'โหน่ง-วงศ์ทนง' ชี้สื่อตัวการสำคัญ กระพือความขัดแย้งทางการเมืองขยายสู่ปชช.
'วงศ์ทนง' ระบุเหตุขัดแย้งทางการเมืองตัวการสำคัญคือ "สื่อ" ย้ำต้องมีความรู้-รับผิดชอบ เลือกข้างได้ แต่ต้องนำเสนอข้อมูลที่ถูก ด้าน “หนุ่มเมืองจันท์” วอนอย่าส่งคบเพลิงความเกลียดชั่งผ่านพาดหัวข่าว หวังคนไทยมี 'ต่อม' กลั่นกรองในสถานการณ์ความขัดแย้ง
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 59 ปี ในหัวข้อสื่อเปลี่ยนโลก “สื่อผู้สร้าง...สื่อ ผู้ (ไม่) ทำลาย” ณ อาคาเรียนรวม ห้อง SC3005 ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีรศ.พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
ในช่วงแรกของการเสวนาเริ่มต้นด้วยหัวข้อ "สื่อผู้สร้าง (แรงบันดาลใจ)" นายวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้ก่อตั้งก่อตั้งนิตยสาร a day และ a day Foundation กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการตัดสินใจมาเริ่มงานหนังสือของตัวเองว่า คิดอยู่เสมองานแรกและงานสุดท้ายที่คิดว่าจะทำคืองานหนังสือ และเป็นคนที่เริ่มงานหนังสือมาโดยตลอด เมื่อวันหนึ่งตัดสินใจจะทำหนังสือของตัวเองก็ ถามตัวเองกลับว่า เรามีควาฝันความหรือความหวังอะไรในชีวิต และวันที่ตัดสินใจเรามีทักษะอะไรบ้าง การตัดสินใจมาทำหนังสือของตัวเองเพราะเราสามารถเอาความเชื่อความชอบใส่ลงไปในหนังสือของเราได้
“จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่า สื่อมีพลัง สื่อมีอำนาจ ที่หล่อหลอมสังคมได้ ในฐานะคนทำสื่อไม่รู้ว่า แท้ที่จริงคุณธรรมจริยธรรม รวมถึงความรับผิดชอบของเราอยู่ตรงไหน เมื่อสื่อที่เราทำได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ”
นายวงศ์ทนง กล่าวถึงสื่อที่ดีนั้น ควรจะตระหนัก 2 เรื่องด้วยกัน อย่างแรกควรรจะพัฒนาตนเองเรื่องความรู้อยู่เสมอเพราะคนเป็นสื่อจะรู้น้อยกว่าคนเสพไม่ได้ และเห็นว่า สื่อในปัจจุบันไม่มีความรู้ ดังนั้นหากสื่อไม่พัฒนาศักยภาพของตนเองในการขวนขวายหาความรู้ สื่ออาจจะเป็นผู้เผยแพร่ความคิดความเชื่อที่เลวร้ายไปสู่ผู้คนในสังคม
"เรื่องที่ 2 คือสื่อที่ดีต้องมีความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบในที่นี้คือ ประเทศของเราเกิดความขัดแย้ง ซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองได้ขยายไปสู่ประชาชน จากที่ได้เฝ้ามองปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเห็นว่า ตัวการที่สำคัญที่เป็นตัวกระพรือความขัดแย้งอย่างเข้มข้น คือ สื่อมวลชน" ผู้ก่อตั้งก่อตั้งนิตยสาร a day กล่าว และว่า ประเทศไทยคนทำสื่อเองมักจะบอกตัวเองว่า สื่อต้องเป็นกลางเพราะเป็นมาตรฐานของคนทำสื่อ แต่ขณะนี้สื่อไม่เป็นกลาง เพราะทุกคนมีความเชื่อความชอบส่วนตัว และสื่อในบ้านเราก็เลือกข้างอย่างชัดเจน เนชั่น มติชน ก็ข้างหนึ่ง ดังนั้นการที่สื่อจะเลือกข้างจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในต่างประเทศก็มี แต่ว่าการเลือกข้างเวลานำเสนอข่าวควรจะเป็นในเชิงข้อมูลที่แท้จริง
