ชาวบ้านวังสะพุง จับมือใช้สิทธิฟ้องศาลปค.เพิกถอนใบประทานบัตร บ.ทุ่งคำ
ตัวแทนชาวบ้านวังสะพุง 6 หมู่บ้านยื่นศาลปกครองฟ้องรมว.อุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หวังเพิกถอนใบประทานบัตร บ.ทุ่งคำ จำกัด ชี้ชาวบ้านได้รับความเสียหายทั้งคุณภาพชีวิต เกษตกรรม และสิ่งแวดล้อม
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย กว่า 100 คน เดินทางมายังศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบประทานบัตร และขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหกรรมและคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งชาวบ้านได้รับผลกระทบ ทั้งต่อคุณภาพชีวิต ความเสียหายต่อพืชผลเกษตรกรรม และคุณภาพทางสิ่งแวดล้อม โดยมีนายอลงกต ไผ่พูล ผู้อำนวยการกลุ่มรับฟ้องศาลปกครองกลาง ออกมารับคำฟ้อง
ร.ต.ต. สุรศิษฏ์ เหลืองอรัญนภา อนุคณะสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวถึงการเดินทางมาฟ้องในครั้งนี้ไม่ได้เดินทางมาเพื่อจะฟ้องคืน แต่ฟ้องเพื่อที่จะใช้สิทธิที่มีเรียกร้องกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบและเป็นขั้นตอน ทั้งนี้อาจจะมีการฟ้องทางแพ่งเพิ่มเติม สำหรับการฟ้องในเรื่องอาญาก็จะดูอีกครั้งว่า จำเป็นหรือไม่
ด้านน.ส.ประนอม นามวงศ์ ชาวบ้านนาหนองบุง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย กล่าวว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆเหมืองแร่ทองคำได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัททุ่งคำ น้ำฝนไม่สามารถที่จะรองและนำมาดื่มได้ น้ำประปาที่ชาวบ้านใช้อยู่ในปัจจุบันก็ไม่ผ่านมาตรฐาน แต่ก็จำเป็นที่จะต้องใช้ แม้แต่การปลูกผักก็ไม่สามารถที่จะนำน้ำในห้วยหนองคลองบึงบริเวณหมู่บ้านมาใช้รดน้ำผักที่ปลูกได้
“ชาวบ้านไม่สามารถปลูกอะไรได้เลย ทุกคนในหมู่บ้านจึงต้องซื้ออาหารที่อื่นมารับประทาน ซ้ำร้ายไปกว่านั้นในทุกๆคืน ก็แทบไม่ได้นอน เพราะเหมืองทำงานตลอด 24 ชั่วโมง มีเสียงดังรบกวน ซึ่งเรื่องนี้ชาวบ้านก็ไม่แน่ใจว่าทางบริษัทสามารถทำเหมืองได้ 24 ชั่วโมง และผิดกฎหมายหรือไม่” น.ส.ประนอม กล่าว และว่า หน่วยงานของรัฐในภูมิภาคไม่เคยให้คำปรึกษาใดๆกับชาวบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาได้ขอให้เพิกถอนการสัมปทานของเหมืองแร่ทองคำ เรียกร้องกันมานานหลายปีก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ชาวบ้านต้องทนทุกข์ เพราะย้ายหนีไม่ได้ เพราะนั่นคือบ้านของพวกเรา
น.ส.ประนอม กล่าวอีกว่า แม้วันนี้หรือพรุ่งนี้บริษัททุ่งคำจะปิดตัวลงไป หรือเลิกทำเหมือง แต่สิ่งที่ยังจะคงอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปีก็คือสารไซยาไนด์ที่ทิ้งไว้ที่ต้นน้ำ คนที่ได้ประโยชน์จากการทำลายธรรมชาติ คือ ภาครัฐและบริษัททุ่งคำ ในขณะเดียวกันชาวบ้านกลับกลายเป็นผู้ใส่ร้าย
ตัวแทนชาวบ้านนาหนองบุง กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เราออกมาเรียกร้องออกมาต่อสู้ไม่ใช่เรื่องโกหก ทุกคนต้องเจอโรคแปลกๆ ที่ไม่เคยเจอ ลำบากทั้งด้านจิตใจและชีวิต โปรดเห็นใจชาวบ้านด้วย ซึ่งการมาฟ้องศาลปกครองเพื่อที่จะให้ศาลช่วยเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน
ด้านนายวิชชากร อนุชน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตัวแทนกลุ่มดาวดิน กล่าวว่า กลุ่มดาวดินทนไม่ได้กับความอยุติธรรมที่ชาวบ้านได้รับ การละเลยของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการดูแลชาวบ้าน การไม่ให้ความเป็นธรรมในการแสดงความคิดเห็นในหลายๆ เวที ดังนั้นเมื่อชาวบ้านตกอยู่ในสถานะที่พึ่งพาเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐไม่ได้ เขาก็จำเป็นที่จะต้องออกมาเรียกร้องด้วยตัวเองตามสิทธิที่มี สิทธิของตัวเอง สิทธิชุมชนเพื่อรักษาผืนน้ำ ผืนป่า ท้องนาท้องไร่
“เมื่อก่อนชาวบ้านทำได้แค่ทำหนังสือไปยื่นต่อหน่วยงานราชการ ทำอยู่แบบนั้นหลายปี เพราะไม่รู้ว่าสิทธิของตัวเองทำอะไรได้บ้าง ไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิทางกฎหมาย เพราะหน่วยงานภาครัฐไม่เคยให้คำปรึกษาใดๆ ปัจจุบันนี้ชาวบ้านรู้ว่าตนเองมีสิทธิอะไรและกำลังใช้สิทธินั้นเรียกคืนความยุติธรรม”
