“หมอวรงค์”ปูดกลางสภาฯ ผู้มีอำนาจเรียกรับเงินระบายข้าวถุง 5 พันล.
"หมอวรงค์" โชว์สมการ 3 ประสาน ทุจริตระบายข้าวถุงรัฐบาล "อคส. -บริษัทปรับปรุง- ตัวแทนจำหน่าย" พบพิรุธการดำเนินงานทุกขั้นตอน อนุมัติพร่ำเพรื่อ สัญญามีช่องโหว่ข้าวหายไม่ถึงมือประชาชน ปูดกลางสภาฯ ผู้มีอำนาจเรียกรับเงิน 5 พันล. จี้ “ยิ่งลักษณ์” ในฐานะประธาน กขช. รับผิดชอบ-รมต.ประท้วงวุ่น
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 เวลา 09.30 น. การอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นวันที่สองเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นอภิปรายถึงความไม่ชอบมาพากลในการระบายข้าวถุงของรัฐบาล ระบุชื่อตอนว่า "จุดจบจำนำข้าวสู่อวสานรัฐบาลยิ่งลักษณ์"
ทั้งนี้ นพ.วรงค์ ระบุว่า โครงการระบายข้าวถุงของรัฐบาล ภายใต้การอนุมัติของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีความไม่ชอบมาพากลหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติพร่ำเพรื่อ สัญญาที่เขียนไว้เอื้อประโยชน์ให้โรงสี เพราะไม่การระบุระยะเวลาสิ้นสุดในสัญญา เหมือนฝากปลาย่างไว้กับแมว ส่อเปิดช่องให้มีการนำข้าวไปเวียนเทียนได้ ขณะที่สัญญาไม่มีตัวแทนฝ่ายรัฐลงนามแต่เบิกข้าวออกไปได้ ซึ่งนายกฯ ในฐานะประธาน กขช.จะต้องชี้แจงและร่วมรับผิดชอบกับเรื่องนี้
นพ.วรงค์ อธิปรายว่า การระบายข้าวถุงของรัฐบาล มี 3 ส่วนคือ ข้าวถูกใจ ข้าวธงฟ้า และข้าวตราสัญลักษณ์ อคส. จากการตรวจสอบพบว่า ข้าวตราสัญลักษณ์อคส. มีสัดส่วนการผลิตมากที่สุด แทนที่จะเป็นข้าวถูกใจ และธงฟ้า ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญในการช่วยเหลือคนจน แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฎคือ ข้าวตราสัญลักษณ์ อคส. หาไม่ค่อยเจอในท้องตลาด จึงเกิดความสงสัยว่า ข้าวส่วนนี้ไปอยู่ที่ไหน
กระทั่งนำมาสู่การตรวจสอบของหลายหน่วยงาน จนพบว่ากระบวนการระบายข้าวถุงส่วนนี้ ส่อว่าจะมีปัญหาการทุจริตเกิดขึ้น มีการวางแผนอย่างแยบยล ในลักษณะการให้บริษัทกลุ่มหนึ่ง เป็นตัวแทนเข้ามารับซื้อข้าวราคาถูก ก่อนนำสิทธิไปขายต่อให้กับบริษัท อีกกลุ่มหนึ่ง เพื่อนำไปขายต่อในราคาแพง ทำให้ข้าวไปไม่ถึงมือประชาชน เป็นการทำงานในรูปแบบสมการ 3 ประสาน คือ อคส. บริษัทปรับปรุงข้าว และบริษัทตัวแทนจำหน่าย
นพ.วรงค์ ระบุว่า จากการเชิญตัวแทน บริษัทตัวแทนจำหน่ายข้าว 3 ราย คือ บริษัท สยามรักษ์ จำกัด , บริษัท คอนไซน์เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท ร่มทอง จำกัด มาให้ข้อมูลได้รับการยืนยันว่าไม่ได้นำข้าวไปกระจายต่อให้กับร้านทั่วไป บริษัทเหล่านี้ไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับข้าว และมีการนำสิทธิไปขายต่อในราคาถูกให้กับบริษัทปรับปรุงข้าว ก่อนที่บริษัทเหล่านี้จะนำไปขายต่อให้ในราคาแพงทำให้รัฐบาลขาดทุนจำนวนมหาศาล
"ผมมีหลักฐานยืนยันว่าการทำสัญญาซื้อขายสิทธิต่อดังกล่าว เกิดขึ้นที่ อคส. ขณะที่บริษัท สยามรักษ์ เป็นบริษัทเก่าของ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส่วนอดีตกรรมการบริษัทอีกรายหนึ่ง คือ นายเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ ก็เป็นน้องชายของ นพ. เกรียงชัย ประสงค์สุกาญจน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานคณะกรรมการบริหาร อคส. และจากการตรวจสอบก็พบว่า นพ. เกรียงชัย เป็นเพื่อนร่วมรุ่นนักศึกษาแพทย์กับ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ ด้วย ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมกันอย่างชัดเจน"