สำหรับเรื่องแรงบันดาลใจของคนทำสื่อนั้น นายวงศ์ทนง กล่าวว่า คนที่จะให้แรงบันดาลใจคนอื่นได้นั้นตัวเองจะต้องเป็นคนที่ไม่ขาดแคลนแรงบันดาลใจ และต้องพยายามมอนิเตอร์ตัวเองตลอดเวลา อีกทั้งองค์ความรู้ส่วนใหญ่จะได้มาจากการอ่าน นอกจากหนังสือแล้ว การอ่านในอินเทอร์เน็ตก็เป็นสื่อที่เปิดกว้าง แต่คนรุ่นใหม่กลับใช้อินเทอร์เน็ตที่ไร้สาระจนน่าเสียดาย
"โซเชียลเน็ตเวิร์กเหมือนห้องสมุดใหญ่ของโลกใบนี้ แต่ทุกคนกลับใช้โซเชียลในการแชทมากกว่า นอกจากนี้จะต้องไม่ปล่อยตัวเองให้อยู่ในที่แคบๆ ออกเดินทาง และอ่านหนังสือ หากทำได้ทั้ง 2 อย่างจะทำให้เรารู้สึกว่า ตัวเองเหนือชั้น"
ด้านบุญชัย สุขสุริยะโยธิน นักโฆษณา บริษัทชูใจ กล่าวถึงวิธีหาแรงบันดาลใจให้เริ่มจากตัวเองว่า สิ่งที่เราทำใช่หรือไม่ รวมทั้งจะต้องมองสิ่งที่อยู่รอบข้างของตัวเอง เพราะแรงบันดาลใจอยู่รอบตัวเราเสมอ การเห็นโลกที่กว้างช่วยสร้างแรงบันดาลใจ แต่การเดินทางเข้าไปข้างในตัวเราเองก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุดเช่นเดียวกัน เรามักสื่อสารกับคนรอบข้างแต่เรามักไม่สื่อสารกับตัวเอง หากเราสื่อสารกับตัวเองมากขึ้นเราก็จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ขณะที่นายมนต์ศักดิ์ ชัยวีระเดช อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการสร้างแรงบันดาลใจ คือ การเสาะแสวงหาในสิ่งที่แตกต่าง ประสบการณ์จากการเรียนมีความสำคัญเป็นข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้ข้อมูลที่มีตกตะกอน คือ การสังเกตสิ่งภายนอก ถ้าอ่านมากจะเกิดกระบวนการวิเคราะห์ ถ้ารับสื่อเพียงอย่างสื่อเดียวเช่นแต่เฟชบุ๊ก จะรู้สึกว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าเราสามารถรับสื่อหรืออ่านได้มากว่าหนึ่งเล่ม เราจะเห็นมุมมองที่ต่างกัน เราจะแยกแยะได้ว่า นี่คือ สิ่งที่ใช่หรือว่าไม่ใช่
อย่างไรก็ตามนายมนต์ศักดิ์ กล่าวว่า ทุกคนจะต้องทำหน้าที่และบทบาทของตนเองให้ดีที่สุด ตัวสื่อมวลชนควรจะนำเสนอความจริง หากท้ายที่สุด "สาร" ไม่ตรงกับสิ่งที่ตรงกับกรอบความคิด ก็เป็นโอกาสอันดีของผู้รับสารที่จะเปิดใจให้กว้าง วิเคราะห์เบื้องหน้าเบื้องหลังว่า สื่อไม่เสนอแบบนี้เป็นเพราะอะไร อาจจะทำให้เราเข้าใจการนำเสนอข่าวมากขึ้น
ชี้ต่อมกลั่นกรองเวลาเกิดความขัดแย้งต้องดี
ส่วนนายสรกุล อดุลยานนท์ หรือ “หนุ่มเมืองจันท์” อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชนและปราะชาชาติ กล่าวถึงสื่อผู้(ไม่) ทำลาย ว่า หลักของการทำงานของตนเองคือสามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องอยู่คือความเมตตา ต้องไม่ส่งคบเพลิงความเกลียดชัง ด้วยการพาดหัวข่าว เนื้อข่าว ฟอเวิร์ดเมล์ เฟชบุ๊ก โดยไม่ผ่านการกลั่นกรอง
