"วิชา" เผยเปิดโอกาส 310 "ส.ส.-ส.ว." สู้คดีแก้ รธน.เต็มที่
“วิชา” เผยเปิดโอกาส 310 ส.ส.-ส.ว.ชี้แจงคดีแก้รัฐธรรมนูญเต็มที่ ยึดคำวินิจฉัยศาลรธน.เป็นฐานไต่สวนเหมือนคดีพระวิหาร กางกฎหมายใครถูก ป.ป.ช.ชี้มูลต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะผู้รับผิดชอบสำนวนคดี ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 310 คน ถูกยื่นถอดถอนและดำเนินคดีอาญา จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ (ศาล รธน.) วินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการไต่สวนคดีดังกล่าว ว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมเพื่อวางกรอบการทำงาน เพราะแม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ ป.ป.ช.ไต่สวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว แต่เราคงจะทำแบบฉุกละหุกไม่ได้ จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกเกี่ยวข้องได้ชี้แจงตามกระบวนการอย่างเต็มที่ ส่วนบุคคลดังกล่าวจะใช้สิทธิหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจแต่ละคน เพราะ ป.ป.ช.เปิดโอกาสแล้ว หากไม่ชี้แจงก็เสียสิทธิเอง เพราะก็คงไปบีบคอให้ใครมาชี้แจงไมได้ ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมารวบรวมพยานหลักฐาน โดยใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญที่สุด ซึ่งไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.เท่านั้น และมอบหมายให้ เลขาธิการ ป.ป.ช.เป็นหัวหน้าคณะทำงานดังกล่าว
นายวิชายังกล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้คำวินิจฉัยของศาล รธน.ผูกพันทุกองค์กร แต่เนื่องจากคำวินิจฉัยมีเพียงข้อกฎหมายยังไม่ใช่ข้อเท็จจริง ดังนั้น ป.ป.ช.จะประสานกำลังสำนักงานศาล รธน.เพื่อขอเอกสารประกอบการพิจารณาคดีดังกล่าวมาประกอบสำนวนการไต่สวนด้วย
“ตามปกติ สำนวนการถอดถอนจะทำเสร็จก่อนสำนวนการดำเนินคดีอาญา แม้จะรู้ว่าเมื่อส่งไปที่วุฒิสภาแล้วยากที่จะถอดถอนสำเร็จ แต่ ป.ป.ช.ยืนยันว่าจะทำคดีอย่างเต็มที่ โดยจะยืดคำวินิจฉัยของศาล รธน.เป็นพื้นฐานในการทำคดี เนื่องจากรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่ามีผลผูกพันทุกองค์กร เช่นเดียวกับที่ ป.ป.ช.เคยทำคดีเขาพระวิหาร โดยยึดคำวินิจฉัยของศาล รธน.เป็นพื้นฐานในการทำคดี” นายวิชากล่าว
เมื่อถามว่าหาก ป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิดจริง ส.ส.และ ส.ว.ทั้ง 310 คน จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า ให้ลองไปอ่านรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสี่ ดูว่าเขียนไว้อย่างไร
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสี่ มีเนื้อหา ระบุว่า ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล นับแต่วันดังกล่าวผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ และให้ประธาน ป.ป.ช.ส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามมาตรา 273 และอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป แต่ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่าข้อกล่าวหาใดมีมูล ให้ข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป”
ภาพประกอบ - จากเว็บไซต์ www.prachatai.com