นพ.วรงค์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนข้อมูลบริษัทปรับปรุงข้าวตัวหลัก คือ บริษัทเจียเม้ง บริษัท สิงห์โตทองไรซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และหจก. โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ นั้น จากการตรวจสอบพบว่า การขายสิทธิต่อของบริษัทสยามรักษ์ แหล่งเงินที่นายศุภกร แซ่เฮ้ง คู่สัญญานำมาใช้ในการซื้อข้าว มาจากบริษัท เจียเม้ง
"นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่าโครงการข้าวถูกใจที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2555 แต่ปรากฏว่าบริษัท เจียเม้งฯ ได้สั่งทำถุงใส่ข้าวถูกใจเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2555 เท่ากับว่าสั่งทำถุงก่อนจะอนุมัติโครงการ"
ขณะที่ หจก. โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ เจ้าของคือ เสี่ยเปี๊ยก (นายเอนก ฉัตรไชยศิริ) ซึ่งเชื่อมโยงกับ เสี่ยเปี๋ยงผู้ใกล้ชิดคนแดนไกล ตัวละครสำคัญ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจการระบายข้าว จีทูจี และระบายข้าวในประเทศ ที่มีการเปิดเผยข้อมูลไปแล้ว
ส่วน บริษัท สิงห์โตทองไรซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตัวละครใหม่ จากการตรวจสอบพบว่า เป็นของ เสี่ยหรั่ง อยู่กำแพงเพชร มี รมต. ชื่อย่อ “ว.” เป็นเด็ก ''เจ๊ ด.'' ให้การสนับสนุนอยู่
นพ.วรงค์ ยังกล่าวหาด้วยว่า จากการตรวจสอบพบว่า กขช. มีมติระบายข้าวถุงครั้งใหญ่ อยู่ 4 ครั้ง รวมจำนวนข้าว 2.5 ล้านตัน แต่ทำไม่ได้ทั้งหมด และมีการสั่งยกเลิกในเวลาต่อมา หลังจากที่ถูกตรวจสอบพบข้อมูลความไม่ชอบมาพากล แต่มีการยืนยันข้อมูลว่า มติการสั่งระบายข้าว ครั้งที่ 4 จำนวน 1.8 ล้านตัน ครั้งสุดท้าย ผู้มีอำนาจที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ เรียกขอรับผลประโยชน์เป็นจำนวนสูงถึง 5 พันล้าน ส่วนเหลือให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปแบ่งกันเอง จึงมีความเป็นไปได้ว่า ตัวเลขวงเงินที่อาจเกิดขึ้นในขั้นตอนการระบายข้าวแบบ จีทูจี ที่ ป.ป.ช. เตรียมจะสรุปผลการสอบสวนในช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายน นี้ อาจจะสูงเป็นระดับหมื่นล้านบาท
“ผลจากการที่โครงการรับจำนำมีปัญหาการทุจริตจำนวนมาก เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาล ค้างจ่ายเงินค่าข้าวให้กับชาวนา ที่ค้างมาหลายเดือนแล้ว ในช่วง 2 เดือนนี้ต่อจากนี้ รัฐบาลไม่มีเงินจ่ายให้กับชาวนาอย่างแน่นอน ของเก่าก็ยังปิดบัญชีไม่ได้ แต่สิ่งที่น่าเจ็บใจที่สุด คือ โครงการระบายข้าวถุง มีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยคนจน แต่ข้าวไม่ถึงมือประชาชน อย่างแท้จริง นายกฯ ในฐานะประธาน กขช. ซึ่งเป็นผู้อนุมัติการดำเนินงานต้องรับผิดชอบ จะพูดแต่ว่าหนูไม่รู้ไม่ได้"
@ยิ่งลักษณ์ ยันไม่รู้จัก-ไม่เกี่ยวข้องบริษัทปมข้าวถุง
