แฉ! นักวิชาการล็อบบี้ชาวบ้านหนุนสร้างเขื่อนแม่แจ่ม
เอ็นจีโอแฉ! มีนักวิชาการล็อบบี้ผู้นำชุมชน ทั้ง “กำนัน-ผญบ.-เทศกาล” ก่อนจัดเวทีรับฟังความเห็น ให้สนับสนุนโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่แจ่ม
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 นายสมเกียรติ มีธรรม ผู้อำนวยการสถาบันอ้อผะหญา ได้เขียนบทความชื่อ “ลอกคราบนักวิชาการรับจ้าง เวทีรับฟังฯ 3.5 แสนล้าน” มีใจความว่า เวทีรับฟังความเห็นโครงการบริหารจัดการน้ำ ที่ใช้งบจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จัดขึ้นตามคำสั่งของสาลปกครองกลาง 108 เวที ได้ชี้ให้เห็นถึงความตกต่ำทางจริยธรรมของนักวิชาการที่ร่วมขบวนการรับฟังความเห็น ทั้งในช่วงระหว่างการรับฟังความเห็น ที่ไม่เพียงลดเวลาจากเดิมคนละ 5 นาที เหลือเพียง 3 นาที ยังมักขัดขวางไม่ให้ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการได้พูด ต่างกับผู้สนับสนุนโครงการที่มักดึงเวลาให้ได้พูดนานขึ้น
นายสมเกียรติระบุว่า ล่าสุดในเวทีรับฟังความเห็นประชาชนโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่แจ่ม ที่ จ.เชียงใหม่ นักวิชาการกลุ่มนี้ก็มีการปรับยุทธวิธีใหม่ ด้วยการจัดทริปให้ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และผู้บริหารเทศาลในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม ไปดูนิทรรศการน้ำเพื่อชีวิตเป็นกรณีพิเศษ พร้อมจัดที่พักและอาหารต้อนรับอย่างดีไว้ที่โรงเรียมเชียงใหม่ภูคำโดยระหว่างนั้น นายวิชาการกลุ่มนี้จะพูดชี้นำว่า ถ้าต้องการงบก้อนนี้มีวิธีการเดียวคือต้องเอาเขื่อนแม่แจ่มเท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้น ในการเวทีรับฟังความเห็นซึ่งจัดขั้นในวันที่ 30 ตุลาคม 2556 ยังมีการกำหนดผู้พูดไว้ 9 คน ซึ่งปรากฏว่า ไม่มีใครเป็นชาวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแม้แต่เดียว มีเพียงผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และผู้บริหารเทศาลในพื้นที่ทั้งที่ได้รับผลกระทบและไม่ได้รับผลกระทบปะปนกันไป
นายสมเกียรติยังระบุว่าในเวลาต่อมา นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ยังออกหนังสือถึงอำเภอแม่แจ่ม ขอให้ประสานงานไปยังพื้นที่ที่ได้รับโครงการผลกระทบเขื่อนแม่แจ่ม ให้จัดเวทีรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่ทันที ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2556 แต่ก่อนลงพื้นเพียงวันเดียว เมื่อทราบว่าชาวบ้านได้เตรียมเข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นเวทีดังกล่าวเป็นอย่างดี ก็ปรากฏว่านักวิชาการรายดังกล่าวได้ทำหนังสือถึงอำเภอแม่แจ่ม ขอเลื่อนการจัดเวทีรับฟังความเห็นเวทีดังกล่าวออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยอ้างว่าอยู่ระหว่างการขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“ในฐานะนักวิชาการผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดการองค์ความรู้สู่สังคม ก็ควรที่จะมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมสูงกว่าประชาชนทั่วไป ไม่ใช่ใช้ตำแหน่งทางวิชาการแสวงหาประโยชน์ใส่ตนจนลืมความทุกข์ยากของชาวบ้านไปอย่างไร้หิริโอตัปปะ” นายสมเกียรติระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถาบันอ้อผะหญา เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ภาคเอกชน ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนตั้งเมื่อปี 2551 มีสถานที่ตั้งอยู่ที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
- ภาพประกอบจากเว็บไซต์ transbordernews.in.th/home/?p=2788