สื่อตกเป็นเป้าทางการเมือง ‘สุภิญญา’แนะฟรีทีวีเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายค้านอย่างสมดุล
11 องค์กรวิชาชีพสื่อ ลงนามร่วมเจตนารมณ์กำกับดูแลกันเอง เน้นส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ รับผิดชอบสังคม ‘สุภิญญา’ เผยฟรีทีวีขาดอิสระ เหตุโครงสร้างมีปัญหา เชื่อหลังประมูลดิจิตอลปลายปี 56 เเก้ปัญหาได้ 'ปธ.สภาวิชาชีพข่าวฯ' ชี้จริยธรรมจะต้องเดินหน้าไปพร้อมกันทั้งสังคม
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดโครงการสัมมนาวิชาการเพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ปี 2556 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล ลาดพร้าว
โดยภายในงานมี 11 องค์กรวิชาชีพ ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง ได้แก่ 1.สภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) 2.สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) 3.สมาคมสภาองค์กรวิชาชีพวิทยุโทรทัศน์ภาคประชาชน 4.สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย 5.สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย 6.สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย 7.สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ 8.สมาคมเคเบิ้ลทีวีแห่งประเทศไทย 9.สมาคมสื่อสารมวลชนสัมพันธ์จักรชัยเพื่อความมั่นคง 10.สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย และ11.สมาคมสภาผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ไทย
ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ความรับผิดชอบ ยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในการนำเสนอข่าวสารและแสดงความคิดเห็น สนับสนุนสิทธิในการจัดตั้งองค์กรเพื่อป้องกันสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรม รวมทั้งสนับสนุนการมีกลไกกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับในการปฏิบัติและยึดถือร่วมกัน
จากนั้นในเวทีเสวนา ‘ศักยภาพขององค์กรวิชาชีพสื่อในการกำกับดูแลกันเองภายใต้มาตรฐานจริยธรรม’ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า การลงนามประกาศเจตนารมณ์กำกับดูแลกันเองครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อบ่งบอกว่า องค์กรวิชาชีพสื่อเกิดความตื่นตัวแล้ว เพราะจะมุ่งหวังให้รัฐเข้ามากำกับสื่อฝ่ายเดียวคงไม่เพียงพอ ดังนั้นจะต้องตระหนักรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นสื่อรายเล็กรายใหญ่ เชื่อว่าต่างมีความห่วงใยและหวงแหนสิทธิเสรีภาพทั้งสิ้น อีกทั้งเชื่อว่าอนาคตจะมีองค์กรเข้ามาร่วมกำกับดูแลกันเองเพิ่มขึ้นอีก
กรรมการกสท. กล่าวถึงกรณีสื่อกำลังตกเป็นเป้าต่อสถานการณ์บ้านเมืองรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ฉะนั้นจะต้องคิดทำอย่างไรให้เกิดความพอใจทุกคนในสังคมได้ ซึ่งยอมรับว่า สื่อฟรีทีวียังขาดความเป็นอิสระ และโครงสร้างมีปัญหา ส่งผลให้นักวิชาชีพไม่สามารถทำงานตามหลักวิชาชีพได้
อย่างไรก็ตาม ปลายปี 2556 เมื่อเกิดการประมูลคลื่นทีวีดิจิตอลขึ้น จะเป็นโอกาสดีของสังคมไทยที่สื่อฟรีทีวีจะร่วมกันกำกับดูแลในระบบใบอนุญาต แต่ปัจจุบันนี้คงต้องแก้ปัญหาระยะสั้น ด้วยการประคับประคองไปก่อน เช่น ฟรีทีวีต้องเปิดพื้นที่สื่อให้ฝ่ายค้านมากขึ้น หรือทีวีดาวเทียมต้องไม่นำเสนอข้อมูลที่นำไปสู่การคุกคามและความรุนแรง
ส่วนระยะยาวนั้น น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า 11 องค์กรที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ก็จะวางกติกาที่ให้สื่อมีสิทธิเสรีภาพต่อไป และเห็นควรให้สังคมมีวุฒิภาวะเรียนรู้ด้วยตนเอง ภายใต้จุดสมดุลบนฐานของจริยธรรม
ด้านรศ.อรุณีประภา หอมเศรษฐี ประธานกรรมการสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) กล่าวถึงการทำงานของสื่อมวลชนต้องยอมรับความแตกต่างของความหลากหลาย โดยคนทำสื่อต้องใจกว้าง และคนชมต้องรู้จักการยอมรับ เพื่อจะได้ชมสื่ออย่างมีความเข้าใจมากขึ้น ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีช่องสื่อเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวขององค์กรวิชาชีพเฉพาะกลุ่มอย่างวิทยุชุมชน เพื่อช่วยกำกับดูแลในขั้นรายละเอียด โดยที่องค์กรวิชาชีพจะดูแลในภาพรวม แต่หากไม่สามารถจะดำเนินการกับสื่อที่กระทำความผิดได้จะส่งเรื่องไปยัง กสทช. เพื่อกำกับดูแลแทน
ขณะที่นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า สื่อถือเป็นบริบทหนึ่งของสังคม ดังนั้นการกำกับดูแลกันเองมิได้หมายความว่า สื่อจะต้องกำกับดูแลกันเองเท่านั้น แต่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องกลับมามีบทบาทในการกำกับดูแลสื่อด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีผู้เชี่ยวชาญจากแหล่งต่าง ๆ เข้ามาร่วมมืออยู่แล้ว
“สภาพสังคมปัจจุบันมีความซับซ้อนมาก จึงไม่สามารถที่จะชี้ชัดได้ว่าอะไรใช่หรืออะไรไม่ใช่ ยกตัวอย่าง ละครชุดฮอร์โมน บางคนบอกว่าไม่ได้ บางคนบอกว่าได้ ซึ่งเพียงละครเรื่องเดียวมุมมองก็แตกต่างกันแล้ว” ประธานสภาวิชาชีพฯ กล่าว และว่า ดังนั้นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในสังคมคือช่องทางกำกับดูแล โดยสมาคมต่าง ๆ เป็นตัวเชื่อมโยง แต่มิได้หมายความว่าการกำกับดูแลนั้นจะต้องมีบทลงโทษ ท้ายที่สุด มองว่า จริยธรรมหรือการกำกับดูแลกันเองจะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันทุกสังคม .
ภาพประกอบ:เเนวหน้าออนไลน์