ต่อมาเวลา 12.36 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลุกขึ้นชี้แจงเรื่องโครงการจำนำข้าว ยืนยันว่านโยบายรับจำนำข้าวให้ประโยชน์เกษตรกรโดยตรง ทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน จีดีพีเพิ่มขึ้นปีละ 1.6 แสนล้านบาน และในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบเกษตรโซนนิ่ง วิเคราะห์ความเหมาะสมพื้นที่ ให้ได้ผลผลิตดีขึ้น ที่สำคัญผลจากโครงการรับจำนำข้าวทำให้เกษตรกรได้รับเต็มเม็ดเต็มหน่วย จากที่ผ่านมาชาวนามีเงินออมเพิ่มขึ้น 18-26% หลายคนมีความสามารถชำระหนี้ได้ รวมถึงช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวย คนจน
"รัฐบาลได้เน้นย้ำไม่ให้เกิดการรั่วไหล หรือการทุจริต โดยสั่งในระดับปฏิบัติการให้ป้องกัน ตรวจสอบ ตั้งคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบทุจริตจำนำข้าว ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นประธาน รวมถึงได้ปรับปรุงขั้นตอนต่างๆ เช่น การขึ้นทะเบียน การส่งมอบ การเก็บรักษา การระบายข้าว และติดตั้งกล้องซีซีทีวี เข้มงวดในทุกๆ ขั้นตอน เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ" นายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ตนได้มอบหมายให้ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธานประชุมทุกครั้ง รวมถึงกำกับดูแล กำหนดนโยบายแนวทาง และมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการรั่วไหล
"ในระดับปฏิบัติการกรมส่งเสริมการเกษตร กำกับโดย รมช.เกษตร กรมการค้าภายใน กำกับโดย รมช.พาณิชย์ ธกส. กำกับโดย รมช.คลัง อตก. กำกับโดย รมช.เกษตร และอคส กำกับโดย รมว.พาณิชย์ ขณะที่การตรวจสอบการจ่ายเงิน มาจากกระทรวงการคลัง โดยผ่านสำนักงบประมาณ เข้า 3 หน่วยงาน โดยเฉพาะเงินของเกษตรกร จ่ายผ่าย ธกส.ทุกบาททุกสตางค์"
ส่วนกรณีที่พูดถึงประเด็นข้าวถุงนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวยืนยันว่า ไม่รู้จักชื่อ บุคคล หรือบริษัทตามที่กล่าวอ้างมาและไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง ส่วนปัญหาข้าวถุงนั้นอยู่ในระดับปฏิบัติ แต่หากมีปัญหาต่างๆ ทั้งการทุจริต รั่วไหล ยินดีดำเนินการตามขั้นตอน ไม่มียกเว้น
@นิวัฒน์ธำรง รับเบิกทำข้าวถุงจริง 5.9 แสนตัน
จากนั้นนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ลุกขึ้นชี้แจงต่อ แต่ฝ่ายค้านได้ขอประท้วง ตามข้อบังคับ 171 ให้นายกรัฐมนตรี หรือผู้ที่ถูกอภิปรายชี้แจงกรณีดังกล่าวด้วยตนเอง ทั้งนี้ ให้การใช้สิทธิ์พาดพิง ไม่ควรเป็นการใช้สิทธิเพื่อชี้แจงแทน จนทำให้เกิดการถกเถียงกัน
นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวถึงกรณีที่พาดพิงว่ามีรัฐมนตรีได้รับส่วนแบ่งกับการทุจริตข้าวถุงว่าอยู่ในส่วนการปฏิบัติ ที่นายกรัฐมนตรีไม่เกี่ยวข้อง เนื่องจากอยู่ในระดับนโยบาย
"ส่วนที่ว่ามีการทุจริตหลายร้อยล้านบาทจากการนำข้าว 2.5 ล้านตันไปทำข้าวถุงนั้น โครงการเป็นเช่นนั้นจริง แต่เบิกไปทำข้าวถุงเพียง 5.9 แสนตัน ที่เหลือได้สั่งให้คืนคลังทั้งหมด ดังนั้น ตัวเลขที่กล่าวว่านำข้าวไป 2.5 ล้านตันนั้นจึงไม่จริง ทั้งนี้ เรื่องทุจริตทั้งหลายการตรวจสอบยังไม่สำเร็จลุล่วง หากฝ่ายค้านมีข้อมูลใดข้อให้นำส่ง เพื่อนำไปดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป"