เปิด 15 ปัญหานักการเมืองไทย -โรคขาดภูมิคุ้มกันทางจริยธรรม
วิชา ย้ำจริยธรรมนักกฎหมายต้องอิสระเหนือค่าเงิน แนะตั้งองค์กรกลางนักกฎหมาย สร้างมาตรฐานเดียว นักวิจัยเผยโพลสำรวจนักการเมือง รับส่วนเสีย-ครอบครัว-ผู้อุปถัมภ์มีผลในการตัดสินใจทางการเมือง
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึง "จริยธรรมในวิชาชีพนักกฎหมาย" ในงานประชุมวิชาการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ประจำปี 2556 ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี ตอนหนึ่งว่า จริยธรรมของนักวิชาชีพกฎหมาย ต้องยึดหลักคุณธรรม ทำหน้าที่เพื่อความสงบสุขในสังคม ไม่มีอคติ มีเหตุผล และยอมรับเหตุผลของบุคคลอื่นด้วย
"นักวิชาชีพกฎหมายต้องมีศีลธรรม ยึดความถูกต้อง ความมั่นคงแห่งรัฐเป็นหลักในการทำงาน และต้องมีเกียรติยศศักดิ์ศรี ไม่ถูกสั่งได้ง่ายๆ ซึ่งหมายถึงความมีอิสระเหนือ 'ค่าเงิน' ไม่อย่างนั้นจะเป็นการทำลายระบบวิชาชีพอย่างมาก ทั้งนี้สำหรับประเทศไทยมีการดูแลเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์ค่อนข้างน้อย"
แนะตั้งองค์กรกลางนักกฎหมาย สร้างมาตรฐานเดียว
ศ.พิเศษ วิชา กล่าวถึงโครงสร้างองค์กรวิชาชีพว่า ต่างประเทศใช้ระบบที่ให้ผู้พิพากษา ตุลาการ ควบคุมดูแล บางประเทศมีองค์กรวิชาชีพนั้นๆ ดูแลโดยตรง แต่สำหรับประเทศไทยว่า การให้แต่ละองค์กรเป็นผู้ดูแลนั้น ยังไม่ถือเป็นกลไกที่ชัดเจนเพียงพอ ดังนั้น ขอเสนอว่า ควรมีประมวลวิชาชีพกฎหมายที่เป็นกลาง ซึ่งน่าจะต้องร่างขึ้นใหม่ที่ทุกฝ่ายยอมรับ ให้เป็นองค์กรกลางของผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย ไม่ใช่แยกเป็นส่วนๆ
"อย่างกรณีประเทศญี่ปุ่น มีศาลทำหน้าที่ดูแลผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายทั้งหมด ประพฤติปฏิบัติเหมือนกันหมด มีมาตรฐานเดียวกัน ด้านการส่งเสริมวิชาชีพจะปลูกฝัง ปลูกจิตสำนึกอย่างต่อเนื่อง ไม่อย่างนั้นจะไม่ยึดถือจริยธรรมวิชาชีพ เช่น กรณีเปลี่ยนจากทนายความมาเป็นนักการเมือง จะหลุดออกจากวิชาชีพเดิม ยึดว่ามาจากเสียงข้างมาก ไม่ต้องฟังเสียงใคร และอย่างในประเทศภูฏาน ก็กำหนดไว้ว่า เมื่ออยู่ใน 2 สถานะ เป็นนักการเมืองก็ต้องอยู่ภายใต้วิชาชีพทางกฎหมาย เช่น จากวิศวกรมาเป็นนักการเมืองก็ต้องอยู่ภายใต้วิชาชีพวิศวกร ซึ่งเป็นหลักคิดที่ถูกต้องที่สุด"
ขณะที่ดร.วริยา ชินวรรโณ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวถึง "จริยธรรมนักการเมือง" ว่า ในฐานะผู้ใช้อำนาจทางการเมืองแทนประชาชนทุกคน อาชีพการเมืองต้องมีความรับผิดชอบ ต้องระลึกถึงจริยธรรม 2 ประเด็น ได้แก่ 1.จริยธรรมที่ว่าด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาที่มีหลักการ ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม 2.จริยธรรมว่าด้วยความรับผิดชอบ ทั้งต่อสังคมและประเทศชาติ ทำในสิ่งที่มีหลักการ ไม่ตามอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว
