ค้านแก้กม.คุ้มครองพันธุ์พืชล้อ ‘ยูปอพ 1991’ กระทบเกษตรกรรายย่อย
นักวิชาการชี้แก้กม.คุ้มครองพันธุ์พืชล้อ ‘ยูปอพ 1991’ เอื้อประโยชน์นักปรับปรุงพันธุกรรมสิทธิขาดเมล็ดพืช เชื่อเกษตรกรรายย่อยรับเคราะห์มากสุด ระบุหากไม่เร่งแผนนโยบายอาจกระทบมั่นคงอาหารชุมชน
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 มูลนิธิชีววิถี ร่วมกับสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดประชุมวิชาการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ‘นโยบายพืชจีเอ็มโอและการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญายูปอพ 1991:ผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย ความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหาร’ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
สืบเนื่องจากรัฐบาลไทยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อจัดทำความตกลงเปิดเสรีการค้ากับสหภาพยุโรป โดยจะมีการเจรจาครั้งที่ 3 ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม ต้นเดือนธันวาคม 2556 โดยคาดว่าจะมีการผลักดันให้ไทยเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญายูปอพ 1991 (The International Union for the Protection of New Varieties of Plants:UPOV1991) และจะส่งผลกดดันให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ของไทยต้องแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ซึ่งได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณะนิติศาสตร์ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า หากไทยมีการแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ให้สอดรับกับหลักการยูปอพ 1991 จะมีผลกระทบให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืช อีกทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมให้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากผลิตผลมีลิขสิทธิ์นั้น ยิ่งทำให้แม้มะม่วงที่จะนำไปทำแผ่นขายก็ต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์พันธุ์พืช สาเหตุดังกล่าวเกิดจากไทยพยายามแก้ไขกฎหมายเพื่อมุ่งขยายอำนาจของนักปรับปรุงพันธุ์พืชให้มากขึ้นนั่นเอง
ที่สำคัญ การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ยังระบุถึงการปรับแต่งพันธุกรรมพืช (Genetically Modified Organisms :GMOs)ไม่จำเป็นต้องผ่านการประเมินและบอกที่มา
ผศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบ เพราะหากพืชจีเอ็มโอมีผลร้ายขึ้นจนไม่สามารถคาดเดาได้ อาจจะเยียวยากลับมาเหมือนเดิมได้ยาก ดังนั้นการปรับแต่งพันธุกรรมควรใช้หลักป้องกันล่วงหน้าภายใต้กรอบกฎหมายจะดีกว่า
“การเปิดช่องให้มีการส่งเสริมพืชจีเอ็มโอ หากเกิดความเสียหายขึ้นจะส่งผลกระทบรุนแรง และผู้ที่จะได้รับผลกระทบแรก ๆ คือ เกษตรกรรายย่อย” นักวิชาการ กล่าว และว่า ปัจจุบันไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคียูปอพ 1991 แต่ได้มีความพยายามแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชให้มีเนื้อหาไปในทิศทางเดียวกันแล้ว ซึ่งความเห็นส่วนตัวมีผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการใช้เมล็ดพันธุ์
ด้านผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์พืชจีเอ็มโอในไทยว่า ผลการสำรวจปี 2555-56 พบพืชจีเอ็มโอ โดยเฉพาะมะละกอ กระจายตัวอยู่ในแอ่งชามข้ามของกรุงเทพฯ ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม และกาญจนบุรีมีมะละกอสายพันธุ์ฮาวายเสี่ยงเป็นพืชจีเอ็มโอสูงด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบการผลิต เนื่องจากมีผลต่อธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของไทยที่มีมูลค่าสูงสุดราว 2 พันล้านบาท ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารกระป๋องมีสูงถึง 8.5 พันล้านบาท ฉะนั้นการเสี่ยงปล่อยให้มีพืชจีเอ็มโอหลุดรอดออกไปในตลาดอาจส่งผลกระทบทั้งระบบได้ ซึ่งไม่คุ้มค่า
ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่ากังวลสถานภาพพืชอินทรีย์ของไทยกำลังจะหายไป ดังนั้นเพื่อป้องกันพืชจีเอ็มโอควรมีการวางแผนระบบการป้องกันทางวิทยาศาสตร์ แต่ติดปัญหาเรื่องบุคลากรไม่เพียงพอ นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังขาดการระดมข้อคิดเห็นจากภาคชุมชน ประกอบกับบางหน่วยงานไม่เข้าใจบทบาทของตนเอง
“หลายสิบปีที่ผ่านมาไทยยังคงสะดุดขาตนเองเรื่องจีเอ็มโออยู่ เรายังไม่สามารถนำบทเรียนเหล่านี้มาผนึกความคิดวางแผนเชิงนโยบาย สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นทำอย่างไรให้เกิดความโปร่งใสและยอมรับเพื่อไม่กระทบความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคม” ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ กล่าว
ขณะที่นายบุญส่ง มาตรขาว เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ยโสธร กล่าวไม่เห็นด้วยกับระบบการผลิตพืชแบบจีเอ็มโอมาใช้ในไทย เพราะจะทำให้แหล่งอาหารดั้งเดิมตามธรรมชาติหายไป และอาจจะส่งผลต่อสุขภาพได้ด้วย ฉะนั้นจึงไม่ยอมให้ชุมชนต้องสูญเสียของดี ๆ ไป อย่างไรก็ตาม ชุมชนได้มีบทเรียนมากพอแล้ว จึงมุ่งมั่นจะพัฒนาสร้างเสริมคุณค่าทางโภชนาการต่อไป .
ที่มาภาพ:http://biothai.net