"ผมฝันอยากให้ทุกคนมีต่อมการกลั่นกรอง รวมทั้งเราควรจะมองโลกอย่างมีความหวัง ไม่ใช่ทำร้ายคนอื่นแล้วนอนหลับฝันดี เวลาทำข่าวหัวใจสำคัญคือเขาโกหกไหม ถ้าเขารู้แต่ตั้งใจปิดนั่นหมายความว่า จริยธรรมสื่อมีปัญหา" หนุ่มเมืองจันท์ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ของตัวเรามีความสำคัญ ทุกครั้งความจริงที่เกิดขึ้น ศพแรกที่ตายคือความจริง ดังนั้นต่อมการกลั่นกรองเวลาเกิดความขัดแย้งต้องดี
นายสรกุล กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองขณะนี้ เป็นเรื่องธรรมดาที่สื่อจะโดนกล่าวหา บางครั้งสื่อกับกลายเป็นเครื่องมือนักการเมือง เพราะนักการเมืองที่เก่งจะเขาจะใช้สื่อเก่งเช่นเดียวกัน ดังนั้นทุกอย่างจึงอยู่ที่วิจารณญาณ การกลั่นกรอง อีกทั้งการแข่งขันของสื่อเน้นว่า ใครเร็วกว่า ใครทำให้การตรวจสอบบางลง
ขณะที่นางสาววรลักษณ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ Thai PBS กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญมากและให้คุณค่าในการประกอบอาชีพและยึดมาโดยตลอดนั่นคือการมีคุณธรรมจริยธรรม สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่สอนให้เราให้อะไรกับตัวเอง แต่ยังสอนว่า เราควรให้อะไรกับสังคมด้วย ดังนั้นจะบอกตนเองอยู่เสมอว่า ต้องหาความรู้หาข้อมูลว่าจะทำอย่างไรให้คนที่เสพข่าวเราเท่าทันสื่อด้วย รวมทั้งจะต้องมีจริยธรรมในการประกอบอาชีพเพื่อผู้รับสารจะได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ และไม่ตกเป็นเครื่องมือของสื่อ
"Thai PBS เป็นสื่อที่ไม่ต้องแสวงหาผลกำไรหรือสนใจเรตติ้ง สามารถทำงานให้อยู่ภายใต้กรอบและจริยธรรมได้ง่าย เพราะมีอิสระในการเลือกทำข่าว สามารถเสนอข่าวอะไรก็ได้ถ้ามองแล้วว่า เป็นประโยชน์ นับเป็นความโชคดีที่สามารถทำงานได้อย่างมีอิสระ ไม่ค่อยมีความหนักใจในการคัดเลือกประเด็นมานำเสนอ ซึ่งในปัจจุบันสื่อมีบทบาทและอิทธิพลมาก ในโลกโซเชียลมีเดีย การหยิบเอาข้อมูลต่างๆมาใช้เป็นพื้นฐานข้อมูลก็มีไม่น้อย ดังนั้นสื่อจะต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ข้อมูลที่หยิบยกน่ามีความน่าเชื่อถือว่าข้อมูลที่ได้มาเป็นข้องเท็จจริง'
สุดท้ายนายอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ Product Development Manager เว็บไซต์ Pantip กล่าวว่า สื่อจะเป็นผู้สร้างหรือผู้ทำลายบางครั้งก็อยู่ที่การตั้งคำถามของสื่อเองด้วยเช่นกัน คือคำถามควรจะเป็นคำถามที่ตอบคนอื่นได้ด้วยไม่ใช่ถามเพื่อตอบตัวเอง และคำถามก็ควรเป็นคำถามที่สามารถนำไปต่อยอดในเรื่องความคิดได้