นายวิชชากร กล่าวถึงการมาฟ้องที่ศาลปกครองแล้วศาลรับฟ้อง ก็นับเป็นความสำเร็จของชาวบ้าน บางครั้งความสำเร็จใหญ่ๆจะต้องถูกสะสม และในครั้งนี้ก็ถือเป็นการสะสมความสำเร็จ เพราะชาวบ้านทุกคนมาอย่างมีความหวัง พวกเขาหวังที่จะได้รับความเป็นธรรม และไม่ได้มาแบบฝันล้มๆแล้งๆ
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเสร็จสิ้นแล้ว ชาวบ้านได้เดินทางไปพบนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โดยชาวบ้านชี้แจงเพิ่มเติมในกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐห้ามไม่ให้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในเวทีการรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้ นพ.นิรันดร์ ไต่สวนผู้การเสือ หรือ พล.ต.ต.ศักดา วงศ์ศิริยานนท์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย ว่า ทำไมถึงไม่ให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้าไปฟัง ทำไมต้องสั่งเจ้าหน้าที่มารื้อกำแพงทั้งๆ ที่มีการทำหนังสือชี้แจงและขออนุญาตตามขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งพล.ต.ต.ศักดา ไม่เคยให้คำตอบและให้เหตุผลกับชาวบ้าน
นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะดำเนินการตรวจสอบ 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือกระบวนการทำ EHIA หรือผลกระทบทางด้านสุขภาพ ซึ่งผู้รับผิดชอบคือบริษัททุ่งคำว่า มีกระบวนการทำงานอย่างไร เนื่องจากการรับฟังเป็นการฟังเพื่อให้เกิดองค์ความรู้และไม่ควรทำให้ความรุนแรง
"จุดอ่อนของกระบวนการทำ EHIA คือกระบวนการที่ไม่ตรงไปตรงมา นักธุรกิจเป็นคนทำเอง ดังนั้นย่อมทำกระบวนการเพื่อตอบสนองต่อภาคธุรกิจ อีกเรื่องหนึ่งที่จะมีการตรวจสอบนักวิชาการ" นพ.นิรันดร์ กล่าว และยืนยันกับชาวบ้านว่า ใครเป็นทำลายคนนั้นจะต้องเป็นคนรับผิดชอบและจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยจะต้องมีคำตอบว่า กระบวนการรับฟังนั้นไม่ครบถ้วนอย่างไร
สำหรับแถลงการณ์กรณีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อดำรงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชน มีใจความดังนี้
“เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ราษฎรจากพื้นที่ 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำของ บริษัท ทุ่งคำ ผู้ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ อันประกอบด้วย หมู่บ้านห้วยผุก หมู่ 1 หมู่บ้านกกสะทอน หมู่ 2 หมู่บ้านนาหนองบง หมู่ 3 หมู่บ้านแก่งหิน หมู่ 4 หมู่บ้านโนนผาพุงพัฒนา หมู่ 12 หมู่บ้านภูทับฟ้าพัฒนา หมู่ 13 ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย รวม 1,066 ครอบครัว จำนวนประชากรทั้งสิ้น 3,737 คน โดยพบว่าบริษัททุ่งคำปล่อยปริมาณสารไซยาไนด์ในกากแร่ก่อนนำไปกักเก็บในบ่อกากแร่สูงกว่ามาตรฐานรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คุณภาพน้ำบริเวณโดยรอบเหมือง พบสารหนู แคดเมียม และแมงกานีสเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
มีประกาศจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลยประกาศเตือนให้ประชาชนระมัดระวังการอุปโภคบริโภคน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ตำบลเขาหลวง รวมทั้งสัตว์น้ำจากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน มีความจำเป็นที่จะต้องปกป้องสิทธิของชุมชนและสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นที่ตั้งของความสงบสุข ความเป็นครอบครัว และความเป็นชุมชน อีกทั้งเพื่อปกป้องและรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่จะต้องสูญเสียไป จึงได้ร่วมกันยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ดำเนินการตามเงื่อนไขประทานบัตรและใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ต้องทำเหมืองโดยไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ดำเนินการเพิกถอนประทานบัตรและใบอนุญาตโลหกรรมของบริษัท ทุ่งคำ”