ชินวรณ์ ชี้นายกฯ ปรับครม.เอื้อประโยชน์ 7 รมต.รับตำแหน่งต่างตอบแทน
ชินวรณ์ อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ 3 ประเด็น ชี้พูดอย่างทำอย่าง หนีการตรวจสอบ เอื้อประโยชน์พวกพ้อง เผยชื่อ 7 รมต.ได้รับแต่งตั้งแบบต่างตอบแทน
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นคนแรก ภายหลังที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ขึ้นอภิปราย ว่าไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี จากการบริหารราชการแผ่นดินบ่งพร่อง ไร้ความสามารถ ไร้ภาวะผู้นำ 3 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นที่ 1 เป็นนายกรัฐมนตรีที่พูดอย่างทำอย่าง ไม่ทำตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา และสัญญาต่อพี่น้องประชาชน หนีการประชุมสภา หนีการตรวจสอบเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ทำลายระบบคุณธรรมในระบบราชการ ระบบการเมือง และระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างสิ้นเชิง อีกทั้ง ไม่มีส่วนในการกำหนดนโยบาย กำหนดวิสัยทัศน์ ผลการดำเนินงานตรงกันข้ามกับนโยบายที่แถลง เช่น ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น การประกาศขึ้นค่าแรง 300 บาท และปริญญาตรี 15,000 บาท
"การประกาศขึ้นค่าแรง 300 บาท และปริญญาตรี 15,000 บาท ก่อปัญหาต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นการผลักภาระให้ภาคเอกชนในการจ่ายค่าแรง เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญ ทำให้เอกชนขึ้นราคาสินค้า ดังเช่น ตัวเลขของนักวิชาการที่ระบุว่าเป็นการสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่จากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ทำให้ภาวะค่าครองชีพสูงขึ้น นอกจากนั้นยังทำให้สินค้าเกษตรตกต่ำ ถูกทั้งแผ่นดิน ชัดเจนว่าพืชผลทางการเกษตรทุกตัวที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารราคาลดลงทั้งหมด ตั้งแต่ข้าวโพด จากกิโลกรัมละ 9 บาทในปีที่ผ่านมา ในปีนี้อยู่ที่ราคา 7.75 บาท ขณะที่ราคาข้าวโพดที่ขายได้กลับเป็นการนำข้าวโพดมาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา เช่นเดียวกรณีมันสำปะหลัง หอมแดง และราคายางพารา"
ประเด็นที่ 2 นายกรัฐมนตรีหนีการตรวจสอบ ครอบงำวุฒิสภา ใช้อำนาจเสียงข้างมาก และไม่เข้าประชุมสภา ทั้งที่ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ การปกครองโดยรัฐสภา ต้องนั่งประชุมทุกคน ไม่ใช่แอบอ้างประชาธิปไตย แต่ไม่เข้าประชุม
ประการที่ 3 นายกรัฐมนตรีเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ต่างตอบแทน เรื่องแรก คือ การแต่งตั้งรัฐมนตรี ปรับคณะรัฐมนตรี 5 ครั้ง ครั้งแรก ปรับ 16 ตำแหน่ง ครั้งที่ 2 ปรับนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ครั้งที่ 3 ปรับ 23 ตำแหน่ง ครั้งที่ 4 ปรับในส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา 2 ตำแหน่ง ครั้งที่ 5 ปรับ 18 ตำแหน่ง แสดงให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจหน้าที่ของตนเอง แต่งตั้งรัฐมนตรีต่างตอบแทน เอื้อประโยชน์กับคนในระบบทักษิณ แต่งตั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบอาวุโส ระบบคุณธรรม แต่แต่งตั้งจากพรรคพวกกลุ่มทุน บุคคลที่เคยมีส่วนเกื้อกูลในคดีคอร์รัปชั่น
โดย นายชินวรณ์ ได้กล่าวถึงรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วย 7 คน ที่ระบุข้อมูลว่ารับตำแหน่งมาจากผลประโยชน์ต่างตอบแทน ได้แก่
1.นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคความหวังใหม่ ร่วมกับทักษิณ ชินวัตร ทำงานทางการเมือง และอาสาเข้าไปเป็นนายหน้าเจรจาซื้อขายสนามกอล์ฟอัลไพน์
2.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม จากศูนย์ข้อมูลประชาธิปไตยไทย ระบุว่ามีสายสัมพันธ์ทางการเมือง ในโควต้าสายชินวัตรจันทร์ส่องหล้า แม้จะเป็นคนดี แต่ตั้งข้อกล่าวหาว่าต่างตอบแทน เตรียมการอภิมหาโปรเจคใหญ่ ที่จะทำให้คนไทยเป็นหนี้ 2 ล้านล้านบาท ยาวนาน 50 ปี
3.นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข สนิทสนมโดยตรงกับนายกรัฐมนตรี จากการสำรวจของโพล ประชาชนไม่รู้จัก แต่เคยมีการดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง และเคยนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ในเครือแสนสิริ กรุ๊ป เกี่ยวข้องโดยตรง เพราะมีการซื้อขายเฟอร์นิเจอร์ร่วมกันกับบริษัทเอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น รวมถึงเกี่ยวข้องในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะที่นายกฯ ไว้วางใจ ให้ดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง
4.นายนิวัฒน์ธํารง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เกี่ยวข้องและสัมพันธ์โดยตรง เป็นที่รู้กันว่าเกี่ยวข้องโดยตรงมาตั้งแต่เป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ จำกัด เป็นประธานบริษัทในเครือทั้งหมด และหลังสุดเป็นประธานบริหารกลุ่มชิน คอร์เปอร์เรชั่น
5.นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม คนที่ติดตามทางการเมืองรู้จักดีว่า เคยเป็นอดีตอัยการสูงสุด และเกี่ยวข้องโดยตรง โดยไม่คำสั่งไม่ฟ้องคดีความเสียหายแก่รัฐ ฟ้องร้องทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ร่วมวินิจฉัย เรื่องเกี่ยวกับโครงการจำหน่ายสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว และเกี่ยวข้องคดีทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจจับระเบิดซีทีเอ็กซ์
6.นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ เป็นอดีตข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวข้องโดยตรงกับบริษัทกุหลาบแก้ว ที่เป็นส่วนสำคัญในการซื้อขายดาวเทียมให้กับบริษัทเทมาเส็ก ของสิงคโปร์ และร่วมมือให้มีการซื้อขายนอกตลาดแบบไม่ต้องจ่ายภาษี
7.นางเบญจา หลุยเจริญ รมช.คลัง มีส่วนในการขายหุ้นชินคอร์ป 7.3 หมื่นล้านบาทแบบไม่ต้องเสียภาษี รวมถึงเคยเป็นกรรมการบริษัท ปตท.
นายชินวรณ์ กล่าวเน้นย้ำว่า กลุ่มนี้มีผลงานรับประกันคุณภาพ ซึ่งเกรงว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไป กลุ่มนี้อาจนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นโครงการอภิมหาโปรเจค ที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่จ่ายภาษี และขายนอกตลาด จึงขออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี
ขณะที่ นายกรัฐมนตรี ขึ้นชี้แจงว่า การแต่งตั้งโยกย้ายพิจารณาจากหน่วยงาน ตามขั้นตอน เช่นเดียวกับรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหา เช่น นางเบญจา นายยรรยง และนายนิวัฒน์ธำรง ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า ไม่ได้รับตำแหน่งจากผลประโยชน์ต่างตอบแทนตามที่มีการกล่าวหา
ขอบคุณภาพประกอบ http://www.tnews.co.th