ทั้งนี้ นักการเมืองแบ่งเป็น 2 ประเภท 1.ผู้ที่ดำรงชีวิตด้วยการเมือง มุ่งทำประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน 2.ผู้ที่ดำรงชีวิตจากการเมือง เป็นกลุ่มที่ต้องการผลประโยชน์ เข้าสู่การเมืองเพื่อหวังถอนทุนคืน เป็นกลุ่มที่เรียกว่าเป็น 'โรคขาดภูมิคุ้มกันทางจริยธรรม' ไม่สามารถแยกแยะถูกผิดดีชั่วได้
เผยส่วนได้ส่วนเสีย-ผู้อุปถัมภ์มีผลในการตัดสินใจทางการเมือง
ดร.วริยา กล่าวต่อว่า ผลจากการวิจัยและตั้งคำถามทั้งปลายเปิดและแบบกลุ่มย่อยพบว่า กว่า 48.99% นักการเมืองเห็นว่านักการเมืองส่วนใหญ่ยังยึดมั่นในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และรู้จักนักการเมืองที่ยึดมั่นในจริยธรรมถึง 31.82% เห็นว่านักการเมืองที่รู้จักเป็นผู้ซื่อสัตย์สุจริต 34.34%
ส่วนคำถามที่ว่า ส่วนได้ส่วนเสียและครอบครัวมีอิทธิพลมากต่อการตัดสินใจหรือไม่ มีผู้เห็นด้วยว่ามีอิทธิพลถึง 35.35% และเมื่อถามต่อว่าผู้ให้การอุปถัมภ์ทางการเงินมีส่วนหรือไม่ในการตัดสินใจดำเนินการทางการเมือง ปรากฏว่ามีผู้เห็นด้วยถึง 33.84% และไม่เห็นด้วย 51.01% ซึ่งทั้ง 2 ข้อหลังค่อนข้างน่ากังวลสำหรับการเมืองไทย
ดร.วริยา กล่าวถึงปัญหาของนักการเมืองไทยในปัจจุบันที่ศึกษาพบว่ามีหลายประการ ได้แก่
1.การทุจริตเลือกตั้ง
2.ฉ้อราษฎร์บังหลวงช่วยเหลือพวกพ้องให้ได้ตำแหน่ง
3.แทรกแซงอำนาจหน้าที่ของข้าราชประจำ
4.ใช้ทรัพย์สินงบประมาณราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
5.บังคับให้ข้าราชการผู้น้อยทำผิดแทนตน
6.ปรับหรือออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์นักการเมือง ดังที่เห็นในปัจจุบัน
7.เอาใจออกห่างจากการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
8.ยกเว้นการเอาผิดทางจริยธรรมกับนักการเมืองบางกลุ่ม
9.แกล้ง หรือใส่ร่ายป้ายสีนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม
10.มีผลประโยชน์ทับซ้อน
11.ไม่โปร่งใส
12.ใช้เงินซื้อเสียง
13.แสวงหาผลประโยชน์จากการบริหารงานอภิมหาโปรเจคต่างๆ
14.ดึงงบประมาณไปยังจังหวัดของตน
15.ประชานิยม ซึ่งปรากฏชัดเจนนับตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งนโยบายเหล่านี้จะไม่มีปัญหา หากช่วยให้ประชาชนเลี้ยงตัวเองได้ในระยะยาว แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการให้เงินประชาชนเปล่าๆ ทำให้เกิดหนี้สินและไม่สามารถตั้งตัวได้
สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดร.วริยา บอกว่าจากการสัมภาษณ์เกือบทุกคน เห็นว่าต้องปฏิรูประบบการศึกษา ปรับค่านิยมยกย่องคนมีความรู้ความสามารถมากกว่าคนร่ำรวย กำหนดบทลงโทษเพิ่มเติมสำหรับจริยธรรมวิชาชีพ จัดตั้งหน่วยงายเฉพาะดูแลจริยธรรมนักการเมือง ให้ความรู้และกระตุ้นจิตสำนึกประชาชนให้สอดส่องดูแลจริยธรรม Social Sanction หรือคว่ำบาตรนักการเมืองที่ประพฤติผิดทางจริยธรรม ที่สำคัญสังคมไทยควรเปลี่ยนแปลงระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึก ใช้วัฒนธรรมสร้างชาติไม่โกงกิน ทั้งนี้ สื่อควรแสดงบทบาทเปิดโอกาสให้สังคมรับรู้พฤติกรรมนักการเมือง และควรให้นักการเมืองที่จะลงสมัครเลือกตั้งต้องผ่านการอบรมจริยธรรมก่อน