“สมคิด” แนะ รบ.ขอถอนร่างแก้ รธน.กลับ
“สมคิด” ติง พท.ไม่รับอำนาจศาล รธน.อาจสร้างกลียุคระบบ กม.ชี้ ไม่เห็นด้วยคำวินิจฉัยมีวิธีตรวจสอบหลายทาง แนะรัฐบาลถอนร่างแก้ไข รธน.กลับเอง-พท.ยื่นกองปราบฟันตุลาการผิด ม.112
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 ที่เมืองทองธานี นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะอดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ประกาศไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ (ศาล รธน.) ที่วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.ขัดกับรัฐธรรมนูญ ว่า รัฐธรรมนูญระบุว่าคำวินิจฉัยของศาล รธน.ผูกพันทุกองค์กร ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ก็ล้อมาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ผลทางกฎหมายคือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว. เป็นอันตกไปแล้ว เมื่อมีการทูลเกล้าฯ ไปแล้ว ตามหลักการก็ต้องทำเรื่องขอถอนร่างกลับคืนมาส่วนที่ พท.ประกาศไม่รับอำนาจศาล รธน. ก็เป็นจุดยืนเฉพาะของ พท. ยังไม่ใช่ของรัฐสภาทั้งหมด
“ผมยังเชื่อว่าแม้ พท.จะพูดว่าปฏิเสธอำนาจศาล รธน. แต่คงจะไม่ได้ทำเช่นนั้นจริง เพราะหากมีการปฏิเสธศาล รธน. ต่อไปก็อาจจะมีการปฏิเสธศาลอาญา จะทำให้เกิดกลียุคระบบกฎหมาย เพราะต่อไปก็อาจมีคนประกาศไม่รับอำนาจรัฐบาล รัฐสภา เจ้าหน้าที่รัฐบ้าง โดยอ้างว่าคำวินิจฉัยผิดพลาด ไม่เป็นธรรม หรือบกพร่อง ซึ่งไม่เพียงจะทำให้ระบบกฎหมายล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ยังทำให้คณะนิติศาสตร์สอนวิชากฎหมายแก่นิสิตนักศึกษาได้ลำบาก” นายสมคิดกล่าว
นายสมคิดกล่าวว่า การไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาล รธน.เป็นความเห็นทางกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญก็เปิดโอกาสให้ตรวจสอบศาล รธน.ได้หลายวิธีการ เช่น ยื่นคำร้องถอดถอนหรือฟ้องต่อศาลอาญา
“คำวินิจฉัยของศาลไม่ใช่จะถูกต้องทุกครั้ง เคยมีหลายกรณีที่ศาลกลับคำวินิจฉัย เช่น คดีที่ศาลอาญาเคยตัดสินว่าการลักใช้กระแสไฟฟ้าเป็นการลักทรัพย์ ที่เวลานั้นมีนักกฎหมายทักท้วงว่าน่าจะเป็นการตัดสินที่ผิดพลาด แต่ศาลอาญาก็ให้เหตุผลว่าหากไม่ตัดสินเช่นนี้อาจมีการลักใช้กระแสไฟฟ้าทั่วประเทศ แสดงให้เห็นว่ามีการนำปัจจัยอื่นนอกจากบทบัญญัติในกฎหมายมาตัดสินคดีเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งน่าจะเป็นกรณีเดียวกับที่ศาล รธน.ใช้ตัดสินในคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้” นายสมคิดกล่าว
นายสมคิด กล่าวว่า ศาล รธน.ก็เคยมีกรณีที่วินิจฉัยผิดพลาด โดยมีกฎหมายฉบับหนึ่งที่ระบุว่า ห้ามคนพิการเป็นตุลาการหรืออัยการ แต่ภายหลังศาล รธน.ก็กลับคำวินิจฉัย เพราะศาล รธน.เองก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้กฎหมาย คนจะเห็นด้วยหรือไม่เป็นอีกเรื่อง แต่ไม่อยากให้ไม่ยอมรับ ไม่เช่นนั้นระบบกฎหมายจะซวนเซ
“เมื่อพูดถึงข้อสงสัยเรื่องอำนาจศาล ผมก็จะขออ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 1/2489 ที่ระบุว่าการออกกฎหมายเรื่องอาชญากรสงครามเพื่อเอาผิดกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่เวลานั้นยังไม่มีกฎหมายข้อใดให้อำนาจศาลฎีกาวินิจฉัยเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย แต่ศาลฎีกาก็ตัดสินโดยอ้างข้อกฎหมายที่ให้อำนาจศาลในการวินิจฉัยคดี และเป็นเหตุให้มีการมีการจัดตั้งศาล รธน.ขึ้นมาหลังจากนั้น” นายสมคิดกล่าว
อธิการบดี มธ.ยังระบุว่า คำวินิจฉัยของศาล รธน.ในคดีดังกล่าว เน้นไปที่กระบวนการตรากฎหมายที่มิชอบ ทั้งการกดบัตรแทนกัน การปลอมแปลงเอกสาร มีแตะเนื้อหาเพียงเล็กน้อย แค่ระบุว่า ส.ว.ไม่ควรมีที่มาเช่นเดียวกับ ส.ส. ซึ่งส่วนตัวมองว่าถ้า พท.จะยื่นเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.อีก ก็สามารถทำได้
เมื่อถามถึงกรณีที่ พท.บางคนเตรียมไปแจ้งความเอาผิดศาล รธน.ในความผิดฐานหมิ่นพระประมาทสถาบันกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 112 เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างทูลเกล้าฯแล้ว นายสมคิด กล่าวว่า เป็นสิทธิที่สามารถแจ้งความได้ แต่ตนไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ต้องไปอ่าน ป.อาญา มาตรา 112 ระบุเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งตนคิดว่ากรณีนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง
วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ สมาชิก พท. ในฐานะที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในช่วงบ่ายของวันนี้ ตนจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อกองปราบปรามเพื่อขอให้เอาผิดตุลาการศาล รธน. ทั้ง 9 คน ที่รับคำร้องคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.ไว้วินิจฉัย ทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรีได้นำขี้นเกล้าฯ แล้ว ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 112
ภาพประกอบ - สมคิด เลิศไพฑูรย์ จากเว็บไซต์ www.bangkokbiznews.com