แล้ว
เมื่อน้ำแห้งขอดลงก็เพิ่มความเข้มข้นของเกลือซึ่งแยกระดับชั้นกัน โดยใต้ท้องน้ำจะมีความเข้มข้นมากที่สุด ส่วนกลางและบนจะเจือจางตามลำดับ ในช่วงกลางวันความร้อนจากแสงแดดที่ส่องลงมาจะถูกกักเก็บไว้ใต้ท้องน้ำและไม่สามารถคายความร้อนกลับขึ้นไปได้ตามปกติเพราะมีชั้นความเค็มของน้ำเกลือคอยกั้นอยู่อีกถึง 2 ชั้น จึงทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงถึง 36 องศาเซลเซียส ซึ่งน้ำในบริเวณดังกล่าวเคยมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น
นายเลิศสิน กล่าวอีกว่าสำหรับกรณีที่พบปลาตายนั้น เกิดจากสาเหตุที่มีคนลงไปเดินในน้ำ ทำให้ความเข้มข้นของเกลือกระจายตัวจนทำให้ปลาตาย ทั้งนี้ในช่วงสุดสัปดาห์ฝนได้ตกลงมาทำให้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น นอกจากนั้นขอชี้แจงว่าจุดที่เกิดปรากฎการณ์น้ำร้อนไม่ใช่แม่น้ำชี แต่เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูลที่ชาวบ้านเรียกลำชี และจากข้อมูลของชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ก็เรียกบริเวณดังกล่าวว่า “วังเค็ม” หรือ “วังร้อน” อยู่แล้ว จึงยืนยันได้ว่าปรากฎการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนและเป็นไปตามธรรมชาติไม่ควรแตกตื่น
นอกจากนั้นผลตรวจน้ำก็ไม่พบโลหะหนักตามที่ตั้งข้อสังเกตไว้ในเบื้องต้น แม้จะพบสารสีแดงเจือปนอยู่ในน้ำ แต่จากการสอบถามนักวิชาการที่ชำนาญทราบว่าเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ชอบอาศัยอยู่ในอุณหภูมิสูงและมีความเค็มเท่านั้น และไม่น่าจะเป็นอันตรายอะไร.