การเมืองไทยกับไฟใต้
รัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่มาได้ 2 ปีเศษก็ถูกปลุกม็อบไล่ งานนี้โทษใครไม่ได้นอกจากตัวเองที่ไปผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ “ฉบับสุดซอย-ทะลุซอย” ล้างผิดเหมาเข่งย้อนหลังไปร่วม 10 ปี ไม่กำหนดรูปแบบคดีความผิดยิ่งกว่าเซ็น "เช็คเปล่า" แม้ภายหลังรัฐบาลจะรู้ตัวและ "ประกาศถอย" แต่ก็สายไปเสียแล้ว
น่าแปลกใจไม่น้อยว่าประเด็นที่ "จุดติด" จนกลายเป็นกระแสขับไล่รัฐบาลอย่างกว้างขวาง เป็นเรื่องนิรโทษกรรมล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับการเสียดินแดนรอบปราสาทพระวิหารที่รัฐบาลพยายามให้ข้อมูลเฉพาะด้านบวกว่าไทยได้เปรียบในคดีพิพาทกับกัมพูชาที่ศาลโลกตัดสิน ทั้งที่จริงๆ มีแนวโน้มเสียเปรียบมากกว่า ขณะที่ประเด็นแวดล้อมอื่นๆ กลับกลายเป็นประเด็นสะสมความไม่พอใจ เช่น โครงการจำนำข้าวที่ขาดทุนไปแล้วหลายแสนล้าน หรือโครงการรถคันแรกที่ทำให้รถติดวินาศสันตะโรกว่าเดิม
และแน่นอน ด้วยสภาพการเมืองที่รวมศูนย์อำนาจแบบสุดๆ ของประเทศไทย เมื่อเกิดเหตุการณ์เขย่าเสถียรภาพรัฐบาลครั้งใหญ่ ก็ทำให้ความเคลื่อนไหวในภาคส่วนอื่นๆ แทบจะหยุดไปโดยปริยาย ตลอดร่วมๆ 1 เดือนที่ผ่านมาแทบไม่มีใครพูดถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งๆ ที่ยังมีเหตุระเบิด ลอบยิง มีคนบาดเจ็บล้มตายแทบทุกวัน
ไม่ใช่แค่การเมืองรวมศูนย์ แต่สื่อมวลชนเองก็รวมศูนย์ เน้นรายงานเฉพาะสถานการณ์ในกรุงเทพฯ ไม่ต้องไปวิจารณ์ใคร เอาแค่ผมเองซึ่งทำงานสื่อกระแสหลัก คือหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในส่วนกลางด้วย ยังต้องสาละวนกับข่าวม็อบจนห่างหายไม่ได้เขียนคอลัมน์นี้เพื่อพูดคุยกับท่านผู้อ่านไปเกือบเดือนเหมือนกัน
อาจเป็นเพราะแบบนี้ก็ได้ที่ทำให้คนในพื้นที่จำนวนไม่น้อยอยากให้มีการกระจายอำนาจ และบริหารจัดการตนเอง เพราะการเมืองและสื่อที่กรุงเทพฯทำเหมือนปัญหาภาคใต้แยกส่วนออกจากปัญหาของประเทศไทยชั่วคราว
ผลด้านหนึ่งจากความวุ่นวายในส่วนกลางที่ส่งถึงการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้แล้วก็คือ การพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ต้องเลื่อนออกไป ซึ่งจริงๆ การพูดคุยครั้งที่ 4 อย่างเป็นทางการก็เลื่อนมาหลายครั้งแล้ว นับจากการพบปะกันครั้งที่ 3 เมื่อ 13 มิ.ย.2556
การเลื่อนนัดครั้งล่าสุดไปหยุดอยู่ที่ราวๆ วันที่ 1-3 ธ.ค.2556 โดยข่าววงในระบุก่อนหน้านี้ว่ามีการกำหนดวันร่วมกันแน่นอนแล้ว คือ วันที่ 2 ธ.ค.ด้วยซ้ำ ทว่าไม่กี่วันนี้มีข่าวรัฐบาลไทยขอเลื่อนออกไปเป็นหลังวันที่ 5 ธันวาฯ แน่นอนว่าด้านหนึ่งคงเป็นเหตุผลเรื่องภารกิจของรัฐบาลเนื่องในวันมหามงคล เพราะองค์ประกอบในคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยเกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการระดับสูง ซี 11 ด้วยกันทั้งสิ้น
แต่เหตุผลที่ปิดกันไม่มิดอีกด้านหนึ่งก็คือ ฝ่ายความมั่นคงยังไม่ตกผลึกว่าจะควบคุมสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองได้เมื่อไหร่ เพราะล่าสุดรัฐบาลก็เพิ่งประกาศขยายพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ (หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่าพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) ครอบคลุมกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต นนทบุรีทั้งจังหวัด และ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ กับ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี พร้อมขยายเวลาไปจนถึงสิ้นปี คือวันที่ 31 ธ.ค.2556 กันเลยทีเดียว
บางฝ่ายถึงกับประเมินว่าการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นอาจไม่เกิดขึ้นอีกแล้วในปีนี้ หรืออาจไม่เกิดขึ้นอีกเลย เพราะสถานภาพของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ง่อนแง่นเต็มที หนำซ้ำ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย ก็ยังมีความไม่แน่นอนบนเก้าอี้ของตนเอง เพราะศาลปกครองสูงสุดใกล้จะมีคำพิพากษาเต็มทีในคดีที่ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช. ฟ้องขอทวงตำแหน่งคืน
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยามนี้ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ในทางการเมืองต้องบอกว่าหมดสภาพไปแล้ว เพราะ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด รวมทั้งประธานสภา นายกฯ และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่สนับสนุนรัฐบาล จำนวน 312 คน ถูกยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง กรณีเสนอและเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นที่มาของ ส.ว. ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นร่างแก้ไขที่มิชอบตามรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา
การไต่สวนถอดถอนของ ป.ป.ช. จึงเสมือนเป็นพิธีกรรมเท่านั้น เพราะใบเสร็จชัดอยู่แล้วว่าทั้ง 312 คนกระทำผิด!
