จำนำพ่นพิษ “อลงกรณ์” คาดไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าว 3 ปีติดต่อกัน
"อลงกรณ์ พลบุตร" มากะดึกอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชี้โครงการจำนำข้าวทุกเมล็ด ทำประเทศชาติขาดทุนมากที่สุด ล้มเหลวมากที่สุด ผิดพลาดตั้งแต่วิธีคิด บริหาร ทุจริตครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ แถมเสียแชมป์ส่งออกข้าว 3 ปีติดต่อกัน
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 เวลาประมาณ 23.10 น. การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โดยนายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายถึงโครงการรับจำนำข้าว ทำประเทศชาติขาดทุนมากที่สุด ล้มเหลวมากที่สุด ผิดพลาดตั้งแต่วิธีคิด บริหารจัดการ และมีการทุจริตครบวงจร
โครงการจำนำข้าว ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2554 นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ทำให้ชาวนามุ่งผลิตข้าวอายุสั้น จนภาพลักษณ์ข้าวไทยเสียหาย ปัจจุบันนี้ประเทศไทยได้เสียแชมป์พันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดของโลกให้พม่า เมื่อปี 2554 และกัมพูชา ปี 2555 ยิ่งเมื่อรวมกับกระบวนที่หละหลวม มีการทุจริต การขนข้าวข้ามเขต ก็ทำให้ข้าวหอมมะลิไทยกำลังสูญเสียตลาดให้กับเวียดนาม และกำลังสูญเสียตลาดข้าวนึ่งในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์นี่เอง หลังจากเพียรพยายามมา 40 ปี กว่าจะสร้างขึ้นมาได้
“ไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าว 2 ปีแล้ว คาดว่า จะเสียแชมป์เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งการเสียแชมป์โลกส่งออกข้าว หรือเสียแชมป์พันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกิดจากโครงการจำนำข้าวที่จำนำทุกเม็ด และสูงกว่าราคาตลาด”
ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. กล่าวอีกว่า การบริหารจัดการในโครงการจำนำข้าว ยังทำให้รัฐขาดทุนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ระยะเวลาแค่ 2 ปี ขาดทุนกว่า 4 แสนล้านบาท เชื่อมั่นว่า 3 ปี จะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 7-8 แสนล้านบาท เนื่องจากข้าวที่ระบายไม่ออก ข้าวเสื่อมสภาพจะทำให้การขาดทุนสูงกว่านี้
ส่วนกรณีการจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาล่าช้านั้น นายอลงกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลถังแตก ขาดสภาพคล่องที่จะนำมาใช้ในโครงการจำนำข้าว ซึ่งแทนที่รัฐบาลจะยอมรับตรงไปตรงมา กลับบอกว่า การที่ยังไม่จ่ายเงินให้ชาวนา เพราะต้องตรวจสอบการสวมสิทธิ์ข้าวต่างด้าวก่อน
“ ทำไมรัฐบาลไม่ยอมรับกันตรงๆ อ้างเหตุผลนี้ ผมจึงรับไม่ได้ เพราะการจ่ายเงินล่าช้า ไม่เกิดเฉพาะจังหวัดชายแดนเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ซื้อทุกเมล็ด ขายไม่ออก เงินก็จม นี่คิดง่ายในแง่นักธุรกิจ ฉะนั้นโครงการจำนำข้าว จึงเกิดปัญหาขึ้นแล้ว เริ่มกระทบต่อสถานะธ.ก.ส. และการจ่ายเงินจำนำข้าวล่าช้ายังส่งผลกระทบกับชาวนา ทำให้วงจรหนี้สินชาวนาเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ เป็นที่มาของการตกเขียว ”
สำหรับการระบายข้าว นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า เห็นใจกระทรวงพาณิชย์ที่ขณะนี้มี 2 ทางเลือก จะขายข้าวขาดทุนมาก หรือขาดทุนน้อยเท่านั้น แต่เมื่อรัฐบาลทำลายกลไกตลาดการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งอดีตมีภาคเอกชนเป็นหัวใจหลัก จึงอยากถามว่า การค้าข้าวโดยรัฐแบบนี้จะไปรอดหรือไม่
“เห็นได้จากการระบายข้าวด้วยวิธีต่างๆ ของรัฐที่ผ่านมาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ทั้งการประมูลผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) ก็ล้มเหลว เช่น ตั้งเป้าประมูล 1.4 แสนตัน มีผู้มาประมูล 4 ราย ขายได้แค่ 1.4 หมื่นตัน แม้กระทั่งการเปิดประมูลรอบ 2 ที่เปิดประมูลในราคาต่ำกว่ารอบแรก ก็ยังไม่รู้จะขายได้กี่หมื่นตัน”
ทั้งนี้ ในช่วงท้าย นายอลงกรณ์ กล่าวถึงการทุจริตครบวงจรในโครงการจำนำข้าวด้วยว่า มีรูปแบบการโกงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มีสต๊อกลม เวียนเทียนข้าว สวมสิทธิ์ชาวนา เอื้อเครือข่ายพวกพ้องตัวเอง ฯลฯ รวมถึงการระบายข้าวถุงที่ราคาต่ำกว่าตลาด ทำให้ได้กำไรมหาศาล