อนาคตของรัฐบาลตอนนี้เหลืออยู่ไม่กี่แนวทาง เช่น ยุบสภาทันทีหลังเปิดให้ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ (รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่านายกฯไม่สามารถยุบสภาได้หากถูกฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจคาอยู่) หรือจะยื้อเวลาต่อไปเป็นช่วงหลังวันที่ 2 ธ.ค.2556 ซึ่งนักการเมืองกลุ่มบ้านเลขที่ 109 เมื่อครั้งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้น (เมื่อ 2 ธ.ค.2551) จะพ้นโทษถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และกลับมาลงเลือกตั้งได้อีกครั้ง
ดูจากการประกาศขยายพื้นที่ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ของรัฐบาลเมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว น่าจะเลือกแนวทางยื้อเวลาออกไป อย่างน้อยก็หลังวันที่ 2 ธ.ค. เพื่อให้นักการเมือง อดีต ส.ส. และอดีตรัฐมนตรีที่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง ได้สมัครเข้าพรรคเพื่อไทยให้เรียบร้อยเสียก่อน จะได้พร้อมลงสู้ศึกเลือกตั้งแทน ส.ส.ชุดปัจจุบันกว่า 250 คนที่กำลังอยู่ในกระบวนการถอดถอนโดย ป.ป.ช.
เพราะพลันที่ ป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหามีมูล ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. 312 คนต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน (ถ้าถอดถอนก็โดนเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปี ถ้าไม่ถอดถอนก็กลับสู่สภาพเดิม แต่ก็จะมีช่วงเวลาสุญญากาศให้ลุ้นระหว่างรอวุฒิสภาโหวต) ความสุ่มเสี่ยง สับสนวุ่นวายจึงมีมาก รัฐบาลน่าจะเลือกยุบสภาไปก่อนมากกว่า
ที่วิเคราะห์มาให้ฟังทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะบอกว่า อายุของรัฐบาลชุดนี้น่าจะเหลืออีกไม่มากแล้ว หรือหากจะยังพอมีเวลาต่อไปก็คงสาละวนอยู่กับการแก้ไขปัญหาการเมือง ในขณะที่การพูดคุยสันติภาพที่ยังค้างคาอยู่ ข้อเรียกร้อง 5 ข้อของฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาร่วมกัน และที่สำคัญการพูดคุยสันติภาพยังไม่ได้ถูกยกขึ้นเป็น "วาระแห่งชาติ" ที่ทุกรัฐบาลต้องสานต่อ ฉะนั้นหากมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่แล้วการเมืองเปลี่ยนขั้ว ทุกอย่างก็จะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่
จะว่าไปสถานการณ์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะการเมืองไทยไร้เสถียรภาพเช่นนี้มานานแล้ว และส่งผลต่อการพูดคุยสันติภาพ หรือการเจรจาเพื่อยุติความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอดหลายทศวรรษ
มีข่าวเล็กๆ ที่อยากจะฝากทิ้งท้ายก็คือ หากยังโชคดีมีการพูดคุยสันติภาพครั้งต่อไป คณะพูดคุยฝ่ายไทยน่าจะไม่มี พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้รอบรู้โครงสร้างขบวนการปฏิวัติปัตตานี ร่วมคณะไปด้วยอีกแล้ว เพราะเจ้าตัวเข้าไปร่วมในโควต้าของที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ซึ่งวันนี้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปแล้ว ขณะที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ ก็ไม่ได้ตั้ง พล.อ.สำเร็จ เป็นที่ปรึกษา ทว่าเป็น พล.อ.ขวัญชาติ กล้าหาญ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4
เพิ่งได้คุยกับ พล.อ.สำเร็จ เมื่อไม่นานมานี้ ท่านบอกว่าถ้านายกฯ (ซึ่งขณะนี้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย) ไม่สั่งให้ไป ก็คงไม่ไปร่วมแล้ว...ถือเป็นมารยาทและสปิริตของ "นักรบตัวจริง" อย่าง พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย แต่ถึงกระนั้นก็รู้สึกเสียดายความรู้ความสามารถของท่าน ที่สำคัญงานที่ พล.อ.สำเร็จ ทำมา สามารถซื้อใจ "นักรบ" ฝั่งตรงข้ามกับรัฐได้ไม่น้อยเลย
เรื่องราวของ พล.อ.สำเร็จ จะบอกว่าเป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างของความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยที่กระทบกับการพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ด้วยก็คงได้...
และมีโอกาสที่ทุกอย่างจะกลับไป "เริ่มต้นใหม่" อีกครั้ง โดยยังมองไม่เห็นปลายทางของความสำเร็จ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพมุมสูงการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และขับไล่ระบอบทักษิณ บนถนนราชดำเนิน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.2556
ขอบคุณ : ภาพจากศูนย์ภาพเนชั่น